สื่อในการเผยแพร่ข่าวสารหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกันเพิ่มขึ้นทั้งตอนนี้และต่อไปนะ
วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555
พัฒนาการ 15 ข้อของฟอร์คลิฟต์ยุคใหม่
ปัจจุบันรถฟอร์คลิฟต์รุ่นใหม่มีทั้งเทคโนโลยี พละกำลัง และประสิทธิภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก บทความนี้จะเผยนวัตกรรมล่าสุดของรถฟอร์คลิฟต์
ในโฆษณารถยนต์รุ่นใหม่มักเปรียบเทียบให้เห็นสมรรถนะและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่ารถยนต์รุ่นก่อน โฆษณาของรถฟอร์คลิฟต์ก็เช่นกัน ถ้าคุณไม่ได้เปลี่ยนรถฟอร์คลิฟต์ที่ใช้มานาน หรือต้องจอดทิ้งไว้เฉยๆ เพราะพิษของเศรษฐกิจที่ซบเซา คุณจะต้องแปลกใจกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในรถฟอร์คลิฟต์รุ่นล่าสุด ซึ่งมีตั้งแต่การปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการทำงาน ไปจนถึงสามารถทำงานแบบรถขนส่งระบบเคลื่อนที่อัตโนมัติ (Automatic Guided Vehicle หรือ AGV)
แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติวงการ เช่น เปลี่ยนรถฟอร์คลิฟต์ให้เป็นรถ AGV “เราเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อยๆ พัฒนา ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงทีเดียวแบบพลิกโฉม” เจฟฟ์ โบวส์ (Jeff Bowles) ผู้จัดการฝ่ายสายผลิตภัณฑ์ของ Mitsubishi Caterpillar Forklift America (MCFA) กล่าว
แนวทางการพัฒนาเช่นนี้ถือว่าสมเหตุสมผลเพราะทำให้สามารถนำรถฟอร์คลิฟต์รุ่นใหม่มาใช้งานในระบบเดิมที่ใช้กันอยู่แล้วได้เลยโดยไม่สะดุด รถฟอร์คลิฟต์แบบพื้นฐานยังคงเป็นเส้นเลือดหลักของคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงานผลิตส่วนใหญ่ พัฒนาการที่เกิดขึ้นกับรถฟอร์คลิฟต์จึงเป็นเรื่องการเพิ่มผลผลิต ความฉลาด และความน่าเชื่อถือให้มากขึ้นกว่าเดิม
ความก้าวหน้าที่สำคัญ 15 ประการของรถฟอร์คลิฟต์รุ่นใหม่มีอะไรบ้าง ผู้ผลิตรถฟอร์คลิฟต์ชั้นนำ 10 ค่ายในอเมริกาเหนือสรุปให้เราฟังดังนี้
1. รถฟอร์คลิฟต์ระบบอัตโนมัติ ผู้ผลิตอย่าง Crown, MCFA, Toyota, Nissan และ Raymond ต่างก็ผลิตรถฟอร์คลิฟต์ที่เป็นระบบ AGV โดย Raymond มีแผนจะเปิดตัวรถฟอร์คลิฟต์ระบบอัตโนมัติที่มีระบบนำร่องและใช้กล้องของ Seegrid ภายในต้นปี 2555 เหตุผลก็เพราะค่าแรงที่แพงขึ้น
“ถ้ามองอายุทางเศรษฐกิจของรถฟอร์คลิฟต์ใน 5 ปี คุณจะพบว่าค่าแรงคิดเป็น 70-75% ของการลงทุนทั้งหมด” แฟรงค์ เดฟลิน (Frank Devlin) ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีขั้นสูงของ Raymond กล่าว “ถ้าอยากใช้แรงงานให้เต็มประสิทธิภาพ ก็จำเป็นต้องใช้รถฟอร์คลิฟต์ที่มีระบบอัตโนมัติแบบนี้”
2. มี RFID ในตัว นอกจากจะทำรถฟอร์คลิฟต์ระบบอัตโนมัติ ผู้ผลิตยังมองทางเลือกที่เป็นกึ่งอัตโนมัติด้วย MCFA ได้ร่วมมือกับ Jungheinrich นำเทคโนโลยี RFID และตัวส่งสัญญาณวิทยุ (Transponder) จากยุโรปมาใช้กับตลาดในอเมริกาเหนือ บางโซลูชันอาศัยระบบนำร่องในคลังสินค้า ทำให้รู้ตำแหน่งของรถฟอร์คลิฟต์โดยอาศัยตัวเข้ารหัสและตัวส่งสัญญาณวิทยุที่พื้นกับป้าย RFID ที่ติดไว้ที่สินค้าและพาเลท เมื่อออเดอร์สินค้าถูกป้อนเข้าระบบ รถฟอร์คลิฟต์จะเลือกเส้นทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อหยิบสินค้า รวมทั้งคำนวณความเร็วในการเคลื่อนที่และการยกของให้เหมาะสมกับการทำงานมากที่สุด
นอกจากนี้ MCFA ยังติดตั้งตัวส่งสัญญาณวิทยุกับเซนเซอร์ที่รถเพื่อการทำงานที่ปลอดภัยขึ้น เช่น ตรวจจับได้ว่าบนพื้นข้างหน้ามีอะไรขวางอยู่หรือไม่
“ระบบนี้ช่วยให้ขับรถและยกของได้อย่างอัตโนมัติจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องใช้รถฟอร์คลิฟต์ระบบอัตโนมัติสมบูรณ์แบบ และในกรณีที่คนขับมองเห็นได้จำกัด รถจะชะลอความเร็วลงจนกว่าสิ่งกีดขวางจะถูกนำออกไปให้พ้นทาง” โบวส์ กล่าว
3. ระบบควบคุมระยะไกล Crown กำลังพัฒนาโซลูชันแบบกึ่งอัตโนมัติที่อยู่ระหว่างรถฟอร์คลิฟต์แบบธรรมดากับรถ AGV นั่นคือการใช้รีโมตคอนโทรล พนักงานสามารถขับรถฟอร์คลิฟต์ไปยังโซนของสินค้าตามออเดอร์ ขณะที่พนักงานกำลังหยิบสินค้า ผู้ควบคุมสามารถเคลื่อนย้ายรถไปยังจุดอื่นโดยใช้อุปกรณ์รีโมตคอนโทรลทำให้ไม่ต้องเสียเวลาจอดรถทิ้งไว้เฉยๆ ระหว่างหยิบสินค้าในแต่ละจุด
“เราพยายามนำฟังก์ชันการทำงานที่มีคุณค่ามาใส่ในรถฟอร์คลิฟต์” ทิม เควลฮอสต์ (Tim Quellhorst) รองประธานอาวุโสของ Crown ให้ความเห็น “นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของโซลูชันที่สามารถเพิ่มผลผลิตด้านแรงงานโดยไม่ต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์ทั้งหมด”
4. การส่งข้อมูลจากระยะไกล เทเลเมติกส์ (Telematics) เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีโทรคมนาคมกับเทคโนโลยีการรวบรวมข้อมูลด้วยอุปกรณ์อย่างเซนเซอร์และ RFID ทำให้รถฟอร์คลิฟต์สามารถเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานและประสิทธิภาพของผู้ควบคุมเพื่อส่งไปยังระบบบันทึก ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ในรถฟอร์คลิฟต์ของ Raymond สามารถแจ้งรหัสที่มีปัญหาพร้อมระบุหมายเลขของรถฟอร์คลิฟต์ส่งทางอีเมลเข้าสู่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ของช่างเทคนิค
“ระบบนี้ทำให้ช่างสามารถวินิจฉัยปัญหาของรถ และนำเครื่องมือและอะไหล่ที่จำเป็นสำหรับงานซ่อมบำรุงติดตัวมาด้วยเลย” เดฟลิน กล่าว
5. การผสานกับระบบบริหารคลังสินค้า (Warehouse Management System หรือ WMS) ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ได้จากระบบเทเลเมติกส์ทุกวันนี้ใช้สำหรับงานซ่อมบำรุงและบริหารเส้นทางรถ โจนาธาน ดอลีย์ (Jonathan Dawley) รองประธานฝ่ายการตลาดของ NACCO Materials Handling Group (NMHG) ชี้ว่า ขั้นถัดไปคือการผสานระบบเทเลเมติกส์เข้ากับระบบ WMS ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลของรถฟอร์คลิฟต์กลายเป็นส่วนหนึ่งของโฟลว์งานในคลังสินค้า
“การใช้ข้อมูลจากรถฟอร์คลิฟต์เพื่อเพิ่มผลผลิตด้านแรงงานนั้นสำคัญกว่าการทำให้รถฟอร์คลิฟต์แล่นได้เร็วขึ้น” ดอลีย์ กล่าว
6. รถฟอร์คลิฟต์ที่ใช้หลักสรีรศาสตร์ (Ergonomics) หลักการออกแบบเพื่อความสะดวกสบายของผู้ปฏิบัติงานถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ในยุโรป แนวคิดดังกล่าวเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในบริษัทสหรัฐฯ โดยเฉพาะบริษัทที่มุ่งเจริญรอยตามแนวคิดระดับโลก จึงเกิดอุปสงค์สำหรับรถฟอร์คลิฟต์แบบยุโรปมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา
“เราเห็นลูกค้าในสหรัฐฯ และแคนาดาปรับปรุงสภาพแวดล้อมในคลังสินค้าเพื่อพนักงานของตน” ดอลีย์ จาก NMHG กล่าว “พวกเขาต้องการคนงานที่ฉลาดขึ้น ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่คนงานที่แข็งแรงขึ้น” ดอลีย์เชื่อว่าความสนใจในสรีรศาสตร์ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มผลผลิต แต่ยังรักษาคนงานที่มีฝีมือให้อยู่กับองค์กร
7. การควบคุมด้วยนิ้วมือ การควบคุมฟังก์ชันหลายอย่างในเวลาเดียวกันสามารถทำได้ด้วยนิ้วมือซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเพิ่มความสะดวกสบายในการทำงาน ผู้ควบคุมสามารถบังคับงาให้ยกขึ้น เอียง หรือขยับไปด้านข้างได้
“การควบคุมด้วยนิ้วมือเริ่มมีใช้ในยุโรป” สตีฟ ซีอานซี (Steve Cianci) กรรมการบริหารฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ของ Nissan Forklift Corporation of North America เผย “ขณะที่ระบบการควบคุมด้วยนิ้วมือยังไม่เป็นที่นิยมในสหรัฐฯ แต่เราเห็นลูกค้าเริ่มสนใจมากขึ้นเพราะระบบนี้ช่วยให้ท่าทางการทำงานของผู้ปฏิบัติงานถูกต้องตามหลักสรีรศาสตร์”
8. รถฟอร์คลิฟต์ที่ฉลาดขึ้น ตามความเห็นของลินเดิล แมคเคอลีย์ (Lyndle McCurley) ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดของ Doosan Industrial Vehicles America รถฟอร์คลิฟต์ในอนาคตจะฉลาดขึ้น ใช้งานได้สะดวกสบายขึ้นและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น หลายเดือนก่อน Doosan ได้นำเสนอแนวคิดรถฟอร์คลิฟต์ไฟฟ้าในฝันที่งาน British Open โดยห้องคนขับเป็นกระจกใสเมื่อทำงานในอาคารและจะทึบแสงเพื่อกันแดดและความร้อนเมื่อทำงานกลางแจ้ง เวลาที่ยกงาขึ้นห้องคนขับก็จะยกตัวขึ้นและเอนไปด้านหลังเล็กน้อย เพื่อให้คนขับมองขึ้นไปข้างบนโดยไม่ต้องแหงนคอให้เมื่อย จอด้านหน้าแสดงภาพกราฟิกข้อมูลความสูงของงานที่ยก น้ำหนักที่ยก และมุมเอียง รถสามารถเปลี่ยนจุดศูนย์ถ่วงและฐานล้อได้อัตโนมัติ โดยยืดหรือหดความยาวของฐานล้อได้ตามน้ำหนักของสินค้าและสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงาน
“แทนที่จะผลิตรถที่ยกได้ 5,000 ปอนด์ เราเลือกที่จะพัฒนารถที่มีสมรรถนะรอบด้านและสามารถปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขการทำงานรูปแบบต่างๆ ได้” แมคเคอลีย์ กล่าว
9. ฟังก์ชันยับยั้งการทำงาน ตัวยับยั้งการทำงานถูกออกแบบมาเพื่อทำนายว่าการปฏิบัติงานของรถฟอร์คลิฟต์ปลอดภัยต่อคนบังคับหรือไม่ ซีอานซีกล่าวว่าฟังก์ชันนี้จะลดความเร็วเมื่อรถเดินหน้าหรือถอยหลังโดยอัตโนมัติที่ระดับความสูงต่างๆ และจะควบคุมมุมเอียงโดยอัตโนมัติให้ด้วยเช่นกัน
10. เทคโนโลยี Controller Area Network (CAN BUS) อุตสาหกรรมรถฟอร์คลิฟต์กำลังเปลี่ยนจากการบำรุงรักษาแบบป้องกันไปสู่การบำรุงรักษาแบบคาดการณ์ล่วงหน้า “เรายังไปไม่ถึงสิ่งที่หวังไว้” เอ็ด แคมพ์เบล (Ed Campbell) ผู้จัดการฝ่ายขายของกลุ่มจัดการวัสดุจาก Landoll กล่าว “แต่ด้วยระบบ CAN BUS จะทำให้เราสามารถสื่อสารแบบสองทางระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ได้ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าตอนนี้อุณหภูมิสูงเกินไปหรือไม่ ทำให้เราสามารถดำเนินการซ่อมบำรุงได้ก่อนที่เครื่องยนต์จะดับ”
11. ระบบขับเคลื่อนแบบไฮโดรสแตติก (Hydrostatic) “ทุกวันนี้อุปกรณ์ส่วนใหญ่ใช้พลังงานจากแหล่งที่ใช้กันมายาวนานคือจากเครื่องยนต์ไอซีหรือจากแบตเตอรี่” มาร์ก โรสเลอร์ (Mark Roessler) ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ทั่วไปของ Linde Material Handling North America อธิบาย “ด้วยเหตุนี้รถฟอร์คลิฟต์ของเราจึงเน้นที่การออกแบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้ใช้งาน”
Linde ได้พัฒนาระบบขับเคลื่อนแบบไฮโดรสแตติกที่ใช้การไหลและแรงดันของน้ำมันเพื่อเพิ่มหรือลดความเร็วของรถในทิศทางต่างๆ “ด้วยการขับเคลื่อนแบบไฮโดรสแตติก จึงไม่ต้องมีเบรคแบบใช้แรงเสียดทาน ไม่ต้องมีชุดส่งกำลังเชิงกล ไม่ต้องมีเพลาขับ ไม่ต้องมีข้อต่อตัวยู จึงช่วยลดการสึกหรอของระบบขับเคลื่อนได้” โรสเลอร์กล่าว
12. วิ่งได้แม้ในทางแคบ เมื่อคลังสินค้าต้องเก็บสินค้ามากขึ้นแต่ยังมีพื้นที่เท่าเดิม จึงจำเป็นต้องใช้รถฟอร์คลิฟต์ที่ปฏิบัติงานในช่องทางแคบๆ ได้ “ตอนแรกที่เราเริ่มทำธุรกิจ รถฟอร์คลิฟต์สมัยนั้นขับในช่องทางกว้าง 7 ฟุต” แคมพ์เบล จาก Landoll กล่าว “แต่วันนี้เราต้องทำงานในช่องทางที่แคบกว่า 6 ฟุต” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการออกแบบชิ้นส่วนใหม่ทำให้รถฟอร์คลิฟต์ผอมลงและทำงานในช่องที่แคบลงได้ อีกประการหนึ่งคือการออกแบบที่ทำให้ส่วนหน้าที่เป็นเสาและงาหมุนได้ถึง 200 องศา จากเดิมที่หมุนได้แค่ 180 องศา
“ขณะที่ยกของออก ส่วนของงาจะเริ่มหมุนทำให้สามารถรักษาระดับของงาให้ตรงจนกว่าจะถอนออกจากพาเลท จึงสามารถวางของซ้อนกันได้ง่ายขึ้นในช่องแคบๆ” แคมพ์เบล อธิบาย เนื่องจากรถฟอร์คลิฟต์ที่ทำงานในช่องแคบๆ มักต้องยกของสูงๆ ด้วย รถฟอร์คลิฟต์ของ Landoll จึงมีระบบกล้องราคาประหยัดเพื่อให้มองเห็นเหนือขึ้นไป 25 ฟุต รวมทั้งมีซอฟต์แวร์ที่สามารถตรวจจับและแสดงระดับความสูงที่ยกของแต่ละแถวในคลังสินค้าด้วย
13. มีเครื่องชั่งในตัว เบอร์เกอร์คิงสร้างชื่อเสียงด้วยการให้ลูกค้าเลือกส่วนผสมของเบอร์เกอร์เองได้ Toyota Material Handling U.S.A. (TMHU) เห็นประโยชน์แบบเดียวกันนี้ในการสร้างรถฟอร์คลิฟต์ที่ผู้ใช้สามารถเลือกคุณสมบัติได้เอง
“40% ของใบสั่งซื้อรถของเราเป็นแบบเลือกประกอบโดยลูกค้า และมีนวัตกรรมหลายอย่างที่เป็นออพชั่นในรถฟอร์คลิฟต์ของเรา” ซีซาร์ ฮิเมเนซ (Cesar Jimenez) ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการผลิตในประเทศของ TMHU กล่าว ออพชั่นล่าสุดที่เรามีคือเครื่องชั่งน้ำหนัก ซึ่งพัฒนาขึ้นสำหรับลูกค้ารายหนึ่งและปัจจุบันได้กลายเป็นออพชั่นมาตรฐานในรถฟอร์คลิฟต์ของโตโยต้า เครื่องชั่งที่มีความแม่นยำระดับครึ่งปอนด์และได้มาตรฐานถูกต้องทำให้ผู้บังคับทราบน้ำหนักของสินค้าบนพาเลทที่กำลังยก ระบบที่มีอยู่ปัจจุบันสามารถเก็บข้อมูลของน้ำหนักบรรทุกได้ประมาณ 350 เที่ยวเพื่อดาวน์โหลดสู่ระบบส่วนกลาง “เราสามารถเพิ่มอุปกรณ์ Bluetooth หรือ Wi-Fi เพื่อให้ส่งข้อมูลได้อย่างอัตโนมัติ” ฮิเมเนซ กล่าว
14. แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ในงาน CeMAT เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา Jungheinrich แนะนำฟอร์คลิฟต์แบบยืนบังคับสำหรับตลาดในยุโรปที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาดเล็กเท่ากระเป๋าเอกสารและถอดเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ “ขนาดของแบตเตอรี่ทำให้รถฟอร์คลิฟต์มีความคล่องแคล่วมาก” โบวส์กล่าว “แต่ก็เหมือนกับเทคโนโลยีใหม่ส่วนใหญ่ที่ค่าใช้จ่ายยังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งกิโลวัตต์ชั่วโมงยังสูงกว่าแบตเตอรี่แบบตะกั่วน้ำกรด”
15. รถฟอร์คลิฟต์แบบไฮบริด ที่ญี่ปุ่น โตโยต้าได้แนะนำรถฟอร์คลิฟต์เครื่องยนต์ดีเซลไฮบริดที่สามารถยกได้ 8,000 ปอนด์ โดยใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับการเคลื่อนที่ แต่เมื่อต้องใช้กำลังเพื่อยกของก็จะสลับไปใช้ระบบดีเซลโดยอัตโนมัติ ซึ่งเหมือนกับรถยนต์ไฮบริดอย่างพรีอุส แถมยังชาร์จแบตเตอรี่ระหว่างที่รถใช้พลังงานจากดีเซล
“เพราะเราไม่ได้ใช้ไฟฟ้าจากระบบสาธารณูปโภค จึงช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซได้ถึง 50%” ฮิเมเนซ กล่าว โตโยต้ามีแผนที่จะแนะนำรถฟอร์คลิฟต์แบบไฮบริดที่ใช้โพรเพนและยางแบบกันสะเทือนในอาคารสำหรับอเมริกาเหนือ “โพรเพนเป็นเชื้อเพลิงอันดับหนึ่งสำหรับเราในสหรัฐฯ” ฮิเมเนซ เปิดเผย “ตอนนี้เรากำลังผลักดันให้บริษัทแม่ออกแบบอยู่”
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Warehouse & DC Management: 15 ways the lift truck is evolving
http://www.logisticsmgmt.com/
http://www.logisticsmgmt.com/
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)