วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การวัดประสิทธิผลสำหรับสถานประกอบการ

โกศล ดีศีลธรรม

          ปัจจุบันองค์กรธุรกิจดำเนินงานภายใต้สภาวะการแข่งขัน ดังนั้นองค์กรส่วนใหญ่จึงมุ่งผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงเพื่อส่งมอบสินค้าไปยังตลาดให้เร็วขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและสร้างผลกำไรตามเป้าหมายให้กับองค์กร  ดังนั้นกิจกรรมการผลิตจึงได้มีบทบาทสำคัญต่อการเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ โดยทั่วไปการผลิตเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่มีการแปรรูปปัจจัยนำเข้า (Input) ที่ประกอบด้วย วัตถุดิบ แรงงาน พลังงาน ทุน ให้เกิดเป็นผลิตผล (Output) ในรูปของสินค้าหรือบริการโดยมีการเชื่อมโยงกับกิจกรรมต่าง ๆ ในองค์กร ดังเช่น การวางแผน ออกแบบ จัดซื้อ การตลาด จัดจำหน่าย ดังนั้นผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ (Operation Managers) ของโรงงานจึงมักพิจารณาปัจจัยเพิ่มประสิทธิผลที่สำคัญ ซึ่งประกอบด้วย คุณภาพ ต้นทุน ผลิตภาพ ประสิทธิภาพ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

รูปที่ 1 แผนภาพปัจจัยกระบวนการแปรรูปการผลิต

คุณภาพ
          โดยทั่วไปความหมายของ คุณภาพ มักถูกนิยามแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ดังเช่น ในสหรัฐอเมริกาจะนิยามคุณภาพ หมายถึง "ความสอดคล้องกับมาตรฐานทางวิศวกรรม" นั่นคือ หากผลิตภัณฑ์ถูกสร้างตามรายละเอียดในแบบ (Engineering Drawings) ก็จะผ่านข้อกำหนดทางคุณภาพ สำหรับประเทศญี่ปุ่นจะนิยามความหมายของคุณภาพว่า "การผลิตสินค้าที่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า" ดังนั้นการวัดผลทางคุณภาพ (Quality Measure) ในระดับองค์กรจึงควรมีการระบุนิยามคุณภาพและประเมินองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง เช่น ลูกค้า ผู้จำหน่าย และการประเมินคุณภาพภายใน โดยมีการแจกแจงแสดงรายละเอียดในแต่ละองค์ประกอบ ดังเช่น
          * อะไรคือปัจจัยที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า
          * ปัจจัยและมาตรวัดสำหรับประเมินคุณภาพผู้จำหน่าย (Vendor Quality Analysis)
          * การจำแนกสาเหตุและรายละเอียดปัญหาคุณภาพภายใน (Internal Quality)
          แม้ว่าคำว่า "คุณภาพ" จะหมายความถึงนิยามต่าง ๆ เช่น ความเหมาะสมต่อการใช้งาน ความพึงพอใจของลูกค้า และความสอดคล้องกับข้อกำหนดทางวิศวกรรมก็ตาม แต่ปัจจัยที่สำคัญทางคุณภาพที่มีผลต่อการแข่งขัน นั่นคือ
          * คุณภาพของการออกแบบ (Quality of Design) โดยมีคุณลักษณะที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง หากการออกแบบไม่สามารถตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าอย่างครบถ้วนแล้วก็จะส่งผลให้เกิดความล้มเหลวของการออกแบบ (Quality of Design Failure)
          * ความสอดคล้องทางคุณภาพ (Conformance Quality) เป็นสมรรถนะของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สอดคล้องกับข้อกำหนด (Specifications) หากผลิตภัณฑ์ที่ขาดความสอดคล้องทางคุณภาพถูกส่งมอบให้กับลูกค้าหรือเกิดความเสียหายขณะใช้งานแล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดความสูญเสียภาพพจน์ขององค์กร

แนวคิดการวัดผลทางคุณภาพ 
          การวัดผลทางคุณภาพ สามารถจำแนกได้เป็น
          1. การวัดผลทางการผลิต (Manufacturing Measures) โดยใช้ตัวชี้วัดที่สำคัญ เช่น อัตราการเกิดของเสีย  ปริมาณงานที่แก้ไข อัตราการส่งมอบที่ตรงเวลา
          2. การวัดผลทางการเงิน (Financial Measures) โดยมีตัวชี้วัดในรูปของค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนคุณภาพ (Cost of Quality) ที่จะกล่าวรายละเอียดในส่วนถัดไป
          3. การมุ่งวัดผลจากลูกค้า (Customer Oriented Measures) เช่น สมรรถนะการใช้งาน (Performance) รูปลักษณ์ (Features) ความน่าเชื่อถือ (Reliability) ความยอมรับในคุณภาพ (Perceived Quality) เป็นต้น

ตัวอย่างมาตรวัดทางคุณภาพ

          นอกจากนี้ข้อมูลทางคุณภาพยังแสดงในรูปของค่าผลิตผลดี (Yield) ซึ่งหาได้จากความสัมพันธ์


           Yield  = (ปริมาณปัจจัยนำเข้า)(%ผลิตผลที่มีคุณภาพ)+(ปริมาณปัจจัยนำเข้า)(1-%ผลิตผลที่มีคุณภาพ)(%งานแก้ไข)  
          Y        = (I)(%G)+(I)(1-%G)(%R)
เมื่อ       I        =  ปริมาณปัจจัยนำเข้าที่เข้าสู่กระบวนการผลิต
         %G       =  เปอร์เซ็นต์ของงานที่มีคุณภาพที่เกิดขึ้น
          %R      =  เปอร์เซ็นต์ของงานบกพร่องที่ต้องแก้ไข

          หากกระบวนการที่มี่ค่า Yield สูง นั่นหมายถึง กระบวนการสามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพระดับที่สามารถยอมรับได้ เช่น หากกระบวนการผลิตชิ้นงาน 100 ชิ้น โดยเกิดข้อบกพร่องขึ้น 2 ชิ้น นั่นคือเกิดค่า Yield ขึ้น 98% อย่างไรก็ตามค่า Yield ก็เป็นเพียงตัวชี้บ่งถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์ ดังนั้นสัดส่วนการเพิ่มของสินค้าที่มีคุณภาพดีโดยการปรับปรุงคุณภาพจะส่งผลต่อการเพิ่มค่า Yield ของผลิตภัณฑ์

ต้นทุน
          ต้นทุนเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทต่อการสร้างศักยภาพให้กับองค์กร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลทางด้านค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อใช้สำหรับการวางแผนทางการเงินและควบคุมกิจกรรมทางธุรกิจ โดยเชื่อมโยงกับข้อมูลการผลิต ดังเช่น ความสูญเสียในกระบวนการผลิต ค่าโสหุ้ย ค่าแรงงานทางตรงและทางอ้อม ปริมาณของชิ้นงานที่เสร็จสิ้น วัสดุที่ใช้ในกระบวนการ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นอกจากจะใช้สำหรับประมาณ ต้นทุนต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ (Unit Cost) และจัดทำรายงานสำหรับผู้บริหาร (Management Report) แล้วยังถูกใช้สำหรับประเมินประสิทธิผลการผลิตด้วยตัวชี้วัดซึ่งแสดงในรูปของสัดส่วนต่าง ๆ ดังเช่น

รูปที่ 2 แผนภาพโครงสร้างต้นทุน (Cost Structure)

* ต้นทุนแรงงานต่อมูลค่าการผลิต (Labor cost to production value ratio) คือ อัตราส่วนค่าตอบแทนของแรงงานทางตรงเทียบกับมูลค่าผลิตผลที่เกิดขึ้น โดยแสดงถึงการใช้แรงงานในกระบวนการผลิต ในกรณีที่มีการปรับขึ้นค่าแรงอาจทำให้อัตราส่วนนี้สูงขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผลลบต่อธุรกิจเสมอไป แต่ต้องพิจารณาควบคู่กับมูลค่าเพิ่มของกระบวนการต่อหน่วยแรงงาน หากสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของมูลค่ากระบวนการต่อหน่วยแรงงานจะถือว่าองค์กรมีผลิตภาพทางแรงงานที่ดีเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทางแรงงานที่เพิ่มขึ้น

          
          
* ต้นทุนค่าวัสดุต่อมูลค่าการผลิต (Material cost to production value ratio) คือ อัตราส่วนที่แสดงด้วยสัดส่วนค่าใช้จ่ายวัตถุดิบต่อมูลค่าผลิตผลที่เกิดขึ้น หากค่าดัชนีนี้มีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับตัวเลขในอดีตหรือค่าเฉลี่ยของกิจการอาจเกิดจากกระบวนการจัดหาวัตถุดิบไม่มีคุณภาพหรือมีความเสียหายจากการจัดเก็บไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามวัตถุดิบจัดเป็นปัจจัยหลักของการผลิต ดังนั้นการปล่อยให้ค่าต้นทุนวัตถุดิบสูงเกินไปก็จะมีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ และผลกำไรขององค์กรในที่สุด ซึ่งควรพิจารณาควบคู่กับอัตราการหมุนของวัตถุดิบ (Raw materials turnover)

          

ตัวอย่างมาตรวัดทางด้านต้นทุน

          ในช่วงปลายศตวรรษที่แล้วได้มีการพัฒนารูปแบบของการบูรณาการระหว่างระบบต้นทุนกับแนวคิดคุณภาพ  เพื่อสนับสนุนกิจกรรมลดความสูญเปล่าที่เกิดจากความบกพร่องทางคุณภาพและรายงานผลในรูปแบบ เรียกว่า ต้นทุนทางคุณภาพ (Cost of Quality) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความสอดคล้องทางคุณภาพ ทำให้ผู้บริหารเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความบกพร่องทางคุณภาพ (Quality Failure) กับผลกระทบทางผลกำไร ข้อมูลค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้จำแนกออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
   1. ต้นทุนการป้องกัน (Prevention Cost) โดยมุ่งป้องกันไม่ให้เกิดของเสียหรือความบกพร่องขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม การวางแผน ค่าใช้จ่ายส่งเสริมคุณภาพ เป็นต้น
          2. ต้นทุนการประเมิน (Appraisal Costs) เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจสอบหรือประเมินคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนด เช่น ค่าใช้จ่ายการทดสอบวัสดุหรือผลิตภัณฑ์
          3.  ต้นทุนความผิดพลาดภายใน (Internal Failure Costs) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการแก้ไขงานก่อนที่จะดำเนินการส่งมอบให้กับลูกค้า
          4. ต้นทุนความผิดพลาดภายนอก (External Failure Costs) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อพบความบกพร่องหรือของเสีย หลังจากที่ได้ทำการส่งมอบสินค้าถึงมือลูกค้าแล้ว เช่น ค่าใช้จ่ายการซ่อมแซม การส่งของคืน ค่าประกัน และความเสื่อมเสียภาพพจน์ขององค์กร

ตัวอย่างการจำแนกประเภทค่าใช้จ่ายทางคุณภาพ

ผลิตภาพ
          ผลิตภาพ เป็นการวัดผลการใช้ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยนำเข้า เช่น แรงงาน วัตถุดิบ เงินทุน เทียบกับผลิตผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ โดยมีการนำข้อมูลที่จัดเก็บมาแสดงในรูปของมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ซึ่งเป็นผลต่างระหว่างทรัพยากรหรือปัจจัยที่นำเข้าสู่กระบวนการ ดังเช่น ปริมาณวัสดุ ชั่วโมงแรงงาน ชั่วโมงการเดินเครื่อง ค่าจ้างแรงงาน เทียบกับผลิตผลที่เกิดขึ้น และแสดงในรูปของอัตราส่วน ดังเช่น

          
          * มูลค่าเพิ่มต่อแรงงาน โดยใช้รายได้จากยอดขายหักด้วยต้นทุนค่าวัสดุและค่าจ้างผู้รับเหมาช่วงหารด้วยจำนวนแรงงานซึ่งเป็นทรัพยากรนำเข้า 

           
          *  ผลิตภาพแรงงานทางตรง เป็นอัตราส่วนระหว่างรายได้หรือยอดขายสุทธิ (Net Sales) เทียบกับผลรวมชั่วโมงแรงงาน (Man-hours) 

           
          * ผลิตภาพวัสดุ (Material Productivity) โดยเทียบยอดขายสุทธิกับผลรวมของต้นทุนค่าวัสดุ (Total Material Cost)

          
          ผลลัพธ์ของการประเมินผลิตภาพจะถูกใช้สำหรับเทียบเคียง (Benchmark) กับดัชนีอุตสาหกรรม ซึ่งจะบ่งบอกถึงประสิทธิผลและศักยภาพในการแข่งขัน รวมทั้งเป็นข้อมูลสำหรับกำหนดแนวทางปรับปรุงกิจกรรมการผลิต
  

ประสิทธิภาพ
         ประสิทธิภาพ (Efficiency) จัดเป็นมาตรวัดผลการดำเนินงานตัวสุดท้าย โดยทั่วไปจะถูกใช้วัดผลการทำงานของแรงงานและเครื่องจักรเทียบกับระดับมาตรฐาน ซึ่งมาตรฐานการทำงานของแรงงานจะถูกกำหนดขึ้นในช่วงของกระบวนการออกแบบและจะถูกระบุในใบแสดงรายละเอียดขั้นตอนการทำงาน (Routing Sheet) ซึ่งจะมีการอัพเดตตามรอบเวลา หากผลการทำงานของแรงงานสูงกว่าระดับมาตรฐาน นั่นหมายถึง เกิดประสิทธิภาพการทำงานในระดับที่สูงกว่า 100% และข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้สำหรับประเมินผลงานเพื่อจ่ายค่าตอบแทนในรูปของโบนัส
สำหรับประสิทธิภาพเครื่องจักรจะใช้ข้อมูลจากข้อกำหนดทางเทคนิคเทียบกับข้อมูลการเดินเครื่องหรืออัตราการใช้เครื่องจักร (Machine Utilization) และข้อมูลปริมาณผลิตผลที่เกิดขึ้นนอกจากนี้การประเมินประสิทธิภาพยังครอบคลุมถึง กระบวนการที่แสดงด้วยความสูญเปล่า การทำงานล่วงเวลาและความปลอดภัยจากการทำงาน ซึ่งการวัดประสิทธิภาพสามารถวัดทั้งในรูปของปัจจัยนำเข้าและผลิตผลที่เกิดขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
* ประสิทธิภาพทางปัจจัยนำเข้า (Input Efficiency) วัดจากการใช้ปัจจัยการผลิตในระดับที่เหมาะสมที่สุด โดยมีการจำแนกได้เป็น
          - ประสิทธิภาพจากการจัดสรร (Allocative Efficiency) จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปัจจัยนำเข้าต่าง ๆ เช่น ทุน แรงงาน  วัสดุ  ได้มีการจัดสรรหรือรวมในสัดส่วนที่เหมาะสมที่สุด (Optimal Proportions) ดังเช่น อุตสาหกรรมไฮเทคจะมีประสิทธิภาพจากการมุ่งเน้นสัดส่วนของทรัพยากรทุน (Capital Intensive) สูงกว่าสัดส่วนแรงงาน
          -  ประสิทธิภาพเชิงเทคนิค (Technical Efficiency)  เป็นประสิทธิภาพที่จะเกิดเมื่อไม่มีการเพิ่มทรัพยากรนำเข้าใด ๆ เพื่อสร้างผลิตผลในระดับที่กำหนด
* ประสิทธิภาพทางผลิตผล (Output Efficiency) แสดงด้วยผลิตที่เกิดขึ้นในระดับที่กำหนดไว้ โดยสามารถจำแนกได้เป็น
          - ประสิทธิภาพจากขนาด (Scale Efficiency) โดยชี้วัดจากผลการปฏิบัติงานที่ก่อให้เกิดอัตราส่วนผลิตผลเทียบกับปัจจัยนำเข้าสูงสุด หรืออาจเรียกว่า Return to scale ซึ่งควรพิจารณาขยายกำลังการผลิตหากตลาดมีการตอบรับ
          - ประสิทธิภาพเชิงขอบเขต (Scope Efficiency) หรืออาจเรียกว่า "More Outputs More Efficiently" ดังเช่น กรณีของการควบรวมกิจการ (Merger) เพื่อร่วมสร้างผลิตภัณฑ์หรือการขยายขอบเขตทางธุรกิจ

เอกสารอ้างอิง
          1. Gerhard J. Plenert, The Plant Operations Handbook: A Tactical Guide to Everyday Management, Richard D. Irwin, Inc.,1993
          2.  โกศล ดีศีลธรรม, การเพิ่มผลิตภาพในงานอุตสาหกรรม, สถาบันไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์, 2546
          3. โกศล ดีศีลธรรม, กลยุทธ์และกลวิธีการเพิ่มผลิตภาพ, บริษัท เอกซเปอร์เน็ท จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 1, 2546
          4. โกศล ดีศีลธรรม, Industrial Management Techniques for Executive, บ. ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน), 2546
          5. โกศล ดีศีลธรรม, การบริหารต้นทุนสำหรับนักบริหารยุคใหม่, บ. อินฟอร์มีเดีย อินเตอร์เนชันแนล จำกัด, 2547

เทคนิคการจัดการโลจิสติกส์ระดับโลก

          การใช้เทคนิคการจัดการโลจิสติกส์ระดับโลกกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผลไม้ไทยในตลาดภายหลังการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 


1. บทนำ 

          วันก่อนผมได้เดินทางไปเก็บข้อมูลที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ระหว่างนั่งรถตู้ผ่านไปและกลับก็สังเกตดูตามข้างทางซึ่งพบว่าในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูที่ผลไม้กำลังออกสู่ท้องตลาด ผมก็เลยแวะซื้อกลับมาหลายอย่างเลยครับทั้งเงาะ สละและทุเรียน แต่ก่อนจะซื้อก็หยิบลองทานซะจนอิ่มเลย ยังนึกอยู่เลยนะครับว่าเมืองไทยนี่โชคดีมาก รวมทั้งผมด้วยเพราะผมชอบทานผลไม้มาก เพราะมีผลไม้ให้ทานตลาดทั้งปี ขณะที่บทความฉบับนี้ก็ขออนุญาตพูดถึงการขยายตลาดผลไม้ไทย ถ้ามีการกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งกำลังเป็นหัวข้อที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ โดยผมจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาและโอกาสของการขยายตลาดภายใต้กรอบ AEC นอกจากนี้ จะพูดคุยเกี่ยวกับอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นเพราะอุปสรรคด้านภาษี (Tariff Barrier: TB) จะลดลงแต่อุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barrier: NTB) จะเพิ่มมากขึ้น โดยผมได้เทียบเคียงกรณีศึกษาจากการเปิดเสรีของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (จาก EEC ซึ่งปัจจุบันกลายไป EU แล้ว) 
          เพื่อให้ผลไม้ไทยเป็นที่ชื่นชอบและขายได้เป็นจำนวนมาก มีกลยุทธ์หลายด้าน เช่น ด้านการตลาด ด้านโลจิสติกส์ ด้านซัพพลายเชน ด้านการเกษตรและด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นต้นที่ควรจะนำมาใช้แบบบูรณการ มิใช่ต่างคนต่างทำอย่างในทุกวันนี้ ซึ่งจำเป็นต้องนำกรอบแนวคิด Value Chain มาช่วยตีกรอบเพื่อไม่ใช้ความคิดและแนวปฏิบัติกระจัดกระจายออกไป หลังจากนั้นจะได้นำเสนอกลยุทธ์โลจิสติกส์และซัพพลายเชนเพื่อส่งผลผลิตทางการเกษตรออกไปจำหน่าย อาทิ กลยุทธ์ Direct Shipment, Speculation, Quick Response, Logistics Postponement เป็นต้น

2. ภาพรวมของอุตสาหกรรมผลไม้ไทย
          ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรกรรมหลายประเภทรวมไปถึงความสามารถในการผลิตผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้เขตร้อนที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีศักยภาพในการผลิตเพียงพอให้ผลผลิตตามฤดูกาลสลับกัน บางชนิดให้ผลผลิตตลอดทั้งปี อุตสาหกรรมผลไม้ของไทย ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์สดและแปรรูป เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล ปัจจุบันการเพาะปลูกมิได้มุ่งเพื่อบริโภคภายในประเทศเพียงอย่างเดียว ยังมุ่งส่งออกตลาดต่างประเทศ โดยเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามปรับปรุงพันธุ์ และพัฒนาคุณภาพของผลผลิตให้ได้มาตรฐานของตลาดส่งออกมากยิ่งขึ้น สำหรับการส่งออกผลไม้สด ปี 2553 มีปริมาณทั้งสิ้น 732,511 ตัน คิดเป็นมูลค่า 13,737 ล้านบาท ขยายตัวเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.33 ในขณะที่เชิงปริมาณขยายตัวร้อยละ 22.33 สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2554 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1,079,694 ตัน คิดเป็นมูลค่า39,146 ล้านบาท โดยตลาดหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ตลาดในอาเซียนที่น่าสนใจได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปินส์ซึ่งมีอัตราการขยายตัวการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์ส่งออกสำคัญได้แก่ ทุเรียนสด ลำไยสด ลำไยอบแห้ง และมังคุด
          ทุก ๆ อุตสาหกรรมมีการแข่งขันและมีการเติบโตมากขึ้นในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการส่งออกผลไม้เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีการแข่งขันสูงมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้ส่งออกหลายรายแข่งขันอยู่ในตลาด ดังนั้นการที่จะสามารถแข่งขัน ได้จำเป็นต้องมีความสามารถในการตอบสนองลูกค้าได้รวดเร็ว สินค้าต้องมีคุณภาพ ราคาถูก และสามารถส่งสินค้าได้ตรงตามเวลาที่กำหนด การจัดการโลจิสติกส์ที่ดีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยที่การจัดการในทุกๆส่วนงานจะต้องมีความเชื่อมโยง การควบคุมการไหลเวียนของสินค้า และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ จากจุดเริ่มต้นไปจนถึงลูกค้า เพื่อที่จะบรรลุถึงความต้องการของลูกค้า การบวนการขนส่งเป็นส่วนงานที่มีความสำคัญมากต่อคุณภาพสินค้าและต้นทุนที่เกิดขึ้น จึงต้องมีการจัดการที่ดี และในขั้นตอนของการผลิตในอุตสาหกรรมจะต้องมีการขนส่งสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการส่งออกผลไม้ เพราะเป็นตัวกำหนดคุณภาพสินค้าและเป็นการสร้างความพอใจให้กับลูกค้า ณ ประเทศปลายทาง

          ระบบโลจิสติกส์มีความสำคัญต่อการส่งออกผลไม้เป็นอย่างมาก เนื่องจากการส่งออกจะต้องมีระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินงานในแต่ละกระบวนการ การเคลื่อนย้ายผลไม้จากแหล่งผู้ผลิต หรือผู้จัดเก็บไปยังลูกค้าในระดับต่างๆ การคัดเกรด การบรรจุ การตรวจสอบ การเก็บรักษา และการขนส่ง ทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นล้วนมีระยะเวลาในการดำเนินงานแตกต่างกันออกไป แต่ผลไม้เป็นสินค้าที่เน่าเสียง่ายและมีระยะเวลาในการเก็บรักษาจำกัด การบริหารจัดการกิจกรรมของโลจิสติกส์จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดคุณภาพของผลไม้ที่ส่งมอบ ณ ประเทศปลายทาง ในส่วนการขนส่งที่เป็นกิจกรรมหลัก และก่อให้เกิดต้นทุนและระยะเวลาในการดำเนินการ การตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีนั้น การวางแผนระบบโลจิสติกส์จึงเป็นงานที่มีความสำคัญต่อการขนส่ง เพราะถ้าการวางแผนมีความผิดพลาดจะส่งผลให้การขนส่งผิดพลาดเช่นกัน ทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันเวลา

          กลยุทธ์การขยายตลาดผลไม้ในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดใหม่จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศ ทั้งนี้ จำเป็นที่ต้องศึกษาแนวโน้ม เพื่อกำหนดกลยุทธ์แผนปฏิบัติ และการประเมินผลที่ยั่งยืน มากไปกว่านั้น นอกจากปัญหาด้านปริมาณผลผลิต คุณภาพ และราคาซึ่งถือเป็นจุดอ่อน (Weaknesses) ตามการวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-อุปสรรค (S.W.O.T. Analysis) อุปสรรค (Threats) ที่สำคัญยิ่ง อีกประการที่จำเป็นต้องเร่งรีบปรับทิศทางให้กลายเป็นโอกาส (Opportunities) คือ ผลกระทบจากข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) การเปิดการค้าเสรีและขยายความร่วมมือซึ่งกันและกันภายใต้กรอบการกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะเป็นเวทีการค้าระดับโลก อันทำให้การค้าขาย ในอนาคตแตกต่างจากการค้าในอดีตเป็นอย่างมาก

          ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรมีการเพาะปลูกผลไม้มากยิ่งขึ้น ประกอบกับมีการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศมาจำหน่ายในราคาใกล้เคียงกับ ผลไม้ไทยภายใต้กระแสการค้าเสรีของโลก ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดภาระเงินตราในการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศแล้ว ยังเกิดปัญหาการแข่งขันกับผลไม้ไทย ส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาต่ำ การแก้ไขปัญหาในช่วงที่ผ่านมาโดยการแทรกแซงตลาดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แม้เป็นสิ่งที่จำเป็นแต่ก็ก่อให้เกิดภาระงบประมาณ การบิดเบือนตลาด และไม่สอดคล้องกับกระแสการค้าของโลก ทั้งนี้ การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อผลไม้ไทยจึงมีความจำเป็นและอาจจะสามารถนำมาเป็นจุดแข็ง (Strengths) ของประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ในเวทีการค้าเสรีของตลาดโลกที่กำลังมาถึงนี้ได้

          ดังนั้นจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของผลไม้ไทยทั้งในเชิงเศรษฐกิจและยังเล็งเห็นความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรและชุมชน อีกทั้งผลไม้ไทยก็เป็นอีกหนึ่งผลผลิตที่เป็นหน้าเป็นตาและศักดิ์ศรีของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นราชาของผลไม้ คือ ทุเรียน ยังมีผลไม้ไทยที่มีชื่อเสียง ระดับโลกอีกหลายชนิด อาทิ ลำไย และมังคุด การศึกษา เรื่อง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผลไม้ไทยในตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน โดยใช้การจัดการโลจิสติกส์ เพื่อเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ในการขยายตลาดผลไม้ไทย ซึ่งมีจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคต่างๆ ตลอดจนความสลับซับซ้อนของกลไกการตลาดที่มีมากยิ่งขึ้น สามารถเป็นข้อมูลในการผลักดันนโยบายการผลิตและการส่งออกที่เหมาะสมต่อไป เพื่อให้การส่งออกผลไม้ไทยมีการพัฒนา และส่งเสริมที่ถูกต้องเป็นสินค้าชั้นนำที่จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ภาคการผลิตและการส่งออกของประเทศ

3. บทสรุป 
          ขณะนี้ ผมกำลังเริ่มเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อศึกษาแนวทางในการขยายตลาดผลไม้ของไทย โดยผมจะทำการศึกษาอุปสงค์หรือความต้องการของผลไม้ที่สำคัญของไทย อาทิ ทุเรียน ลิ้นจี่ มังคุด ลำไยและกล้วยเป็นต้นของตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อรองรับการกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นอกจากนี้ จะทำการสำรวจและวิเคราะห์อุปทานของผลไม้ที่สำคัญของไทย รวมทั้งจัดกลุ่มผลไม้เพื่อให้เหมาะสมกับตลาดเป้าหมายในแต่ละประเทศในอาเซียน รวมทั้งเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน หลังจากนั้น จะทำการวิเคราะห์และประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการผลไม้ (ในระดับของผู้ส่งออกของไทย) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการประเทศคู่แข่งทั้งภายในกลุ่มประเทศอาเซียนและนอกกลุ่มอาเซียน เช่นเวียดนาม ออสเตรเลียและจีน เป็นต้น หลังจากนั้นพัฒนาโมเดลหรือแบบจำลองซัพพลายเชนและห่วงโซ่คุณค่าของผลไม้ที่สำคัญของไทยที่จะส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งพัฒนาแบบจำลองโลจิสติกส์ระหว่างประเทศสำหรับผลไม้ที่สำคัญของไทย ที่จะครอบคลุมการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ศูนย์กระจายสินค้า ตัวกลางในประเทศที่จะเข้าตลาด เป็นต้นและจะทำการกำหนดตัวชี้วัดในแต่ละด้านเพื่อประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการเข้าตลาดผลไม้ในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร. ทวีศักดิ์ เทพพิทักษ์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโลจิสติกส์และการจัดการ คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา
Taweesak99@hotmail.com
Source :  http://www.logistics2day.com/App_Website/Community/blog.aspx?id=815