วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

R9 เส้นทางขนส่งผลไม้ไทยสู่ตลาดจีน


R9 เส้นทางขนส่งผลไม้ไทยสู่ตลาดจีน
ราคาผลไม้วันนี้ - มังคุด  60 บาท/กก. ทุเรียน 90 บาท/กก.  ลำไย 140 บาท/กก. ท่านไม่ได้ตาฝาดไปหรอกครับ ราคาข้างต้นเป็นราคาขาย ณ วันนี้จริงๆ เพียงแต่เป็นราคาที่ขายกันอยู่ในตลาดของกว่างซี (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) มณฑลทางตอนใต้ของจีน ไม่ใช่ราคาขายในประเทศไทย


       หลายท่านคงทราบว่า จีนเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ปีๆ หนึ่ง ไทยส่งผลไม้ไปจีนแผ่นดินใหญ่มากถึง 1 ใน 3 ของปริมาณผลไม้ที่ไทยส่งไปขายทั่วโลก คิดเป็นเม็ดเงินก็เป็นหลักหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว โดยมีมณฑลกวางตุ้ง (ภาคใต้) และนครเซี่ยงไฮ้ (ภาคตะวันออก) เป็นท่าเรือและตลาดหลักที่ใช้นำเข้าและขายส่งผลไม้ไทยเพื่อกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ อันกว้างใหญ่ของจีน
แต่ในระยะหลังๆ หลายท่านอาจเคยได้ยินผ่านๆ ว่า ปัจจุบัน นอกจากการขนส่งทางเรือไปยังกวางตุ้งและเซี่ยงไฮ้แล้ว ถนน “R9” ที่เชื่อมระหว่างภาคอีสานของไทยไปยังมณฑลกว่างซีของจีน โดยผ่านลาวและเวียดนาม ได้กลายมาเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่พ่อค้าไทยใช้ส่งผลไม้ไปจีน
จากสถิติของทางการจีน เมื่อปี 2553 ผลไม้ที่ไทยส่งไปยังจีนผ่าน R9 มีน้ำหนักรวม 2.43 ล้าน กก.  มูลค่าประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (90 ล้านบาท)  ตัวเลขดังกล่าว อาจฟังดูเยอะ แต่ในความเป็นจริง สถิติดังกล่าว เป็นเพียงประมาณ 1 เปอร์เซนต์ของมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนทั้งหมด

สถิติยังชี้ให้เห็นว่า การขนส่งผลไม้ไทยผ่าน R9 มีการเติบโตที่ไม่ต่อเนื่อง พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ยังลุ่มๆ ดอนๆ ซึ่งขัดกับสิ่งที่ควรจะเป็น
ในบทความนี้ เราจะพาท่านไปรู้จักกับข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนทาง R9 ไม่ว่าจะเป็นโอกาสและความท้าทาย สถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และทิศทางในอนาคต โดยขอเริ่มจากข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ R9 ครับ
มารู้จักกับ R9
R9 ในความหมายที่ใช้ในการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีน หมายถึง เส้นทางถนนที่ออกจากไทยที่มุกดาหาร ผ่านสะหวันนะเขตของลาว ด่านสะหวัน/ลาวบ๋าว ฮาดิน ถั่นหวา และฮานอยของเวียดนาม ไปเข้าจีนทางด่านโหยวอี้กวาน เมืองผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง
ระยะทางดังกล่าวมีความยาว 1,500 กว่ากม. ทั้งนี้ นอกจาก R9 แล้ว อันที่จริง ถนนที่เชื่อมไทยกับจีนยังมีอีกหลายเส้น อาทิ R8 (หนองคาย ด่านปากซัน แยกน้ำทอน ด่านน้ำพาว ด่านเกาแจว วินห์ ฮานอย ด่านโหยวอี้กวาน) และ R12 (นครพนม- คำม่วน ด่านนาพาว ด่านจาลอ วินห์ ฮานอย ด่านโหยวอี้กวาน) โดยกรณีของ R12 ในปลายปี 54 น่าจะมีผู้นิยมใช้มากขึ้น เพราะนอกจากจะมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่เปิดให้บริการซึ่งจะทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้นแล้ว R12 ยังถือเป็นถนนที่เชื่อมไทยกับจีนที่มีระยะทางสั้นที่สุดอีกด้วย (ประมาณ 1,029 กม.)
อย่างไรก็ดี สำหรับสินค้าผลไม้ ปัจจุบัน R9 เป็นเส้นทางจากภาคอีสานไทยเพียงเส้นทางเดียวที่ระบุไว้ในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและจีน (ลงนามเมื่อกลางปี 2552) ซึ่งเป็นเอกสารทางกฎหมายที่ช่วยให้การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนเป็นไปอย่างมีมาตรฐานและสะดวกมากยิ่งขึ้น อันเป็นผลให้ R9 ได้รับความนิยมในการขนส่งผลไม้ไปจีนมากกว่าเส้นทางอื่นๆ
R9 เริ่มเป็นที่รู้จักและถูกใช้ประโยชน์ในการขนส่งผลไม้มาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะภายหลังจากที่ไทยและจีนเริ่มลดภาษีนำเข้าผักและผลไม้ให้กันและกันเหลือ 0 เปอร์เซนต์ (ตามพิกัดอัตราศุลกากร ตอนที่ 07-08 ภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน) ตั้งแต่ปลายปี 2546 เป็นต้นมา
นอกจากด้านการขนส่งแล้ว ปัจจุบัน R9 เริ่มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าในการเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ทางตอนใต้ของจีน (รวมถึงเมืองกุ้ยหลิน สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก) และได้ท่องเที่ยวในลาวหรือเวียดนามด้วยในการเดินทางครั้งเดียว
แม้ว่าการขนส่งผลไม้ทาง R9 มีต้นทุนที่สูงกว่าการขนส่งผลไม้ทางเรือไปยังมณฑลกวางตุ้งหรือนครเซี่ยงไฮ้อยู่มาก เท่าที่ได้รับการบอกเล่า R9 มีต้นทุนการขนส่งผลไม้ต่อตู้คอนเทนเนอร์ 40 ฟุต ประมาณ 90,000 – 100,000 บาท (ออกจากหนองคาย) ขณะที่การขนส่งทางเรือฯ มีต้นทุนระหว่าง  1,500 – 1,700 ดอลลาร์ สรอ. (จากท่าเรือถึงท่าเรือ) แต่ผู้ประกอบการหลายราย ก็เลือกใช้ R9 เพราะมีความได้เปรียบเรื่องระยะเวลาการขนส่ง กล่าวคือ ใช้เวลาเพียง 2-3 วัน จากไทย ขณะที่การขนส่งทางเรือใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ซึ่งสำหรับผลไม้ซึ่งต้องการความใหม่และสดแล้ว การร่นระยะเวลาขนส่งได้ถึง 4-5 วัน ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญมาก
การนำเข้าผลไม้ ณ ด่านโหยวอี้กวาน (ประเทศจีน)
ผลไม้ไทยที่ถูกส่งผ่านถนน R9 จะไปเข้าจีนที่โหยวอี้กวาน ซึ่งเป็นด่านพรมแดนสากลของจีน (เขตฯ กว่างซีจ้วง) ที่เชื่อมกับด่านหูหงี่ (Huu Nghi) จังหวัดหลั่งเซินฝั่งเวียดนาม
จากสถิติ ปี 2550 ผลไม้ที่ไทยที่จีนนำเข้าทางด่านโหยวอี้ มีมูลค่าประมาณ 3.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (น้ำหนักรวม 5.7 ล้าน กก.) ปี 2551 มูลค่าลดลงเหลือ 2.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (น้ำหนักรวม 3.2 ล้าน กก.) ปี 2552 มูลค่ากลับลดลงไปอีกเหลือเพียง 1.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (น้ำหนักรวม 1.39 ล้าน กก.) ขณะที่ปี 2553 มูลค่าตีกลับขึ้นมาได้เป็น 3.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (น้ำหนักรวม 2.43 ล้าน กก.)
ผลไม้ไทยที่มาเข้าทางด่านนี้ โดยมากจะเป็นมังคุด ลำไย ทุเรียน กล้วย และส้มโอ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในอดีต จีนเคยนำเข้าผลไม้บางชนิดทางด่านนี้มากเป็นพันๆ ตัน อาทิ ส้มและมะม่วง แต่ในระยะหลังๆ กลับไม่พบสถิติการนำเข้าผลไม้เหล่านี้ทางด่านโหยวอี้เลย
ปัญหาและอุปสรรค
สถิติที่ได้กล่าวถึงข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า การใช้ R9 ขนส่งผลไม้จากไทยไปจีน ยังคงเป็นไปในแบบ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายซึ่งนอกจากจะไม่สอดคล้องกับยอดส่งออกผลไม้ไทยไปจีนในภาพรวมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังขัดกับความคาดหวังของทั้งรัฐบาลไทยและจีนที่ได้ร่วมกันออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้เส้นทางดังกล่าวเพื่อการขนส่งผลไม้ระหว่างกัน รวมถึงการลงนามในพิธีสารเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การขนส่งผลไม้ตามเส้นทาง R9 เมื่อเดือน มิ.ย. 2552 ด้วย
สภาพการณ์ดังกล่าวได้นำมาสู่คำถามว่า ทั้งๆ ที่มีศักยภาพมาก แต่เหตุใด R9 จึงไม่สามารถกลายเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีน หรืออย่างน้อยที่สุด   เหตุใด R9 จึงไม่สามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็นได
สมมติฐานในเบื้องต้นที่ถูกใช้เพื่อตอบคำถามข้างต้น คือ R9 ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย หรือถึงแม้จะมีผู้รู้จักแล้ว แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมของผู้ประกอบการ เข้าทำนองว่า รู้จักแล้ว ลองแล้วด้วย แต่ไม่ติดใจ
หาก R9 ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จึงไม่ถูกใช้ประโยชน์เท่าที่ควร เป็นสิ่งที่เวลาและการบอกต่อๆ กันไป น่าจะช่วยแก้ไขได้ ประมาณว่า ใช้ดีจึงบอกเพื่อน
แต่หากเป็นเพราะผู้ที่เคยใช้งาน R9 เพื่อส่งผลไม้แล้ว ไม่ประทับใจ ก็ควรต้องมาวิเคราะห์กันโดยละเอียดว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น มิฉะนั้นแล้ว R9 ก็จะเลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะไม่มีการบอกต่อๆ กันไปถึงประโยชน์ของ R9 ในการขนส่งผลไม้ จากการศึกษาข้อมูลต่างๆ และสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกผลไม้ทาง R9 สามารถวิเคราะห์ได้คร่าวๆ ว่า การที่ R9 (ยัง) ไม่ติดตลาด มาจากหลายสาเหตุรวมๆ กัน สรุปได้ ดังนี้
หนึ่ง R9 มีต้นทุนการขนส่งที่มากโขอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการขนส่งผลไม้ทางเรือไปขึ้นฝั่งจีนที่มณฑลกวางตุ้งและนครเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่งที่ไม่เท่ากันในแต่ละครั้งด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งให้ข้อคิดเห็นว่า แม้จะแพงกว่า แต่หาก R9 มีต้นทุนการขนส่งที่แน่นอน พวกเขาก็จะสามารถคำนวณต้นทุนสินค้าและราคาขายได้ เพื่อให้มีกำไรคุ้มค่ากับการลงทุน
สอง ความไม่สะดวกของระบบการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพถนนและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ตามทาง โดยเฉพาะในส่วนที่วิ่งผ่านลาวและเวียดนาม และการต้องขนย้ายผลไม้หลายครั้ง (เพราะต้องเปลี่ยนรถขนส่งเมื่อข้ามจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง) ซึ่งล้วนส่งผลต่อความสดใหม่ของผลไม้
สาม การประเมินราคากลางเพื่อเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ณ ด่านโหยวอี้กวาน (ร้อยละ 13) หลายท่านอาจทราบแล้วว่า แม้ไทยกับจีนจะใช้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน เพื่อยกเว้นการภาษีนำเข้าระหว่างกัน แต่ตามระบบของจีน จีนจะเรียกเก็บ VAT จากสินค้าที่จีนนำเข้าจากประเทศต่างๆ ณ ด่านที่นำเข้าเลย (ซึ่งอัตรา VAT ของจีนสูงกว่าไทย)
...ในประเด็นนี้ ผู้ประกอบการขนส่งผลไม้ทาง R9 ให้ข้อมูลว่า การที่ผลไม้ไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีมากในตลาดจีน ประมาณว่าเป็น ผลไม้ไฮโซราคากลางที่ถูกใช้เป็นฐานเพื่อคำนวณ VAT บางครั้งจึงสูงกว่าราคาที่ขายจริง และสูงกว่าราคากลางของผลไม้ประเภทเดียวกันที่จีนนำเข้าจากประเทศอื่น (เช่น มังคุดไทย มีราคากลางเพื่อประเมิน VAT สูงกว่ามังคุดเวียดนาม) ดังนั้น จึงทำให้ผลไม้ไทยประสบปัญหาต้นทุนสูงและสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน
สี่ โครงสร้างการค้าขายผลไม้ไทยในจีนที่เป็นอยู่ (ยัง)ไม่เอื้อต่อการขนส่งทาง R9 กล่าวคือในปัจจุบัน ผลไม้ไทยเมื่อเข้าสู่ประเทศจีนจะถูกกำหนดราคาขายและระบบการจำหน่ายโดยตลาดเจียงหนาน นครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ขณะที่ในกว่างซี (มณฑลที่ด่านโหยวอี้กวานตั้งอยู่) ยังไม่มีผู้ประกอบการขายส่งผลไม้มากนัก ทำให้เมื่อผลไม้ไทยถูกส่งมาเข้าทาง R9 แล้ว ก็กระจายต่อไปยังมณฑลอื่นๆ ไม่ค่อยได้ ต้องถูกส่งต่อไปยังตลาดเจียงหนานอยู่ดี
...ในประเด็นนี้ มีเกร็ดที่น่าสนใจว่า แม้แต่ตลาดที่ขายผลไม้ไทยในนครหนานหนิง (เมืองเอกของกว่างซี) ซึ่งอยู่ห่างจากด่านโหยวอี้กวานประมาณ 200 กม. ยังต้องไปนำผลไม้ไทยมาจากตลาดเจียงหนาน ซึ่งอยู่ห่างจากด่านโหยวอี้กวานกว่า 800 กม. มิได้รับตรงมาจากผู้ประกอบการที่ด่านโหยวอี้กวาน อย่างไรก็ดี ระบบการค้าขายแบบนี้ น่าจะเปลี่ยนไปบ้างในอนาคตอันใกล้ เพราะในนครหนานหนิง กำลังจะมีการเปิดตลาดขายส่งผักและผลไม้ขนาดใหญ่ที่ทันสมัย (ศูนย์ Hyperion ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัทจีนกับฝรั่งเศส) ซึ่งสามารถเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการรับผลไม้ไทยโดยตรงจากด่านโหยวอี้มาขายในนครหนานหนิง ตลอดจนกระจายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ของจีนได้ หากผู้ประกอบการไทยสนใจ ก็สามารถศึกษาและมาลงทุนในธุรกิจนี้ เพื่อต่อยอดการใช้ R9 ได้ครับ
ปัญหาต่าง ๆ ข้างต้น เป็นเพียงในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งผ่าน R9 ที่ผลไม้ไทยต้องเผชิญ แต่ในความเป็นจริง ศักยภาพในการแข่งขันของผลไม้ไทยที่เข้ามาทางด่านโหยวอี้ ยังมีความท้าทายอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่
หนึ่ง การที่เวียดนามสามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายจากการค้าชายแดนกับจีน เพื่อส่งออกผลไม้ผ่านจุดผ่อนปรนมายังเมืองผิงเสียง (เมืองที่ด่านโหยวอี้ตั้งอยู่) ได้โดยไม่ต้องเสียภาษีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีนำเข้าหรือ VAT ซึ่งจีนอนุญาตให้ชาวชายแดนนำเข้าได้ไม่เกินมูลค่า 8,000 หยวน (ประมาณ 36,00 บาท) ต่อวันต่อคน  อ่านไม่ผิดหรอกครับ ผลไม้มูลค่า 36,00 บาท ต่อวันต่อคน!
ผู้ประกอบการหลายคน ให้ข้อมูลว่า นโยบายการค้าชายแดนดังกล่าว ส่งผลให้มีพ่อค้าหัวใสจำนวนมาก นำผลไม้ไทย (อาทิ ทุเรียน และมังคุด) ไปสวม อ๋าวหญ่ายหรือแปลงสัญชาติเป็นผลไม้เวียดนาม เพื่อไม่ต้องเสีย VAT ครับ ซึ่งจุดนี้เอง อาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งว่า เหตุใด สถิติที่เป็นทางการของการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนผ่าน R9 ถึงไม่เพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น (เพราะตามระบบจีน ไม่มีการบันทึกข้อมูลในระบบศุลกากรของชาวชายแดนที่ขนส่งผลไม้มูลค่าไม่เกิน 8,000 หยวน/คน/วัน)
นอกจากนี้ ยังช่วยตอบข้อสงสัยด้วยว่า ทำไม...ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าทุเรียนไทย หรือที่คนจีนเรียกว่า ไท่กั๋วหลิวเหลียนของด่านโหยวอี้กวาน จึงลดลงอย่างฮวบฮาบ กล่าวคือ จาก 6 แสนกว่า กก. ในปี 50 เหลือเพียง 4 หมื่นกว่า กก. ในปี 53 แต่กลับเห็นได้อย่างดาดดื่นในท้องตลาดของกว่างซี ตั้งแต่ซุปเปอร์มาร์เก็ตหรูยันหาบเร่ข้างถนน (ก็มีการเอาทุเรียนไทยไปสวมอ๋าวหญ่ายแล้วนำเข้าโดยชาวชายแดนจีน-เวียดนามไงครับ!)
สอง ผลไม้ไทยยังมีคู่แข่งอีกมากในตลาดจีน โดยเฉพาะผลไม้ที่ทั้งจีนและประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็ผลิตได้เช่นเดียวกับไทย อาทิ กล้วยจากเวียดนาม มะม่วงเมืองไป๋เซ่อ ลิ้นจี่เมืองชินโจว และส้มของกว่างซี รวมทั้งผลไม้หลายชนิดที่จีนนำเข้าจากไต้หวัน ซึ่งเน้นตลาดบน อาทิ ชมพู่ น้อยหน่า ฝรั่ง มะละกอ และสับปะรด
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
ถนน R9 ที่เชื่อมภาคอีสานของไทยกับตอนใต้ของจีน เป็นทางเลือกที่ปัจจุบันผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยใช้ขนส่งผลไม้จากไทยไปขายในตลาดจีน แม้ว่ามูลค่าและปริมาณการขนส่งผลไม้ไทยผ่าน R9 จะยังคงมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับยอดรวมทั้งหมดของผลไม้ที่จีนนำเข้าจากไทย กอปรกับการขนส่งทาง R9 ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้ แต่ในภาพรวม การใช้ R9 ตลอดจนถนนเส้นอื่นๆ เพื่อขนส่งผลไม้ไทย ก็ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อได้เปรียบที่สำคัญที่สุดในเรื่องระยะเวลาการขนส่งที่สั้นกว่าการไปทางเรือถึงเกือบ 3 เท่า
ในส่วนของกว่างซี มณฑลทางตอนใต้ซึ่งรัฐบาลจีนกำหนดให้เป็น ประตูสู่อาเซียนรวมถึงเป็น ฮับเชื่อมโยงอาเซียนกับพื้นที่จีนตอนใน โอกาสของการขยายตลาดผลไม้ไทยก็ยังมีอยู่สูง เนื่องจากผลไม้ไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจีนมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ และน้อยหน่าของไทย ก็สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ตลาดค้าส่งผลไม้ ตลาดสด หรือแม้แต่หาบเร่ข้างทางอยู่แล้ว จากการสำรวจคร่าว ๆ พบว่า นอกจากผลไม้ต่างๆ ข้างต้นแล้ว กล้วยไข่ สละ ชมพู่ เงาะ และมะม่วงของไทยเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มจะเติบโตได้ดีในตลาดจีน โดยเฉพาะตลาดกว่างซี
เมื่อคำนึงถึงบริบทว่า กว่างซีเป็นประตูหน้าด่านของ R9 ขณะที่ไทยก็สามารถใช้กว่างซีเป็นฐานในการรักษาตลาดผลไม้เดิมและเปิดตลาดใหม่ไปสู่มณฑลอื่นๆ ของจีน โดยเฉพาะในภาคตะวันตกและภาคกลางได้ R9 จึงเป็นทั้งโอกาสและสิ่งที่ควรต้องส่งเสริมให้มีการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชน (ผู้ส่งออก และเกษตรกรชาวสวน) ของไทยสามารถร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้มีการใช้เส้นทางนี้เพิ่มขึ้นได้
ในส่วนของภาครัฐ ปัจจุบัน ส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานของกระทรวงเหล่านี้ที่ประจำการอยู่ในจีน ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันให้มีการใช้ R9 ตลอดจนการขยายตลาดผลไม้ไทยในจีนอยู่แล้ว โดยมาตรการที่ควรริเริ่มหรือดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป ได้แก่
(1) หามาตรการลดต้นทุนการขนส่งทางบกจากภาคอีสานไทย
(2) ส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจพ่อค้าคนกลางและผู้กระจายสินค้า เพื่อสร้างจุดนัดพบใหม่ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายผลไม้ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย โดยเฉพาะตลาดในภาคตะวันตกของจีนซึ่งยังมีลู่ทางแจ่มใส
(3) โฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและภาพลักษณ์ของผลไม้ไทย ตลอดจนจัด Road Show และกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ เพื่อให้ผลไม้ไทยเป็นที่ชื่นชอบในระยะยาว
(4) ส่งเสริมการปลูกผลไม้นอกฤดูกาล เพื่อให้ขายในตลาดจีนได้อย่างต่อเนื่องทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวของจีน
(5) หลีกเลี่ยงการปลูกผลไม้ชนิดเดียวกันกันจีน เพื่อให้เกิดการค้าสองทาง กล่าวคือปัจจุบัน โดยมาก หลังจากรถบรรทุกขนผลไม้ไทยมาส่งที่ด่านโหยวอี้แล้ว จะตีรถเปล่ากลับ ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสูง
(6) ศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงข้อด้อยของผลไม้ไทยบางชนิด เช่น ปัญหาเปลือกดำและช้ำง่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น