วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)


     “ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553 ที่ผ่านมา สมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ได้ยกเลิกภาษีสินค้ากว่า 8,000 รายการ และในปี 2558 สมาชิกอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ จะลดภาษีทุกรายการเป็นร้อยละ 0 และสามารถยืดหยุ่นในบางรายได้ในปี 2561 ซึ่งการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายในปี2558 ตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมจะมีผลให้อาเซียนกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี


แหล่งที่มา: เดลินิวส์ (8 มี.ค. 2553)

AEC คืออะไร?
     หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีอาเซียน ASEAN Free Trade Agreement (AFTA) ซึ่งสำหรับประเทศไทยก็มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2553 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือด้านต่างๆ ของไทยกับอาเซียนไม่ได้มีเพียงแค่ FTA เท่านั้น ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม ได้เห็นชอบกับการรวมกลุ่มเศรษฐกิจไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ภายในปี 2015
     โดยมีกรอบความร่วมมือหลักๆ 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคมกับวัฒนธรรม ซึ่งวันนี้จะขอเน้นด้านเศรษฐกิจเท่านั้นเพราะมีผลโดยตรงต่อผู้ประกอบธุรกิจเนื่องจากมีเป้าหมายที่จะทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดการค้าและฐานการผลิตเดียวร่วมกัน (Single market and production base)
สาระสำคัญของกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจมี 3 เรื่องหลักได้แก่ การค้าสินค้า การบริการ (ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงาน) และการลงทุน โดยจะให้เป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น โดยลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวของการค้าและการลงทุนในอาเซียน และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

AEC ต่างจากข้อตกลงเดิมๆ ในกลุ่มอาเซียนอย่างไร?
     ที่จริง AEC ไม่ใช่เรื่องแปลงใหม่แต่อย่างใด เพราะข้อตกลงเดิมๆ ภายในกลุ่มอาเซียนที่เคยทำกันไว้ก่อนหน้านี้ ต่อไปจะถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC ไม่ว่าจะเป็น ข้อตกลงที่ว่าด้วยเรื่องการค้า (ซึ่งก็คือ AFTA) เรื่องการบริการ (ASEAN Framework Agreement on services หรือ AFAS) หรือข้อตกลงเกี่ยวกับการลงทุน (ASEAN Investment area หรือ AIA) โดยทั้ง 3 ข้อตกลงดังกล่าวได้ลงนามกันไปตั้งแต่ปี 1993 1996 และ 1998 ตามลำดับ
     ดังนั้น พูดง่ายๆ ก็คือ AEC เป็นกรอบความร่วมมือในภาพใหญ่ ที่ได้รวมเอาข้อตกลงทั้ง 3 ส่วนไว้ด้วยกัน โดยจะมีการขยายรายละเอียดให้กว้างขึ้นเช่น AFTA จะถูกเปลี่ยนเป็น ASEAN Trade in Goods Agreement ( ATIGA) ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการปรับลดอัตราภาษีของ FTA และการส่งเสริมการค้าด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอย่างการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น ส่วนสัญญาด้านการลงทุน (Direct Investment และ Portfolio Investment) จะมีการเปลี่ยนไปใช้ ASEAN Comprehensive Investment Agreement (ACIA) ซึ่งยังคงสาระเกี่ยวกับการเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ AIA และมีการเพิ่มเติมเรื่องการคุ้มครอง การส่งเสริม และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนเข้าไปด้วย
     ส่วนด้านการบริการนั้นจะยังคงใช้สัญญาเดิมคือ AFAS ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถานะของ ATIGA และ ACIA ยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนที่ไทยจะให้สัตตยาบัน โดยสรุป AEC จึงเป็นการรวบรวมข้อตกลงเดิมที่กระจัดกระจายให้เป็นหมวดหมู่ชัดเจนขึ้น และมีการต่อยอดจากข้อตกลงเดิมให้ครอบคลุมการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการลงทุนมากขึ้น

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ AEC มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์?
     สิ่งที่จะเปลี่ยนไปเมื่อทั้ง 3 สัญญามีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ ในปี 2015 แล้วได้แก่ อันดับแรก อัตราภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่เป็น 0% สำหรับประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ (จากปัจจุบันมีแค่ 6 ประเทศที่มีอัตราภาษีขาเข้าตามข้อตกลง FTA เป็น 0% โดย กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม จะลดภาษีเหลือ 0% ในปี 2015) ซึ่งเป็นไปตามสัญญา ATIGA (เดิมคือ AFTA) นอกจากนี้ การค้าระหว่างกันจะง่ายขึ้น เพราะมีการลดขั้นตอนเอกสารและการตรวจสอบสินค้า ณ จุดตรวจสินค้าของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยทุกประเทศใช้มาตรฐานกลางเดียวกันในการตรวจสอบสินค้า เป็นต้น
     อันดับที่สอง การลงทุนโดยตรงภายในประเทศอาเซียนจะเปิดเสรีมากขึ้น โดยสามารถลงทุนถือหุ้นได้สูงถึง 100% ของสัดส่วนผู้ถือหุ้น ในสาขาเกษตร ป่าไม้ ประมง เหมืองแร่ และ การผลิต ส่วนสาขาด้านบริการ อาจกำหนดเพดานสำหรับนักลงทุนจากอาเซียนแต่เพดานจะไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญา ACIA และ AFAS อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีดังกล่าวเป็นการเปิดเสรีแบบมีเงื่อนไขคือ ให้แต่ละประเทศสามารถสงวนบางธุรกิจที่ยังไม่พร้อมในการให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนแข่งขัน โดยกำหนดข้อจำกัดในการลงทุนเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของคนในประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็มีพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 หรือ Foreign Business Act B.E. 1999 (FBA) ซึ่งเงื่อนไขการคุ้มครองจะยังเป็นไปตามที่ประกาศใน พรบ. ต่อไปจนกว่าจะมีการแก้ไข้กฏหมายในประเทศ
     อันดับที่สาม การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือหรือผู้ระกอบวิชาชีพเฉพาะทาง ให้สามารถทำงานในประเทศอื่นในอาเซียนได้สะดวกขึ้น โดยภายใต้สัญญาบริการ AFAS มีการยอมรับคุณสมบัติของแรงงานร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงภายใต้ AEC นี้จะไม่รวมการเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled labor) ซึ่งต้องเป็นไปตามกฏหมายของแต่ละประเทศอยู่

ประโยชน์จากการรวมกลุ่มเป็น AEC มีอะไรบ้าง
     แม้สาระสำคัญของสัญญาต่างๆ จากการรวมกลุ่มเป็น AEC แทบไม่ต่างอะไรจากสัญญาเดิมนัก และยังมีการสงวนสิทธิในการประกอบธุรกิจบางสาขา ส่วนการเคลื่อนย้ายแรงงานก็จำกัดอยู่แค่แรงงานฝีมือ อย่างไรก็ตาม มาตรการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนอื่นๆ น่าจะทำให้โอกาสในการขยายตลาดส่งออกและขยายฐานการผลิตยังมีอยู่มาก เพราะ AEC 10 ประเทศรวมกันมีขนาด GDP กว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใหญ่กว่า GDP ไทยถึง 5 เท่า ขนาดของประชากรรวมกันก็สูงถึง 600 ล้านคน และหากเปิดตลาดการค้ารวมกับจีน ขนาดของประชากรและเศรษฐกิจจะเพิ่มเป็น 1.9 พันล้านคน และ 5.8 ล้านล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
     ประโยชน์ที่เห็นได้ชัด ได้แก่ 1) การส่งออกไปยังประเทศอาเซียน โดยเฉพาะหมวดสินค้าภายใต้ FTA ที่ไทยได้เปรียบทางภาษีเมื่อแข่งกับคู่แข่งนอกกลุ่ม FTA เช่น ยางรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์และจักรยาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าอุตสาหกรรม เครื่องประดับ ยางสังเคราะห์และปิโตรเคมี 2) โอกาสในการขยายฐานการผลิต หรือการลงทุนโดยตรง ที่เราสามารถใช้ข้อได้เปรียบทางทรัพยากรของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น วัตถุดิบและแรงงานฝีมือที่ราคาถูกกว่า และ ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ซึ่งอาจเป็นการผลิตเพื่อส่งออกหรือเพื่อการบริโภคของคนในประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ตาม การเข้าไปลงทุนต้องศึกษากฏหมายการลงทุน (เช่น FBA) ของประเทศนั้นๆ ด้วย

แล้ว AEC จะไปถึงระดับเดียวกับสหภาพยุโรปหรือไม่?
     ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ทั้งนี้ ตามกรอบของ AEC ไม่มีการระบุว่าจะกำหนดให้ใช้นโยบาย เศรษฐกิจ การเงินและการคลัง ร่วมกัน และไม่มีแนวความคิดในการตั้งกำแพงภาษีเดียวกันกับทุกประเทศนอกกลุ่ม หรือการจัดตั้งสกุลเงินเดียวกัน เนื่องจากมีปัญหาด้านความแตกต่างทางโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังกว้างอยู่มาก เช่น GPD per capita ของพม่าอยู่ที่ราว 400-500 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ซึ่งต่างจาก สิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่เกือบ 4 หมื่นดอลลาร์ต่อคนต่อปีอย่างมาก นอกจากนี้ รัฐบาลแต่ละประเทศยังจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายของตน ดังนั้น รูปแบบการรวมกลุ่มจึงไม่น่าจะไปถึงระดับเดียวกับสหภาพยุโรปได้ง่ายนัก

ทุบกำแพง ความท้าทาย AEC คว้าโอกาสทองสู่ อุตฯ ไทย


รัฐ-เอกชน คึกคักผนึกกำลังเตรียมความพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน มองโอกาสทองอุตสาหกรรมไทยเติบโตท่ามกลางความท้าทาย
“OIE FORUM” เวทีสัมมนาวิชาการใหญ่ประจำปี โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ได้รับความสนใจอย่างมาก ถือเป็นชุมนุมสุดยอดวิชาการภาคอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าของเมืองไทย โดยปี 2554 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ชื่อ “AEC 2015 ความท้าทายและโอกาสอุตสาหกรรมไทย” ซึ่งได้รับความสนใจจากเหล่านักธุรกิจชั้นนำ ตลอดจนนักวิชาการทั่วทุกสารทิศเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง เช่นทุกปี
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอย่างให้แง่คิด สำหรับการก้าวสู่ AEC ว่า “การเข้าสู่ AEC ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมความพร้อมให้ดี และไม่ประมาท ดังพุทธศาสนสุภาษิตบทที่ว่า “อปฺปมาเทน สฺมปาเทถ” ขอให้ทุกท่านจงบำเพ็ญให้ถึงซึ่งความไม่ประมาท ให้สมบูรณ์เถิด และร่ายยาวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก ไม่กี่ปีข้างหน้าว่า
ในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) หรือที่เราเริ่มคุ้นชื่อนี้กันแล้วในนาม AEC จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางบวกและทางลบ ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนมีความมุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มสมาชิกอาเซียนทุกประเทศรวมกันมีพื้นที่ประมาณ 4,435,570 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 590 ล้านคน และ GDP ของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ รวมกันจะมีมูลค่ามากถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 
      นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ของอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ได้แก่ ASEAN+3 และ ASEAN+6 แล้ว ซึ่งประกอบด้วยประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยมีประชากรรวมกันกว่า 3 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรโลก และมีมูลค่า GDP รวมกันกว่า 9.9 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของ GDP โลก
ดังนั้น การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และบูรณาการด้านเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การเป็นตลาดเดียว (Single Market) เพื่อความสามารถในการแข่งขัน และเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า แรงงาน การลงทุน โดยเสรี และสร้างฐานการผลิตเดียวกัน และเมื่อไทยมีความพร้อมและมีความเข้มแข็งก็จะสามารถไปแข่งขันกับต่างประเทศ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี ASEAN+3 และ ASEAN+6 ได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบายถึงจุดเริ่มของการรวมกลุ่ม  เพื่อเกิดพลังวัตรในการขับเคลื่อนครั้งนี้ว่า  “อาเซียนเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ที่ได้มีการลงนามใน "ปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration)” เพื่อจัดตั้งสมาคมความร่วมมือในระดับภูมิภาคของประเทศต่างๆ ที่เรียกว่า “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า “อาเซียน” 
โดยมีสมาชิกเริ่มต้น ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย และต่อมา บรูไน ก็ได้เข้าร่วมหลังจากนั้นไม่นาน รวมเป็นประเทศกลุ่มเริ่มต้น 6 ประเทศที่เรามักเรียกกันว่า “อาเซียน 6 (ASEAN Six)” และต่อมาอาเซียนขยายการรับสมาชิก โดยมีการทยอยเข้าร่วมของ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งเรามักจะรู้จักในนามกลุ่ม CLMV จนครบ 10 ประเทศในปี 2542 
การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค และคานอำนาจของประเทศอื่น ๆ ที่เริ่มแสดงบทบาทโดดเด่นในเศรษฐกิจโลก เช่น จีน และอินเดีย ดังนั้น ในปี 2546 อาเซียนจึงได้กำหนดทิศทางที่แน่ชัดว่าความร่วมมือจะต้องเดินทางไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community: AC) ภายในปี 2563 แต่ต่อมา ในระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนในปี พ.ศ. 2547 ที่เวียงจันทน์ ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบร่วมกันในการเร่งเป้าหมายให้เสร็จเร็วขึ้นเป็นปี พ.ศ. 2558 เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงของอาเซียน โดยมี One Vision  One Indentity และ One Caring Community ซึ่งการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนจะให้ความสำคัญกับเสาหลัก 3 ด้าน ได้แก่
1. เสาด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC- ASEAN Economic Community) มุ่งหวังให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม เพื่อการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน และบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจของโลก
2. เสาประชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง (ASC- ASEAN Security Community) มุ่งหวังให้มีค่านิยมและแนวทางปฏิบัติที่เป็นทิศทางเดียวกัน มีการเคารพในสิทธิอธิปไตยซึ่งกันและกัน สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น เพื่อสร้างความมั่นคงในภูมิภาค
3. เสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC- ASEAN Social-Cultural Community) มุ่งหวังให้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นสังคมการเรียนรู้ Knowledge Base Society มีการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม คุ้มครองประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการเคารพสิทธิ มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างความสมดุล เพื่อการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน และสร้างเอกลักษณ์ของอาเซียน เพื่อไม่ให้วัฒนธรรมถูกทำลายด้วยกระแสตะวันตก
เสาด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC- ASEAN Economic Community) มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด ซึ่งในเสาหลักนี้อาเซียนได้จัดทำ AEC Blueprint คือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่เท่าเทียม การลดช่องว่างระหว่างประเทศให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม เพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และเงินทุนเป็นไปอย่างเสรี ซึ่งในการเข้าสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ ประเทศไทยจะต้องดำเนินการใน 4 ด้าน ดังนี้
1. การสร้างฐานการผลิตร่วม เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี และทุนเสรี
2. การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยการปรับปรุงนโยบายด้านภาษี ปรับปรุงนโยบายการแข่งขัน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองผู้บริโภค มาตรฐานความปลอดภัย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
3. การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน โดยต้องลดช่องว่างระหว่างสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ และสนับสนุนการพัฒนา SMEs
4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกผ่านการทำความตกลงทางการค้า FTA กับประเทศนอกอาเซียน
อาเซียนมีเป้าหมายที่จะต้องดำเนินการยกเลิกภาษีสินค้าในบัญชีลดภาษี (Inclusion List) ให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน  โดยสมาชิกกลุ่มอาเซียน 6 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย จะต้องลดให้เสร็จสิ้นภายในปี 2553 (ค.ศ. 2010) และสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ (CLMV) ภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) ซึ่งทำให้ขณะนี้ภาษีสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยมีอัตราที่ร้อยละ 0 หมดแล้วตั้งแต่ปี 2553 ที่ผ่านมา
ในขณะที่สินค้าอ่อนไหวมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรจะมีภาษีที่อัตราร้อยละ 5 รวมทั้งได้มีการยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี(NTBs)  ซึ่งส่วนมากจะได้แก่มาตรการโควต้าภาษีของสินค้าเกษตร โดยที่ผ่านมาอาเซียนได้มีการดำเนินการเกือบจะมีความสมบูรณ์แล้วกว่าร้อยละ 99.5
สำหรับกรอบระยะเวลาการขจัดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ได้แก่ NTB ชุดที่ 1 คือมาตรการด้านสุขอนามัยของพืชและคน ซึ่งต้องยกเลิกตั้งแต่ ปี 2551 สำหรับ NTB ชุดที่ 2 คือ Technical Barrier จะต้องยกเลิกในปี 2552 ส่วน NTB ชุดที่ 3 คือ มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม จะต้องยกเลิกในปี 2553
สำหรับการเคลื่อนย้ายบริการเสรี เช่น สาขาโลจิสติกส์ได้กำหนดให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในปี 2551 เป็น 49% ปี 2553 เป็น 51% ปี 2556 เป็น 70% ส่วนการเคลื่อนย้านแรงงานมีฝีมือใน 7 อาชีพ จะต้องรักษาความสมดุลระหว่างแรงงานฝีมือไทยที่จะออกไปในอาเซียน และแรงงานฝีมืออาเซียนที่เข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์จากการรวมกลุ่มอาเซียนน้อยกว่า 40 % เนื่องจาก ยังมีปัญหาในเรื่องการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี 
หากพิจารณาถึงการส่งออก ปี 2535 มีมูลค่า 32,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ คิดเป็น 13.8% และในปี 2553 ได้ขยายมูลค่าเป็น 195,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 22.7% 
ในการรวมกลุ่มอาเซียนต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกัน ยอมรับคุณสมบัติ ในเรื่องแรงงาน มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม มาตรฐานอื่นๆ ในเวทีโลก
ไทยมีเอกลักษณ์ของประเทศ ต้องใช้เป็นจุดขาย เช่น มวยไทย ศิลปไทย การแกะสลัก การประดิษฐ์ ศิลปวัฒนธรรม แปลงเป็นสินค้าเชิงวัฒนธรรม เตรียมพร้อมเพื่อสร้างความเข้มแข็ง สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แสวงหาตลาดใหม่ และโอกาสทางการลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมไบโอพลาสติก และอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพ อุปกรณ์การแพทย์
การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนก่อให้เกิดทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ 1. ด้านการลงทุน ไทยอาจถูกแย่งการลงทุน การย้ายฐานการผลิต ซึ่งในด้านบวกเราต้องสร้างแรงจูงใจนักลงทุน ขยายการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมให้ไทยไปลงทุนในประเทศอาเซียนมากขึ้น 2. ด้านบริการ เช่น อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โทรคมนาคม อาจได้รับผลกระทบจากคู่แข่ง ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยว บริการด้านสุขภาพ ที่มีศักยภาพจะสามารถเคลื่อนย้ายแรงงาน ทุน และสร้างรายได้จากการเปิดเสรีมากขึ้น
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวในเวทีเดียวกันนี้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน การที่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  กำลังเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ASEAN Economic Community  ในปี พ.ศ. 2558   หรืออีกเพียง 3 ปีกว่าๆ ข้างหน้านี้เอง ทำให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อรองรับการรวมกลุ่มนี้ ผลทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น  เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก  มีสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศมารวมตัวกัน  มีประชากรรวมกันเกือบ 600 ล้านคน  มี GDP รวมกันสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ
นอกจากนี้อาเซียนเองก็ได้มีการขยายการทำความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA กับคู่ค้าที่สำคัญของโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ด้วย เป็นการขยายขนาดของตลาดไปอีกระดับหนึ่ง อาเซียนยังมีแนวคิดที่จะรวม FTA เหล่านี้เป็น  อนุภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นอีกที่เรียกว่า อาเซียน+โดยรวม จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เข้าด้วยกัน และอาเซียน + 6 ที่รวม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย เพิ่มอีก 3 ประเทศในอนาคต ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ว่าจะเข้าไปใช้  และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์สูงสุดจาก AEC ได้อย่างไร  
ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงพัฒนาปัจจัยสนับสนุน เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะสูงขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ไปพร้อมๆ กับการแสวงหาประโยชน์จาก AEC ตัวอย่างการเตรียมความพร้อมเหล่านี้ ได้แก่  การพัฒนากำลังคนภาคอุตสาหกรรมทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพ  และผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อยอดจากภาคเกษตร การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และการขยายฐานการผลิตไปสู่ประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะต้องสร้างเครือข่ายร่วมกันในการพัฒนา เพื่อให้เกิดปัจจัยสนับสนุนดังกล่าว
ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้จัดการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวในเวทีเดียวกันโดยตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะชะงักงัน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และยุโรป รวมทั้งประเทศจีน ที่มีนโยบายชะลอตัวเศรษฐกิจ เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ และญี่ปุ่นจากผลกระทบซินามิในต้นปี เศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งแรกขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีแนวโน้มครึ่งหลังที่จะขยายตัวแบบอ่อนแอ เริ่มมีการปรับลดตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจปีนี้จากร้อยละ 3 เป็น 2.6 และปีหน้าจากร้อยละ 3.4 เป็น 2.8 ประกอบกับตัวเลขการใช้จ่ายกำลังซื้อในสหรัฐที่ลดลง ทำให้บริษัทส่วนใหญ่ชะลอการลงทุน
ในยุโรปการขยายตัวเศรษฐกิจอ่อนกว่าที่คาดการณ์ อันเนื่องมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง และรัดเข็มขัดของรัฐบาลเพื่อลดปัญหาหนี้สาธารณะ ประกอบกับในปีนี้มีความไม่ชัดเจนของนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมหลักมากที่สุดเท่าที่เคยปรากฎ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรืออียู ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแนวทางการปัญหาและทิศทางเดินของนโยบายในระยะยาว ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ การลดหนี้ในอนาคต และความไม่ชัดเจนด้านนโยบายนี้จะส่งผลด้านการตลาดระหว่างประเทศ
ในระยะสั้น การวางทิศทางของนโยบายด้านการเงินการคลังของแต่ละประเทศต้องให้ความสำคัญต่อการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก
ในระยะยาว นโยบายที่มีผลต่อการเปลี่ยนเศรษฐกิจประกอบด้วย
1.  ความแตกต่างการขยายตัวเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศอุตสาหกรรมทั่วไปและประเทศตลาดเกิดใหม่
      2. การไหลเข้าของเงินทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่เป็นโอกาสที่ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการก่อหนี้ภาครัฐ การใช้จ่ายเกินตัว และภาวะฟองสบู่
3. การขยายเศรษฐกิจในตลาดอาเซียนหรือในเอเชีย ประเทศที่เน้นการส่งออกไปตลาดเดิม ควรหันมาขับเคลื่อนการใช้จ่ายภายในประเทศ และการส่งออกในภูมิภาคเดียวกันเอง ซึ่งจะเป็นการทำให้เศรษฐกิจไม่ชะงักงัน
นโยบายในการป้องกันความเสี่ยง ประกอบด้วย
1. แนวทางการสนับสนุนภาคเอกชนไทยให้ก้าวสู่อาเซียนโดยเน้นการสร้างฐานการผลิตในอาเซียน ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์ที่จำเป็น โดยการสนับสนุนด้านข้อมูล การติดต่อประสานงาน การสร้าง/หาบุคคลากรไทยให้มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิภาค
2. ระบบการเงินในประเทศจะต้องมีการปรับตัวเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs โดยการให้สินเชื่อบริการด้านการเงินกับธุรกิจ/สินเชื่ออย่างทั่วถึง นอกจากนั้นต้องส่งเสริมบทบาทของธนาคารพาณิชย์ไทยในการเพิ่มสาขาในตลาดประเทศให้การบริการธุรกิจและสร้างความมั่นคงให้กับผู้ประกอบการไทย
3. ธรรมาภิบาลในธุรกิจเอกชนของไทย ซึ่งต้องสร้างให้เกิดและเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการคัดเลือกธุรกิจไทยให้เป็นหุ้นส่วนไทยหรือพันธมิตรกับธุรกิจต่างชาติ เมื่อธุรกิจอาเซียนรวมกันเป็นตลาดเดียว
ปิดท้ายด้วย เวทีเสวนาใหญ่ OIE FORUM ด้วย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงความท้าทายในครั้งนี้อย่างน่าสนใจเช่นกันว่า
ประชากรเอเชียมีความสำคัญ โดยเฉพาะด้านแรงงานและเป็นตลาดของสินค้า โดยมีจุดเด่น คือ มีผู้บริโภคที่เป็นคนชั้นกลางจำนวนมาก โดยโครงสร้างของอายุประชากรในเอเชียเปลี่ยนแปลงมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประชากรวัยทำงาน การปันผลประชากรระลอกที่ 1 คือการเติบโตของประชากรวัยทำงานในชนชั้นกลาง และสูงสุดในปี 2050 ประชากรคนชั้นกลางในเอเชียจะมากที่สุดในโลก ส่งผลให้มีอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการมากขึ้นตามช่วงอายุ
โดยเอเชียจะเข้าสู่สังคมการบริโภคสินค้าและบริการเข้มข้น แต่ขณะเดียวกันจะเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ชนชั้นกลางสูง และชั้นกลางล่างที่มีรายได้ต่ำก่อให้เกิดความขัดแย้ง เช่น เหตุการณ์ในกลุ่มประเทศอาหรับ และประเทศอังกฤษ ในส่วนของภาครัฐต้องมีเตรียมพร้อมนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรโครงสร้างอายุ
การเข้าสู่การปันผลประชากรในระลอกที่ 2 คือ ประชากรวัยทำงานลดลง และประชากรสูงอายุมากขึ้น ปัญหาช่วงเวลาการทำงานลดลง ภาระการดูแลมากขึ้น การเกษียณก่อนกำหนด ซึ่งรัฐบาลควรวางแผนนโยบายส่งเสริมการออม ประกันชราภาพ ให้กับประชากรในภาคเกษตร และแรงงานนอกระบบ การให้ความรู้เรื่องการลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากเงินออม และการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงบัญชีประชาชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่าย และการออมในแต่ละช่วงอายุของประชากร หรือ National Transfer Account เพื่อแก้ปัญหาวัฏจักรการขาดดุลตามช่วงอายุ 
ดร.นิพนธ์ ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจอีกว่า หากพิจารณาความแตกต่างด้านประชากรในอาเซียน และแนวโน้มในอนาคตแล้ว      ในศตวรรษที่ 20 ประชากรเอเชียขยายตัว ในขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ลดลง ประเทศไทยมีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำกว่าอัตราการทดแทนประชากรเป็นระยะเวลานาน เกิดจากคนเอเชียแต่งงานช้า หรือไม่ได้แต่งงาน และการมีลูกน้อย และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าประชากรเอเชียในปี 2050 จะลดลงกว่า 1,000 ล้านคน โดยเฉพาะ เกาหลี ญี่ปุ่น จีน แต่อินเดีย ปากีสถาน จะมีประชากรเพิ่มขึ้นมากแทน
ในขณะที่เอเชียจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น และอัตราความเสี่ยงจากการเสียชีวิตของสตรีน้อยลง เนื่องจากมีสุขภาพที่ดีขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมวางแผนการลงทุนด้านมนุษย์และการเงินของบุคคลในระยะยาว
โดยสรุปแล้วการแบ่งประชากรเอเชีย แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่แก่ตัวแล้ว ญี่ปุ่น เกาหลี จีน กลุ่มที่กำลังแก่ตัว ไทย และกลุ่มที่ประชากรยังหนุ่มแน่น เช่น อินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ข้อกังวลของกลุ่มที่ 2,3 จะเกิดกรณีของประชากรจะแก่ตัวก่อนที่จะมีฐานะ ซึ่งจะเป็นภาระของรัฐบาลในอนาคต ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากร การปันผลประชากรต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจใน 2 ระลอก ช่วงแรกสัดส่วนของประชากรวัยทำงานมากขึ้น จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน
เนื่องจากอุปสงค์ต่อสินค้าเพิ่มขึ้น ชนชั้นกลางเป็นผู้ขับเคลื่อนการซื้อ เนื่องจากมีกำลังซื้อมากขึ้น ตลาดสินค้ามีการขยายตัว และมีความหลากหลายมากขึ้น ต้นทุนลดลงจากการขยายตัวของตลาดมากขึ้น และเป็นผู้ออมที่สำคัญ ในอีก 20 ปี อาเซียนจะมีคนชั้นกลางในระดับล่างและกลางเพิ่มขึ้น และช่วงสองจากประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น รัฐบาลต้องส่งเสริมการออม และการลงทุน เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชากรสูงอายุ ถ้าไม่มีการออม และการลงทุนที่เหมาะสม จะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ถดถอยได้ในอนาคต
และนี้คือความเข้มข้นของการเสวนาใหญ่ที่คั้นหัวกะทิทางวิชาการ เพื่อวิเคราะห์ในแง่ของโอกาสและความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า การเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า ณ ตอนนี้อยู่ที่ว่า ชาติใดในอาเซียนมีความพร้อมยิ่งกว่า เพื่อคว้าโอกาสทองในการชิงธงแห่งความเป็นผู้นำ
บทความจาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม