วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

The Volkswagen Aqua









ยกระดับโลจิสติกส์และซัพพลายเชนโรงพยาบาล

ยกระดับโลจิสติกส์และซัพพลายเชนโรงพยาบาล
เมื่อดีมานด์สินค้าไม่ได้อยู่ที่ลูกค้าหรือตัวผู้ป่วย แต่ถูกกำหนดด้วยการวินิจฉัยของแพทย์ ระบบซัพพลายแชนจึงมีลักษณะแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น กระบวนการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่นำมาใช้จึงต้องยืดหยุ่นและมีการแชร์ข้อมูลร่วมกันทั้งระบบ


โลจิสติกส์ในภาคอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยเรามีการพัฒนาไปค่อนข้างไกล แต่เมื่อมามองโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในโรงพยาบาลซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตกลับกลายเป็นแดนสนธยา
นักโลจิสติกส์ รศ. ดร. ดวงพรรณ กริชชาญชัย คฤงคารินทร์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ซึ่งได้เข้าไปศึกษาคลัสเตอร์การวิจัยด้านระบบโลจิสติกส์เพื่อการยกระดับการให้บริการสุขภาพและอนามัยของประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา Big Issue in Food & Healthcare Supply Chain Industry ซึ่งจัดโดยบริษัท ทีทีไอเอส จำกัด เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่าระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ใช้ในโรงงานอุตสาหรรมทั่วไปไม่สามารถนำมาปรับใช้ในโรงพยาบาลได้ถ้าไม่มีการ Re-engineering เนื่องจากเป็นการบริการที่คำนึงถึงสาธารณสุขและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการของตัวยาไม่ได้มาจากคนไข้หรือผู้ซื้อ แต่มาจากการตัดสินใจของแพทย์ ดังนั้นก่อนที่จะนำโลจิสติกส์และเทคโนโลยีไปใช้กับโรงพยาบาลจึงต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะของระบบซัพพลายเชนในโรงพยาบาลเสียก่อน

ระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนโรงพยาบาล 
จากต้นแบบกระบวนการซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอื่นที่รู้จักกันดีตั้งแต่ซัพพลายเออร์ผลิตวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานผลิตเป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูปหรือสินค้าสำเร็จรูป แล้วเคลื่อนย้ายไปเก็บในคลังสินค้า ก่อนที่จะกระจายสินค้าไปยังลูกค้า นักโลจิสติกส์ในอุตสาหากรรมมีความสามารถในด้านตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงมีการสื่อสารภายในผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ERP, RFID หรือระบบ Real Time และเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งเจ้าของสินค้าสามารถคาดการณ์สินค้าและสั่งสินค้าให้ผลิตตามที่คาดการณ์ดีมานด์จากผู้บริโภคได้
เมื่อนำต้นแบบนี้ประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาล พบว่าซัพพลายเออร์คือผู้ผลิตยา ส่งสินค้าไปยังศูนย์การแพทย์ (โรงพยาบาลหรือคลินิก) แล้วจึงจ่ายยาไปยังคนไข้ซึ่งเปรียบเป็นลูกค้า ซึ่งทางคณะวิจัยฯ ค้นพบว่า ไม่มีการแบ่งปันข้อมูลทางการแพทย์ (Medical Information) ซึ่งเปรียบได้กับข้อมูลสินค้า (Product Information) ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่น ข้อมูลของสินค้าสามารถปรากฏให้เห็นตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แต่เมื่อเป็นข้อมูลทางการแพทย์ เช่น ประวัติการรักษาของคนไข้ ที่มาของยา ปรากฏให้เห็นเฉพาะในโรงพยาบาลที่คนไข้รักษาเท่านั้น ไม่มีการแชร์ข้อมูลร่วมกันตลอดซัพพลายเชน และเมื่อไม่มีการปรากฏข้อมูลให้เห็นตลอดซัพพลายเชนจึงไม่ก่อให้เกิดเกิดประสิทธิภาพในซัพพลายเชน และนำไปสู่ปัญหาเรื่องความปลอดภัยของคนไข้
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการศึกษาซัพพลายเชนในโรงพยาบาลคือความทับซ้อนและความมีมิติ เมื่อคนไข้เข้าไปโรงพยาบาลไม่เหมือนกับการไปซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ ลูกค้าไม่ได้เป็นผู้กำหนดดีมานด์ แต่ถูกกำหนดโดย Clinical Care Process แพทย์จะเป็นผู้บอกได้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไรและจะรักษาคนไข้อย่างไร ดังนั้นกระบวนการจ่ายยาหรือสินค้าไม่ใช่ Customer Demand แต่เป็น Clinical Treatment Demand ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ผลิตเวชภัณฑ์ที่ผลิตยาให้กับโรงพยาบาล
เมื่อคำวินิจฉัยของแพทย์เป็นตัวกำหนดดีมานด์ในโรงพยาบาล ทำให้ใช้ระบบคลังสินค้าแบบปกติไม่ได้ เมื่อคนไข้คนหนึ่งเข้ามารักษาในโรงพยาบาล แพทย์มีการรักษาและการจ่ายยาที่แตกต่างกัน จึงต้องสร้างระบบซัพพลายเชนหนึ่งระบบ แล้วจึงประกอบกันเป็นซัพพลายเชนของโรงพยาบาลทั้งหมดซึ่งแตกต่างจากซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ
ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยเรื่องดีมานด์ที่แตกต่างกันเป็นตัวกำหนด สิ่งที่นักโลจิสติกส์สามารถทำได้คือสร้างซัพพลายเชนอย่าง Real Time Information นักโลจิสติกส์ต้องระบุข้อมูลให้ได้ทั้งหมด เช่น ยามีอะไรอยู่บ้าง จนถึงประวัติของคนไข้ แล้วนำข้อมูลเหล่านี้ส่งไปยังกระบวนการการรักษาเพื่อประกอบการตัดสินใจของ Clinical Care Process

3 ปัจจัยสู่ความสำเร็จ สร้างซัพพลายเชนโรงพยาบาล
จากปัญหาที่กล่าวมา คณะวิจัยฯ แนะนำว่าโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในโรงพยาบาลจะประสบความสำเร็จต้องมีปัจจัย 3 อย่างคือ
1. Identification การทำให้ Material ทุกอย่างที่ไหลในซัพพลายเชนบ่งชี้ได้ รวมถึง วัตถุ วัสดุ อุปกรณ์ทุกชนิด และคนไข้ ในปัจจุบันคนไข้ต่างยอมรับยาที่แพทย์สั่ง โดยไม่มีการการตรวจเช็คก่อนว่ายาที่ได้รับมาเป็นยาที่ถูกต้องหรือไม่ ในระหว่างการขนส่งมีการรักษาอุณหภูมิตามที่ต้องการหรือไม่ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับสุขภาพร่างกาย  
2. Traceability การทำให้ Material ทุกชนิดและข้อมูลทุกอย่างสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ เพื่อความปลอดภัยของคนไข้  
3. Process Efficiency และ Responsive คือการให้กระบวนการซัพพลายเชนมีประสิทธิภาพและตอบสนองอย่างรวดเร็ว มีการใส่ระบบเทคโนโลยีอื่นๆ เหมือนกับอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งในขณะนี้ระบบการจ่ายยาในโรงพยาบาลยังไม่แม่นยำเพียงพอและยังควบคุมไม่ได้

VMI พัฒนาระบบซัพพลายเชน
เมื่อคณะวิจัยฯ นำเอากระบวนการธุรกิจที่ใช้ในซัพพลายเชนอื่น คือ VMI (Vendor Management Inventory) มาศึกษาเปรียบเทียบกับระบบจ่ายยาในโรงพยาบาลพบปัญหาว่า การบันทึกยอดการใช้ยาในโรงพยาบาลควบคุมไม่ได้และไม่มีความแม่นยำ
ทั้งนี้เพราะการตัดยาถูกบันทึกในห้องจ่ายยาในแต่ละวอร์ด แทนที่จะเป็นจุดที่ผู้ป่วยรับยาไปจริงๆ จึงเกิดความคลาดเคลื่อนได้ เพราะคนไข้อาจจะไม่มารับยา ขอเปลี่ยนยาได้ ในขณะที่ในแวร์เฮาส์หรือคลังยาซึ่งทำหน้าที่จ่ายยาไปตามวอร์ดต่างๆ ไม่ทราบข้อมูลการเคลื่อนไหวตัวยาที่เกิดขึ้นในห้องจ่ายยา จึงใช้การคาดการณ์เองว่าจะต้องสั่งซื้อจากซัพพลายเออร์หรือผู้ผลิตยาจำนวนเท่าใด เมื่อมาถึงบทบาทของผู้ผลิตยาหรือซัพพลายเออร์จะกลายเป็นผู้รอรับคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาล จึงค่อยไปเติมสต็อคในคลัง การใช้ระบบ VMI ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลจึงไม่แม่นยำ เพราะยอดการใช้ยาไม่ถูกต้อง คาดการณ์ไม่ได้ รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ขั้นตอนอนุมัติงานนาน และเป็นงานเอกสาร

คณะวิจัยฯ แนะนำขั้นตอนการจัดทำ VMI ให้แม่นยำโดยวิธีการ 7 ข้อ ดังต่อไปนี้
      1.ตัดสต็อคยา ณ จุดจ่าย เมื่อจ่ายยาไปจริงเท่านั้น
2.Reconciliation ตรวจสอบจำนวนคงเหลือ ณ สิ้นวันกับจำนวนยาที่มีอยู่จริง
3.Data Synchronization เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างด้านหน้าที่จ่ายยากับคลังจ่ายยา
4.Drug Replenishment (DSS) ระบบ DSS คำนวณระดับการเติมยาของแต่ละห้องยา และเภสัชกรคลังยาสามารถมองเห็นสต็อคห้องยา และสามารถเติมยาได้
5.ปรับ Procurement Process ปรับขั้นตอนอนุมัติให้สั้นลง ทำสัญญาจะซื้อจะขาย Vendor มองเห็น ยอดคงเหลือยาและสามารถวางแผนการจัดส่งยาให้โรงพยาบาลได้
6.VMI Portal โดย VMI ครอบคลุมยาที่ทำสัญญาจะซื้อ มี portal สำหรับแชร์ข้อมูลสต็อค เพื่อให้ซัพพลายเออร์สามารถเสนอระดับการเติมยา
7.E-transaction มีระบบซื้อขายและสั่งยาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และสั่งยา รับเข้าผ่าน advance shipping notice (ASN)

ปฏิรูปกระบวนการซัพพลายเชนในโรงพยาบาล  
จากลักษณะซัพพลายเชนที่แตกต่าง คณะวิจัยฯ จึงทำเสนอโครงสร้างกระบวนการธุรกิจขึ้นใหม่ (Business Process Re-engineering) โดยอาศัยปัจจัย 3 ข้อที่กล่าวมาแล้วคือ Identification, Traceability และ Efficiency การแบ่งปันข้อมูลเวชภัณฑ์ร่วมกันถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานในซัพพลายเชนต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง
ในปัจจุบัน ยายังไม่สามารถระบุ Identification ได้ เมื่อจัดทำเป็น VMI ซัพพลายเออร์ไม่รู้ว่าโรงพยาบาลขาดยาอะไร ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับมหภาค เมื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนโค้ดยาให้เป็นรหัสสากลแล้ว จึงจะสามารถนำกระบวนการธุรกิจและเทคโนโลยีมาบริหารจัดการต่อไป
ดังนั้นคณะวิจัยฯ จึงทำโครงการต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานและโรงพยาบาลอื่น เช่น NECTEC, โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามา โรงพยาบาลในเครือกรุงเทพฯ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และสงขลานครินทร์ เพื่อกำหนดให้ยามีมาตรฐานโค้ดเดียวกันเรียกว่า GTIN 13 ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลยาทาง Clinical information, Logistics Information และ Professional Information ข้อมูลที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งปันร่วมกันตลอดทั้งซัพพลายเชน จนถึงสามารถตรวจสอบการย้อนกลับได้
ดร. ดวงพรรณ สรุปว่า ระบบซัพพลายเชนในโรงพยาบาลมีความซับซ้อน ไม่มีลักษณะตายตัวเนื่องจากอาการเจ็บป่วยและการสั่งยาให้คนไข้มีลักษณะเฉพาะตัว ระบบซัพพลายเชนที่นำมาใช้บริหารจัดการจะต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถรองรับลักษณะเฉพาะของซัพพลายเชนในโรงพยาบาล และสิ่งที่สำคัญในการเริ่มต้นปฏิรูประบบซัพพลายเชนในโรงพยาบาลได้ก็คือ การใช้โค้ดหรือรหัสยาสากลตลอดซัพพลายเชน