ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าให้สินค้า
ท่านผู้อ่านคงรู้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่ผ่านมาประชากรส่วนใหญ่ของชาติประกอบอาชีพกสิกรรมเป็นหลัก ต่างจากประเทศทางแถบยุโรปที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมมาเป็นร้อยปี
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะชาติยุโรปมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องลักษณะทางภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอากาศที่หนาวเย็น ทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด ต้องนำเข้าหรือออกไปแสวงหาปัจจัยในการดำรงชีวิตจากภูมิภาคอื่น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ทำให้ต้องมองหาวิธีการในการก้าวไปข้างหน้า ซึ่งคำตอบนั้นก็คือ การเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม
การเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมของยุโรป ทำให้มีความต้องการวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตจากภาคการเกษตร เพื่อนำมาแปรรูปเป็นจำนวนมหาศาล เกิดการลงทุนข้ามชาติหรือแสวงหาวัตถุดิบเพื่อมาป้อนภาคอุตสาหกรรมจากทุก ภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งในที่สุดก็ทำให้ชาติยุโรปกลายเป็นมหาอำนาจในปัจจุบัน
หลังจากที่มีการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการภายในแล้ว ก็เริ่มมองหาโอกาสในการขยายช่องทางธุรกิจ โดยการส่งออกสินค้าต่างๆ ออกไปจำหน่ายทั่วโลก และการจำหน่ายทั่วโลกนี้เอง ที่ทำให้ประเทศที่มีเกษตรกรรมเป็นหลัก ต้องเข้ามาร่วมวงในการปรับเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมไปด้วย
เหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากการไปสร้างฐานการผลิตในประเทศที่มีวัตถุดิบจะช่วยลดต้นทุนได้ มากกว่าที่จะนำเข้ามาเพื่อผลิตภายในประเทศ ทำให้ประเทศเกษตรกรรมกลายเป็นฐานการผลิตให้แก่ประเทศอุตสาหกรรมไปโดยปริยาย ไม่เพียงแค่นั้น แต่เรายังได้กลายเป็นผู้บริโภคที่จะว่าไปแล้วหลายครั้งที่เราต้องซื้อสินค้า ที่ใช้ทรัพยากรในประเทศ หากแต่ต้องซื้อหามาในราคาแพงกว่า เพียงเพราะมันถูกนำออกไปเพื่อเพิ่มมูลค่า แล้วนำกลับเข้ามาอีกครั้งในนามสินค้านำเข้า
แม้เราจะเคยภูมิใจกับยอดส่งออกสินค้าเกษตรที่ออกไปในรูปวัตถุดิบจากความต้องการ ในภาคอุตสาหกรรมของยุโรป แต่เมื่อมาคำนวณหาดุลการค้าก็พบว่า เราส่งออกไปสิบ เขานำไปแปรรูปกลับมาขายเป็นร้อยเป็นพัน ซึ่งดูไปแล้วก็ไม่ต่างจากยื่นดาบไปให้เขาฟันเราสักเท่าใดนัก
ประเทศ ไทยไม่มีพื้นฐานในการเป็นประเทศอุตสาหกรรม ดังนั้น ปัจจัยต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมก็ไม่มี เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตก็ต้องนำเข้า องค์ความรู้ด้านการผลิตก็ต้องจ่ายเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ (ทั้งการไปเรียนต่อ ทั้งการจ้างผู้เชี่ยวชาญ) น้ำมันก็ยังต้องนำเข้า ดังนั้น ต้นทุนของเราจึงสูงกว่าคู่แข่งที่สามารถควบคุมต้นทุนดังกล่าวได้ (แม้เราจะมีทรัพยากรมากมายก็ตาม)
อีกทั้งในปัจจุบันสถานการณ์เกี่ยวกับค่าแรงก็เปลี่ยนไปพอสมควร ประเทศไทยไม่อยู่ในฐานะที่มีแรงงานราคาถูกต่อไปอีกแล้ว แม้เราจะเคยได้ชื่อว่าเป็นแรงงานฝีมือดี แต่เรื่องของทักษะด้านแรงงาน เป็นสิ่งที่ฝึกกันได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราไม่สามารถบริหารต้นทุนให้ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ได้อีกต่อไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วเราจะหาทางออกกันอย่างไร
หลังจากมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่อง “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” หรือเรียกให้เท่ๆ ว่า “Creative Economy” ที่ภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลที่จะเข้าสู่การแข่งขันด้วย ปัญญา (แม้จะช้าไปเป็นสิบปี) โดยมุ่งให้เอกชนเพิ่มศักยภาพด้านธุรกิจ ในการแข่งขันกับนานาชาติ ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากความคิดสร้างสรรค์
ผมมองไปถึงเรื่อง การใช้คนเก่งในการทำงานมากกว่าการใช้คนจำนวนมากในการทำงาน เพราะทุกวันนี้ ใครที่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีกว่า ย่อมได้เปรียบคนที่ทำไม่ได้ เทคโนโลยี ความรู้ต่างๆ ในยุคนี้ เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ไม่ยากเหมือนในอดีต ดังนั้น ถ้าเราได้บุคลากรที่มีประสบการณ์ประกอบกับมีความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้สามารถจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลเป็นอย่าง ยิ่ง
ผู้ประกอบการที่รับจ้างผลิตสินค้าตามออร์เดอร์จะมีปัญหาหลัก ๆ เกิดขึ้น คือ ต้นทุน แม้จะพยายามลดต้นทุนในแต่ละขั้นตอนในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงาน วัตถุดิบ ฯลฯ สุดท้ายก็ยังมีปัญหา เพราะผู้ที่กำหนดต้นทุนที่แท้จริง คือ คนที่มาจ้างเราผลิตนั่นเอง
ผมขอยกตัวอย่างประเทศไต้หวัน ที่เคยเป็นผู้รับจ้างผลิตเหมือนเรา แต่ได้ปรับตัวไปเป็นรับจ้างออกแบบ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า แทนที่จะไปลดต้นทุนให้ต่ำลง ซึ่งทำไม่ได้แล้ว เพราะลดทุกส่วนจนไม่รู้จะลดส่วนไหนอีก ถ้าลองนึกภาพดูจะเห็นสินค้าที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ดีไซน์แปลก ๆ งง ๆ ประเภทว่าคิดได้ไง มาจากไต้หวันวางกันให้เกลื่อน แต่ก็ขายได้ราคากว่าคอยรับจ้างผลิตเหมือนก่อน
นอกจากการเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบแล้ว ไต้หวันยังพัฒนาไปอีกขั้น ด้วยการสร้างแบรนด์ เพื่อให้เกิดการยอมรับและสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก โดยทุกอย่างจะผ่านการคิด ผลิต และจำหน่ายเอง ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง อาทิ คอมพิวเตอร์ยี่ห้อ เอเซอร์ ที่ถือว่าได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้ไม่น้อย ก็เป็นผลิตผลจากแนวความคิดดังกล่าว
ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจนะครับว่าแนวคิดของธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ของบ้านเราจะไปได้ไกล ถึงขั้นไหน จะอย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นนักออกแบบ ก็ขอเอาทั้งแรงใจแรงกาย ช่วยให้ประเทศไทยมีแบรนด์ดังๆ ที่คนทั่วโลกยอมรับมาก ๆ นะครับ