วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534


พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534
การค้าระหว่างประเทศโดยขนส่งทางทะเลของประเทศไทยนั้นมีมาอย่างยาวนาน และมีแนวโน้มมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมในเรื่องการขนส่งสินค้าทางทะเล ทำให้เมื่อมีข้อพิพาทขึ้นก็ทำให้เกิดความยุ่งยากทั้งต่อคู่กรณี ศาล หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่าจะใช้กฎหมายใดมาบังคับแก่ข้อพิพาทนั้นๆ ซึ่งทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มีความแน่ใจว่าสิทธิหน้าที่ของตนมีเพียงใด และเป็นการยากที่จะพิสูจน์ความรับผิดของคู่กรณี
ดังนั้น จึงมีการร่างพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 และประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2534 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 โดยที่พระราชบัญญัติฉบับนี้จะควบคุมการขนส่งทางทะเลที่มีความเกี่ยวเนื่อง กับประเทศไทย เช่น การขนส่งออกจากประเทศไทยไปสู่ต่างประเทศ หรือจากต่างประเทศนำเข้ามาในประเทศไทย และยังรวมถึงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ไม่ได้มีการนำเข้ามาหรือส่งออก จากประเทศไทย แต่ถ้าปรากฏว่าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือเป็นนิติบุคคล ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ก็ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับได้เช่นกัน ส่วนการขนส่งของทางทะเลภายในประเทศไทยนั้น ถ้าคู่สัญญาได้ตกลงกัน โดยทำเป็นหนังสือว่าให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับ ก็ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้มาบังคับได้
เนื่องจากในการขนส่งสินค้าทางทะเลนั้น บางครั้งอาจมีการเสียหายหรือสูญหายได้ เมื่อมีความเสียหายหรือสูญหายเกิดขึ้นขณะขนส่งสินค้า ก็จะมีประเด็นว่าผู้ขนส่งสินค้าจะต้องรับผิดหรือไม่? และจะต้องรับผิดเท่าใด? สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้จึง อยู่ที่ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้า เพื่อที่ทั้งผู้ส่งและผู้ขนส่งจะได้รู้ว่าฝ่ายใดจะต้องเป็นผู้รับผิดในความ เสียหายหรือสูญหายที่เกิดขึ้น
ความรับผิดของผู้ขนส่ง (หมวดที่ 4 มาตรา 39-50) ได้กล่าวถึงขอบเขตความรับผิดของผู้ขนส่ง ซึ่งความรับผิดของผู้ขนส่งนั้นเริ่มตั้งแต่เมื่อได้รับของมาจากผู้ส่ง จากมาตรา 39 วรรค 2 กำหนดให้ถือว่าของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่
1. ผู้ขนส่งได้รับมอบของไว้จากผู้ส่งของหรือตัวแทนผู้ส่งของ หรือ 2. ผู้ขนส่งได้รับมอบของจากเจ้าหน้าที่ คือกรณีที่กฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าต้นทางที่บรรทุกของลงเรือกำหนดให้ผู้ส่งของต้องมอบของที่จะขนส่งไว้กับ เจ้าหน้าที่ก่อน
ความรับผิดของผู้ขนส่งนั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อได้มีการส่งมอบของ ณ จุดหมายปลายทาง จากมาตรา 40 กำหนดให้ถือว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบของซึ่งตนได้รับไว้แล้ว ในกรณีต่อไปนี้
1. ผู้ขนส่งได้มอบของให้แก่ผู้รับตราส่งแล้ว
2. ในกรณีที่ผู้รับตราส่งไม่มารับของ ผู้ขนส่งได้จัดการตามที่กำหนดไว้ในสัญญารับขนของทางทะเล หรือตามกฎหมาย หรือประเพณีทางการค้าที่ถือปฏิบัติกันของท่าเรือปลายทางแล้ว
        3. ผู้ขนส่งได้มอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ซึ่งกฎหมาย ของท่าเรือปลายทางกำหนดให้ต้องส่งมอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ
ประเภทความรับผิดของผู้ขนส่ง
1. ความรับผิดในกรณีของสูญหาย หรือเสียหาย
2. ความรับผิดในกรณีของส่งมอบชักช้า
3. ความรับผิดของผู้ขนส่งนการกระทำของผู้ขนส่งอื่น
ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่ง (หมวดที่ 5 มาตรา 51-57)
ระบุว่าเมื่อมีความเสียหาย สูญหาย หรือส่งมอบชักช้า ในระหว่างที่ของนั้นอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง ผู้ขนส่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว แต่ก็มีข้อยกเว้นในกรณีที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของตน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นดังต่อไปนี้
        1. เหตุสุดวิสัย
2. ภยันตราย หรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเล เช่น เกิดพายุ
3. การสงครามหรือการสู้รบของกองกำลังติดอาวุธ
4. สงครามกลางเมือง การจลาจล การก่อการร้าย หรือ การก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง
5. การยึด จับ หน่วงเหนี่ยว แทรกแซงต่างๆที่กระทำต่อเรือโดยผู้มีอำนาจปกครองรัฐหรือดินแดนตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมาย แต่ทั้งนี้การนั้นต้องไม่เกิดขึ้นจากความผิดหรือ ประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่ง
6. การใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามโรคติดต่อ เช่น รัฐบาลสั่งกักเรือที่มาจากอีกประเทศหนึ่งเพื่อป้องกันโรคติดต่อ
7. การนัดหยุดงาน ปิดงานงดจ้าง การผละงาน หรือจงใจทำงานล่าช้าที่ท่าเรือ ซึ่งเป็นอุปสรรคแก่การบรรทุกขนถ่ายของหรือเป็นอุปสรรคแก่การที่เรือจะเข้า ออกจากท่าเรือนั้น
8. การกระทำของโจรสลัด ดั่งที่เราได้ยินข่าวการปล้นเรือของโจรสลัดแถบประเทศโซมาเลีย
9. ความผิดของผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่ง เช่น การบรรจุหีบห่อไม่แข็งแรง ไม่เหมาะสมกับของที่บรรจุ เครื่องหมายที่ห่อไม่ชัดเจนหรือไม่เพียงพอ
10. สภาพแห่งของนั้น เช่น สินค้าเป็นลูกเหม็นซึ่งระเหยไปเอง
11. ความชำรุดบกพร่องของเรือซึ่งไม่อาจพบเห็นได้ด้วยการตรวจสอบอย่างระมัดระวัง โดยใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรจะต้องใช้สำหรับผู้ประกอบอาชีพตรวจ เรือ
12. ความผิดพลาดในการเดินเรืออันเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่หรือตาม คำสั่งของผู้นำร่อง (บางประเทศกฎหมายกำหนดให้มีผู้นำร่องในการเดินเรือเข้าหรือออกจากท่า ซึ่งหากเรือถูกกัก หรือเกิดอุบัติเหตุ เพราะความผิดพลาดในการนำร่อง ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดชอบ)
13. เหตุอื่นใดที่ไม่ใช่ความผิดหรือความประมาทเลินเล่อหรืออยู่ในความรู้ เห็นของผู้ขนส่ง และมิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อของตัวแทนหรือลูกจ้างผู้ขนส่ง
ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดเมื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ซึ่งเกิดจาก
        1. อัคคีภัย เว้นแต่เกิดจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่ง หรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง
2. การช่วยเหลือชีวิตและทรัพย์สินในในทะเล แต่ยังต้องรับผิดในส่วนของตนในการเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป เช่น โยนของลงจากเรือเพื่อให้เรือเดินทางต่อไปได้
3. การขนส่งสัตว์มีชีวิต เว้นแต่ว่าผู้ขนส่งไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการขนส่งสัตว์นั้นจากผู้ส่งของ
        4. ผู้ส่งของไม่ได้แจ้งถึงสภาพและราคาของ ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในการสูญหายหรือสูญหาย แต่ถ้าหากได้แจ้งแล้วผู้ขนส่งจะรับผิดไม่เกินราคาที่ได้แจ้งไว้
ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งและการคิดค่าเสียหาย (หมวดที่ 6 มาตรา 58-61)
        1. ของที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหาย จำกัดความรับผิดที่
                i. 10000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง หรือ
ii. กิโลกรัมละ 30 บาท ของน้ำหนักสุทธิของของนั้น ทั้งนี้ให้ใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะมากกว่า
2. การส่งมอบของล่าช้า จำกัดความรับผิดที่ 2.5 เท่าของค่าระวางสินค้าที่ส่งมอบชักช้าแต่ต้องไม่เกินค่าระวางทั้งหมดตาม สัญญารับขนของทางทะเล