วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ห่วงโซ่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


โกศล ดีศีลธรรม
Koishi2001@yahoo.com


       โลกทุกวันนี้เผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมจนลุกลามเป็นภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่ส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติ ทำให้องค์กรทั่วโลกและผู้ประกอบการไทยเองต่างให้ความร่วมมือแก้ปัญหาดังกล่าวซึ่งเป็นประเด็นคู่กับสังคมโลกอีกนาน อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคชาวจีนกว่า 3,000 คน โดยมหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) พบว่ากว่า 73% ของผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าจากบริษัทที่มีศีลธรรมและเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม กว่า 50% เห็นว่าบริษัทท้องถิ่นในประเทศ (Domestic) มีระดับความรับผิดชอบต่อสังคมระดับพอใช้ได้
ขณะที่ 30% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าบริษัทท้องถิ่นในประเทศจีนมีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ระดับที่น่าพอใจ ส่วนบริษัทข้ามชาติถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีความรับผิดชอบและคืนกำไรให้สังคมมากกว่าบริษัทท้องถิ่น ศาสตราจารย์ Zhao Shuguang แห่ง Tsinghua Media Survey Lab เปิดเผยว่า บริษัทข้ามชาติมักได้เปรียบบริษัทจีนทั้งในแง่การจัดการ เทคโนโลยี เงินทุนและการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่บริษัทจีนจะตามทันการทำ CSR ของบริษัทเหล่านี้
ความปลอดภัยของสินค้าเป็นประเด็นทาง CSR สำคัญอันดับ 1 ที่ผู้บริโภคจีนคำนึงถึงและมีผลต่อภาพลักษณ์เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของเหล่าผู้ผลิตจีนอย่างมาก ตามมาด้วยเรื่องผลกระทบจากการผลิตที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ความสนใจในเรื่องความโปร่งใสในการบริหารงานนั้นมาเป็นอันดับสาม ดังนั้นสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง P&G และผู้ผลิตน้ำดำอย่าง Coca-Cola เป็นสองแบรนด์แรกที่ผู้บริโภคจีนเห็นว่าใช้หลักความรับผิดชอบต่อสังคมในการดำเนินธุรกิจมากที่สุด หากกล่าวถึงสินค้ากลุ่มยานยนต์พบว่า Volkswagen ผู้ผลิตรถยนต์เยอรมันมีความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตามแนวโน้มที่น่าสนใจคือ องค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งในเอเชียกำลังให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนและตั้งเป้าหมายที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ทิศทางกิจกรรม CSR มุ่งประเด็นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและส่งผลให้องค์กรต้องพัฒนากระบวนการที่สอดคล้องกับห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) ทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาทุ่มเม็ดเงินลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานทางเลือกมากขึ้นเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมาการบริหารห่วงโซ่อุปทานได้สนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ผลการพัฒนาดังกล่าวได้นำมาซึ่งความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมและเกิดกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่มา ห่วงโซ่อุปทานสีเขียว โดยเฉพาะประเด็นการควบคุมมลพิษและของเสียที่ถูกปล่อยออกจากกระบวนการห่วงโซ่อุปทาน เช่น การลดไอเสียจากรถขนส่ง การขนส่งช่วงเวลากลางคืน (เพื่อไม่ให้เกิดจราจรติดขัด) รวมถึงการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์เพื่อขจัดขยะและลดของเสีย เป็นต้น
รูปที่ 1 กรอบแนวคิดห่วงโซ่อุปทานสีเขียว

การบริหารจัดห่วงโซ่อุปทานสีเขียวจึงเป็นแนวคิดใหม่เพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้องค์กรดำเนินการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับคู่ค้า สะท้อนว่าสิ่งที่ธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจไม่ใช่เพียงแค่ผลกำไรหรือส่วนแบ่งการตลาดแต่ยังมุ่งรักษาสมดุลของโลกและสร้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือกันระหว่างคู่ค้ากับผู้ส่งมอบต้องดำเนินการสอดคล้องกับแนวคิดรักษาสิ่งแวดล้อม การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมอาจแสดงด้วยการตรวจสอบและออกใบรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อมอย่าง ISO14001 ให้กับผู้ผลิตหรือคู่ค้า ดังกรณีโตโยต้าผลักดันให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนและกลุ่มผู้ให้บริการกับโตโยต้าดำเนินการพัฒนาระบบคุณภาพให้ได้ใบรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากกิจกรรมบำรุงรักษาจึงผลักดันให้ศูนย์บริการและตัวแทนจำหน่ายดำเนินการพัฒนาให้ได้ใบรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14001 โดยทั่วไปองค์กรมีความพยายามลดความสูญเปล่าเพื่อสร้างผลกำไรและความสามารถการแข่งขันที่มีผลต่อการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
การลดความสูญเปล่าจะส่งผลโดยตรงต่อการลดมลภาวะอากาศ น้ำและที่ดิน โดยมุ่งแนวคิดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบจนกระทั่งหมดอายุการใช้งานหรือเรียกว่านิเวศวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Ecology) เช่น การใช้วัสดุที่เป็นพิษหรือวัสดุที่ใช้พลังงานแปรรูปน้อยที่สุด การใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สะดวกต่อการซ่อมแซมอย่างกรณี BMW ได้ออกแบบรถยนต์โดยชิ้นส่วนย่อยตลอดทั้งคันสามารถทำการถอดแยกและถูกนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งส่งผลต่อการลดความสูญเปล่า แนวคิดการลดความสูญเปล่าจึงครอบคลุมทุกกระบวนการตั้งแต่ การออกแบบ การผลิต การกระจายสินค้าและดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางประหยัดการใช้วัสดุและพลังงานด้วยการนํากลับมาใช้ใหม่   กระบวนการลดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

รูปที่ 2 ปัจจัยสร้างความสูญเสียให้สิ่งแวดล้อม

* การรีไซเคิล (Recycle) คือการแยกชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ออกตามประเภทวัตถุดิบและนำวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยกระบวนการแปรรูปซึ่งนอกจากลดปริมาณขยะแล้วยังลดการใช้พลังงานและมลพิษที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม เช่น การรีไซเคิลเครื่องพิมพ์ (Printer) โดยทั่วไปเครื่องพิมพ์ 1 เครื่องประกอบด้วยพลาสติกราว 48% โลหะเหล็ก 33% โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก 9% และวัสดุอื่น ๆ ราว 10% ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไปจำหน่ายประเทศเครือสหภาพยุโรป จะต้องผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อลดการใช้ทรัพยากรโลกและบรรเทาสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นการช่วยรักษาสมดุลอุณหภูมิโลก โดยมีความพยายามนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ผ่านกระบวนการผลิต ดังกรณี JVC ตั้งเป้าหมายการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิลพลังงานที่สูญเปล่าในกระบวนการผลิตราว 99%
ผลิตภัณฑ์ทุกหมวดถูกออกแบบและผ่านกระบวนการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม เรียกว่าว่าผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) เป็นการนำวัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลมาผลิตใหม่เพื่อลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งส่วนของอะไหล่และชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตทางเจวีซี (JVC) ได้กำหนดนโยบายการกำจัดขยะถึง 6 ขั้นตอนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าทางเจวีซีควบคุมการผลิตตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำและผ่านกระบวนการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้ผลิตเครื่องถ่ายเอกสารชั้นนำอย่างริโก้ (RICOH) มุ่งมั่นที่จะลดปริมาณการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งลดการใช้วัสดุในกระบวนการผลิตเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Packaging) ที่ใช้กระดาษแข็งแบ่งเป็นชั้นและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ถึง 98% ด้วยการนำไปรีไซเคิลในส่วนโครงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก
* การใช้ซ้ำ (Reuse) หมายถึง การนำผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ซึ่งถูกใช้งานแล้วและพร้อมเข้าสู่ช่วงการนำกลับมาใช้ใหม่ทั้งในรูปผลิตภัณฑ์เดิมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การนำถุงพลาสติกมาใส่ของหรือใช้เป็นถุงขยะ การนำยางรถยนต์มาทำเก้าอี้ การนำขวดพลาสติกมาดัดแปลงเป็นที่ใส่ของ เป็นต้น แนวคิดการออกแบบเพื่อการนำกลับมาใช้ซ้ำ(Design for Reuse) ได้มุ่งออกแบบให้ผลิตภัณฑ์แต่ละรุ่นมีชิ้นส่วนที่ใช้ร่วมกันได้ นั่นคือ เมื่อผลิตภัณฑ์รุ่นแรกหยุดการผลิตแล้วยังสามารถเก็บคืนและนำบางชิ้นส่วนมาใช้ในการผลิตรุ่นต่อไปได้
ส่วนสายการประกอบรถยนต์นั้นถุงมือผ้าจัดเป็นของเสียซึ่งการนำไปกำจัดนั้นยังคงเป็นการส่งไปเป็นพลังงานทดแทนเสริมในเตาปูนซิเมนต์ แต่ทางผู้ผลิตรถยนต์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการลดปริมาณถุงมือผ้านี้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสายการผลิตและการทำงานของพนักงานจึงได้ทดลองนำถุงมือผ้าไปซักในโรงงานที่ได้มาตรฐานและผ่านกระบวนการทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาให้พนักงานใช้ใหม่ ส่งผลให้เกิดการลดปริมาณการใช้ถุงมือผ้าใหม่ถึง 36%
รูปที่ 3 กระบวนการนำกลับมาใช้

* การนำมาผ่านกระบวนการผลิตใหม่ (Remanufacturing) คือ กระบวนการที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้งานหรือชิ้นส่วนที่ล้าสมัยเพื่อนำมาถอดแยก (Disassembly) และเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยผลิตผลหรือชิ้นส่วนที่ผ่านกระบวนการจะถูกนำมาตบแต่งและประกอบใหม่ (Reassembly) ที่ยังคงรูปแบบผลิตภัณฑ์เดิม แนวทางดังกล่าวแตกต่างกับการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ โดยเฉพาะการไม่ลดคุณค่าชิ้นงานหลังผ่านกระบวนการ (Value-Added Recovery)

   
รูปที่ 4 ขั้นตอนกระบวนการผลิตใหม่ (Remanufacturing)

ด้วยเหตุนี้แนวคิดห่วงโซ่อุปทานสีเขียวได้สนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประเด็นการพิจารณาจัดซื้อและการบริหารความสัมพันธ์ระยะยาวกับผู้ส่งมอบซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยให้เศรษฐกิจเกิดการขับเคลื่อนตามแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่วนประเด็นการบริหารธุรกิจมองว่าระบบห่วงโซ่อุปทานสีเขียวสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันและภาพลักษณ์ให้กับองค์กรธุรกิจ (Corporate Image) การพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียวส่งผลให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจและสามารถลดต้นทุนห่วงโซอุปทาน ปัจจุบันองค์กรชั้นนำทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชนเริ่มดำเนินโครงการห่วงโซ่อุปทานสีเขียว โดยจำแนกแนวทางดำเนินการ ดังนี้
         1.  การสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์สีเขียวโดยให้ความสําคัญกับบทบาทผู้ส่งมอบเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และดําเนินการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังกรณีบริษัทปูนซีเมนต์ไทยสนับสนุนให้ธุรกิจในเครือผ่านการรับรองระบบจัดการสิ่งแวดล้อมและร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจัดทำโครงการนำร่องห่วงโซ่อุปทานสีเขียวเพื่อช่วยพัฒนาปรับปรุงศักยภาพให้กับผู้ส่งมอบขนาดกลางและขนาดเล็กให้ดำเนินการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่เป็นการเพิ่มต้นทุนและดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment) เพื่อประเมินการใช้ทรัพยากรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก
         2.  การปรับปรุงผลการปฏิบัติงานเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้ความสําคัญกับผลการปฏิบัติงานภายในของผู้ส่งมอบและลดความเสี่ยงของลูกค้าในการซื้อสินค้า รวมทั้งลดต้นทุนรวม ทำให้มีความจำเป็นที่องค์กรผู้ผลิตหลัก (Maker) และเครือข่ายผู้ส่งมอบต้องคำนึงถึงการรับรองมาตรฐาน ISO14000 เพื่อให้เกิดกระบวนการที่มุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

รูปที่ 5 แนวคิดประเมินวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (LCA)

กรณีบริษัทโตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้กลยุทธ์ CSR ผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและแนวคิดนวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลกสีขาว (Green Innovation for White World) เป็นไปตามกระแสการตื่นตัวทั่วโลกที่คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีในตัวสินค้าให้มีความทันสมัยและคุณภาพการใช้งาน กิจกรรม CSR ที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ คือ การปลูกป่าให้ครบ 150 ล้านต้นภายในปี 2010 เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรักษาสมดุลธรรมชาติไว้ให้คงอยู่ 
การประกวดศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต โทรทัศน์ทางไกลเพื่อการศึกษาร่วมกับพระราชวังไกลกังวลและกิจกรรมเพื่อเด็ก โตชิบาใช้งบกว่า 400 ล้านบาท เพื่อทยอยปรับสายการผลิตสินค้าใหม่ โดยใช้วัตถุดิบที่ไม่ทำลายธรรมชาติและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ภายใต้แคมเปญ "นวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลกสีขาว" ผลิตภัณฑ์โตชิบาจะยึดหลัก 3R คือ Reduce, Reuse และ Recycle เพื่อนำไปแปรสภาพกลับมาใช้ได้อีก ตัวอย่างสินค้าสีเขียวของโตชิบา เช่น ตู้เย็นรุ่นลลิมเลดี้มีการพัฒนาฉนวนกันความร้อนพิเศษที่บางลงทำให้มีการใช้วัสดุพื้นผิวตู้เย็นลดลงเมื่อถูกทิ้งก็จะก่อขยะน้อยกว่าตู้เย็นทั่วไป
ขณะเดียวกันยังคงมาตรฐานประหยัดไฟเบอร์ 5 ช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดค่าไฟหรืออย่างแอลซีดีทีวี Regza ได้มีการพัฒนาให้เบาลง 30% นอกจากจะลดวัสดุที่ใช้ผลิตแล้วยังลดวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์และกินไฟลดลง 30% ขณะที่เครื่องซักผ้ามีฟังก์ชัน Zero Standby Power สามารถตัดระบบไฟฟ้าออกจากวงจร เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ขณะที่เสียบปลั๊กเครื่องซักผ้าทิ้งไว้โดยเครื่องไม่ทำงาน หากเป็นเครื่องซักผ้าธรรมดาเมื่อไม่ใช้งานแต่เสียบปลั๊กไว้จะกินไฟหรืออาจเกิดความร้อนทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสียหายได้
ส่วนบริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) ยึดถือหลักการบริหารจัดการ โดยขอเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และได้รับความไว้วางใจจากคนในสังคมที่ได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ เมื่อบริษัทเด็นโซ่ เข้ามาตั้งกิจการในประเทศไทยจึงมีแนวคิดที่จะอุทิศให้กับสังคมไทย แนวคิดการทำ CSR ต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยและสร้างให้เกิดผลกระทบอย่างสร้างสรรค์ต่อสังคมไทย บริษัท เด็นโซ่ มีแนวคิดว่าหากไม่เข้าใจวัฒนธรรมไทยจะทำให้องค์กรธุรกิจนั้นไม่สามารถทำกิจกรรม CSR อย่างยั่งยืนได้ เพราะอาจได้เพียงแค่สร้างภาพลักษณ์ระยะสั้น แต่ไม่สร้างให้เกิดจิตสำนึกปลูกฝังในจิตใจ ทำให้การทำ CSR ไม่ยั่งยืนอย่าง การรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่ขาดไม่ได้สำหรับธุรกิจภาคการผลิต  บริษัท เด็นโซ่ จำแนกแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนี้
         1.  ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Friendly) เป็นโครงการสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานรัฐหรือองค์กรอิสระในการร่วมส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมื่อสังเกตแต่ละโครงการของบริษัท เด็นโซ่ ในการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บริษัท เด็นโซ่ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน โดยทำโครงการผ่านการปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชน เช่น โครงการเยาวชน เด็นโซ่ ผู้พิทักษ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม (DENSO YOUTH for EARTH Action Project) มีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกับโครงการทศวรรษแห่งการศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สนับสนุนโดยองค์การสหประชาชาติเพื่อสร้างจิตสำนึกและสร้างสังคมที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืน
โครงการปีแรกมีนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจำนวน 20 คน จากประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยได้ผ่านการรับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ณ ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 14 วัน รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนของชาติเห็นความสำคัญการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างการคัดแยกขยะและนำผลกำไรจากธนาคารขยะรีไซเคิลเป็นทุนสนับสนุนการเรียนการสอนในโรงเรียนต่อไป นอกจากนั้นยังสนับสนุนศูนย์ฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยจัดกิจกรรมปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนเพื่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนากระบวนการ เรียนรู้ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนและชุมชน ณ โรงเรียนวัดสระจระเข้ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เพื่อเผยแพร่ความรู้และปลูกจิตสำนึกให้นักเรียน คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาสิ่งแวดล้อม
         2.  การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (Eco Management) เป็นโครงการขยายผลสู่คู่ค้าโดยใช้นโยบายการจัดซื้อ จัดหาวัตถุดิบ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้ผู้ส่งมอบจัดตั้งระบบจัดการสิ่งแวดล้อม เด็นโซ่ได้กำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมเรียกว่า “Eco Stage” เพื่อเป็นแนวทางให้คู่ค้าหรือผู้ส่งมอบ (Supplier) ดำเนินการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการน้ำเสีย การจัดการของเสีย อันตราย เป็นต้น โดยใช้ประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ส่งมอบวัตถุดิบด้วย หลังประกาศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ทางเด็นโซ่ได้เชิญตัวแทนของผู้ส่งมอบเยี่ยมชมระบบจัดการสิ่งแวดล้อมของเด็นโซ่ ทำให้ผู้ส่งมอบของเด็นโซ่ส่วนใหญ่สามารถดำเนินการผ่านข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมของเด็นโซ่ (Eco Stage) ในปี 2006 กำหนดให้ผู้ส่งมอบเลิกใช้สารอันตรายที่เป็นส่วนประกอบในวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน
เด็นโซ่ได้กำหนดนโยบายและกรอบเวลาให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยกเลิกใช้สารอันตราย คือ ปรอท ตะกั่ว โครเมียม และแคดเมียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบอยู่ในวัตถุดิบและอุปกรณ์ชิ้นส่วนภายในปี 2010 ทำให้การพิจารณาจัดซื้อจากผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหม่ต้องคำนึงถึงการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยคัดเลือกเฉพาะผู้ส่งมอบที่ผ่านเกณฑ์ของเด็นโซ่เท่านั้น  นโยบายการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของเด็นโซ่แสดงถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าบริษัทเด็นโซ่ต้องการคู่ค้าที่มีนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานเพื่อแสดงให้ลูกค้าทราบว่าวัตถุดิบที่เด็นโซ่นำมาผลิตสินค้ามาจากแหล่งผลิตที่มีระบบจัดการที่มีคุณภาพและปราศจากสารพิษ
         3.  โรงงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco Factory) โดยทำโครงการที่มุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตอย่าง โครงการปล่อยของเสียให้เป็นศูนย์ (Zero Emission) ที่นำของเสียจากกระบวนการผลิตไปรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์แทนการฝังกลบ (Landfill) อย่างการนำของเสียไปรีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิงหรือวัสดุทดแทน โดยคำนึงถึงผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองจึงกำหนดเป้าหมายลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุที่เกิดภาวะโลกร้อน ทำให้เด็นโซ่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกากของเสียอันตรายจากกระบวนการผลิต รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและลดผลกระทบที่เกิดต่อสุขอนามัยของพนักงาน โดยเฉพาะสารระเหยประเภท Xylene, Toluene ที่อยู่ในสีทินเนอร์
บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะลดกากของเสียอันตรายให้ได้ 75% การลดใช้น้ำเนื่องจากคาดการณ์ถึงแนวโน้มความต้องการทรัพยากรน้ำของภูมิภาคเอเชียในอนาคต บริษัทจึงคำนึงถึงความจำเป็นในการประหยัดใช้น้ำ โดยกำหนดเป้าหมายลดการใช้น้ำ 15% ภายในปี 2010 (เทียบกับปี 2005) ด้วยหลักการ Reduce และ Reuse
         4.  โลจิสติกส์ (Rationalization Logistics) โดยปรับปรุงการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Returnable Box) แทนการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกล่องกระดาษที่ใช้ได้ครั้งเดียว เด็นโซ่ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2001 เมื่อปี 2005 กลุ่มบริษัท เด็นโซ่ สามารถลดการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษหรือไม้ทั้งหมด ประมาณ 107 ตัน
         5.  ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Product) เด็นโซ่มีนโยบายลดสารอันตรายที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะสารอันตราย 4 ชนิดได้แก่ ปรอท, ตะกั่ว, โครเมียม (6+) และแคดเมียม บริษัทกำหนดเป้าหมายการยกเลิกสารอันตรายทั้งหมดในปี 2007 เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม สายผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย ระบบปรับอากาศรถยนต์ ระบบควบคุมเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนจักรยานยนต์และเครื่องจักรในงานก่อสร้าง โดยจัดหาชิ้นส่วนให้กับลูกค้าเพื่อตอบสนองความต้องการ รวมถึงการทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถรักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้วัตถุที่สามารถนำไปรีไซเคิลและไม่ใช้วัตถุมีพิษ
รูปที่ 6 แนวคิดออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Design for Environment)

องค์กรที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้นำด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจระยะยาวอย่าง โคคา-โคลา ผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมรายใหญ่ระดับโลก ประกาศว่า "Water Stewardship" (การพิทักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ) คือ หัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เนื่องจากน้ำเป็นวัตถุดิบในการผลิตที่สำคัญที่สุดของโคคา-โคลา ใช้น้ำปริมาณมหาศาลจากแหล่งน้ำทั่วโลก (300,000 ล้านลิตรต่อปี) ถ้าหากไม่สนใจหรือมองข้ามปัญหาทรัพยากรน้ำร่อยหรอที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาวะโลกร้อน นั่นคือ อนาคตข้างหน้าโคคา-โคลา อาจไม่สามารถทำธุรกิจเดิมได้เมื่อไม่มีน้ำหรือราคาน้ำอาจแพงมากจนไม่คุ้มค่าที่จะผลิตน้ำอัดลมขายได้ ด้วยเหตุนี้โคคา-โคลา ได้ส่งเสริมและอุดหนุนมาตรการพิทักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำทั่วโลกทุกระดับตั้งแต่ระดับภูมิภาค ระดับประเทศไปจนถึงระดับท้องถิ่น โดยมีมาตรการให้ชุมชนมีบทบาทร่วมดูแลรักษาแหล่งน้ำและคุณภาพชีวิตที่ดี
เนื่องจากหากชุมชนต้นน้ำในชนบทอยู่ไม่ได้ที่สุดแล้ว"ชุมชนปลายน้ำ" ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือบริษัทก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ไม่ใช่เพราะโคคา-โคลา เป็นบริษัทที่อยากทำดีเพื่อสังคมโดยไม่คิดถึงตัวเอง แต่เป็นเพราะตระหนักแล้วว่าความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเงื่อนไขจำเป็นต่อความอยู่รอดระยะยาว อันที่จริงหนทางของโคคา-โคลายังอยู่อีกยาวไกลก่อนที่จะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ชุมชนท้องถิ่นและเอ็นจีโอส่วนใหญ่ว่าเป็นบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่มุ่งแต่สร้างภาพเท่านั้น ในปี 2007 บริษัทประกาศเป้าหมายที่จะเป็นบริษัท "Water Neutral" หมายถึงชดเชยน้ำที่ใช้ไปในการผลิต 100% กลับคืนสู่แหล่งน้ำ โดยสร้างมาตรการต่าง ๆ  ด้วย 3R  ได้แก่ Reduce, Recycle, Replenish ร่วมกับ World Wildlife Fund (WWF)
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญกว่านั้น คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาระดับท้องถิ่น ไม่ใช่ปัญหาระดับโลกเหมือนกับปัญหาการปล่อยคาร์บอน นั่นคือ บริษัทที่ปล่อยคาร์บอนมากสามารถไปซื้อ Carbon Offset เมืองอื่นหรือประเทศอื่นเพื่อเป็น Carbon Neutral ได้ เพราะการบรรเทาปัญหาขึ้นอยู่กับผลรวม เช่น ทั้งโลกต้องลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ x ตันแต่ละปี เป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับรายละเอียดว่าจะไปลดคาร์บอนที่ไหนบ้างแต่ทำแบบนี้กับเรื่องน้ำไม่ได้ ถ้าโรงงานบรรจุขวดของโคคา-โคลา ในรัฐเคราลาประเทศอินเดียใช้น้ำมากจนเบียดบังชาวบ้าน ทำให้พวกเขาเดือดร้อนเพราะไม่มีน้ำใช้ โคคา-โคลา ต้องชดเชยน้ำที่โรงงานนั้นเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ไม่สามารถไปชดเชยน้ำที่ประเทศอื่นเพื่อแก้ปัญหาของชาวอินเดียได้
ปัญหาการขาดแคลนน้ำบาดาลในเคราลาหลังจากที่โคคา-โคลา เปิดโรงงานบรรจุขวด รวมทั้งผลการตรวจสอบพบสารฆ่าแมลงในผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นสาเหตุหลักที่รัฐบาลประกาศห้ามการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โคคา-โคลา เมื่อต้นเดือนกันยายนปี 2006 ก่อนที่จะถูกศาลตัดสินให้ยกเลิกคำสั่งในปลายเดือนเดียวกันหลังจากที่บริษัทยื่นประท้วงต่อศาล แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกสักพักก่อนที่โคคา-โคลา จะสามารถพิสูจน์ความจริงใจในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม การมองความรับผิดชอบดังกล่าวว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อธุรกิจระยะยาวจัดเป็นแนวคิดที่ดีกว่าการอ้างตัวว่าเป็นบริษัทที่ดีตามระเบียบหรือกฎหมายข้อบังคับ
แม้ว่าประเด็นการจัดซื้อสีเขียว (Green Purchasing) เป็นประเด็นที่กล่าวถึงไม่นาน ผลสำรวจการจัดซื้อสีเขียวในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีองค์กรราว 30% เริ่มดำเนินการจัดหาจัดซื้อที่มุ่งความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม หากการจัดซื้อสีเขียวเชื่อมโยงกับปัจจัยเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวของธุรกิจย่อมนำไปสู่ผลประกอบการที่ดีขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการจัดซื้อสีเขียว การสร้างกระบวนการจัดซื้อสีเขียวต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและครอบคลุมถึงผลกระทบการตัดสินใจทั้งระบบ คงไม่ใช่เพียงคิดแค่การกดราคาผู้ส่งมอบเท่านั้น ดังกรณีหลอดประหยัดไฟแบบ 23 วัตต์ ราคาประมาณ 180 บาทแพงกว่าหลอดธรรมดา 100 วัตต์ที่มีราคาเพียง 20 บาท
แต่หากมองเรื่องความคุ้มค่าแล้วหลอดประหยัดไฟซึ่งมีอายุใช้งานมากกว่าหลอดธรรมดาถึงราว 10 เท่า ขณะที่ค่าไฟถูกกว่าราวสามเท่าย่อมทำให้การเปลี่ยนมาเป็นหลอดประหยัดไฟย่อมถูกกว่าหลอดธรรมดามาก หากพิจารณาราคาอย่างเดียวย่อมทำให้การตัดสินใจกระบวนการจัดซื้อสีเขียวสวนทางกับเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์? ถ้าคิดถึงผลกระทบทั้งระบบจะพบว่าเกิดค่าใช้จ่ายแฝงในการกำจัดของเสีย รวมทั้งการจัดซื้อสีเขียวยังสนับสนุนการสร้างภาพพจน์องค์กรหรือตราสินค้าด้วย
อย่างกรณีร้านกาแฟสตาร์บัค เดิมกาแฟกับสิ่งแวดล้อมแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่สตาร์บัค มุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายกาแฟตลอดและผนวกความพยายามดังกล่าวไว้ในการสร้างแบรนด์อย่างเป็นระบบ โดยล่าสุดได้มีการใช้ถุงขยะที่บางลงซึ่งสามารถลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปสู่แหล่งถมขยะ (Landfills) ถึง 750,000 ตันต่อปี เป็นการลดค่าใช้จ่ายราว 500,000 เหรียญสหรัฐต่อปี การตั้งเป้าหมายการจัดซื้อสีเขียวที่วัดผลได้และกระจายเข้าไปในระบบการจัดซื้ออย่างชัดเจนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ไม่เช่นนั้นแล้วการจัดซื้อสีเขียวย่อมจะเป็นเพียงแค่การทำตามกระแส
กรณีศึกษาน่าสนใจอย่างวอลมาร์ท (Wal-Mart) ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้จัดส่งสินค้าแต่ละราย เช่น อัตราส่วนปริมาณสินค้าต่อหีบห่อ อัตราส่วนการนำมาใช้ใหม่ของสินค้า อัตราการรีไซเคิล เพื่อนำข้อมูลไปตั้งเป้าหมายและดำเนินการจัดซื้อสีเขียวอย่าง การลดจำนวนหีบห่อสินค้าลง 5% ภายในปี 2013 โดยมีสินค้ากว่า 97,000 รายการเข้าร่วมระบบประเมินดังกล่าวและเลือกผู้ส่งสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ย่อมเป็นการสร้างแรงจูงใจที่จะให้ผู้ผลิตสินค้าพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและร่วมลงทุนสนับสนุนคู่ค้าให้ผลิตสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเครือข่ายองค์กรขนาดขนาดกลางและเล็กที่ร่วมเป็นหุ้นส่วนการดำเนินงาน
กรณีเบนแอนด์เจอรี่ ไอศกรีมยอดนิยมของสหรัฐอเมริกา ได้ยึดมั่นแนวทางบริหารด้วยการเป็นผู้ให้กับสังคมมากกว่าเป็นผู้ตักตวงผลประโยชน์จากผู้บริโภค อาทิ รับซื้อผลผลิตจากชาวไร่โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อเงินจะถูกส่งถึงมือเกษตรกรโดยตรงหรือรับซื้อส่วนผสมไอศกรีมจากองค์กรสาธารณกุศล ไม่รวมถึงการบริจาคผลกําไรก่อนหักภาษี 7.5 เปอร์เซ็นต์ให้มูลนิธิเบนแอนด์เจอร์รี่ เพื่อนำดอกผลมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน  เบน แอนด์ เจอร์รี่ ได้ประกาศแผนทดลองนำตู้แช่เย็นปลอดสารเอชเอฟซีมาใช้เป็นครั้งแรกในอเมริกาเพื่อบรรเทาปัญหาโลกร้อน ตู้แช่ไอศกรีมแบบใหม่ที่เบน แอนด์ เจอร์รี่ นำมาใช้ ประหยัดไฟฟ้ามากกว่าตู้เย็นทั่วไป 10 เปอร์เซ็นต์
ตู้แช่ปลอดสารเอชเอฟซีที่นำมาใช้นี้จะใช้ไฮโดรคาร์บอน เช่น โพรเพน (Propane) และบูเทน (Butane) เป็นสารให้ความเย็น แต่เดิมการผลิตตู้เย็นจะใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) เป็นสารให้ความเย็น ต่อมานักวิทยาศาสตร์พบว่าสารชนิดนี้ทำลายชั้นโอโซน ทำให้อุตสาหกรรมผลิตเครื่องทำความเย็นหันมาใช้ เอฟก๊าซ เช่น HCFCs และ HFCs ทำลายโอโซนน้อยกว่า หากสำนักงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA) อนุญาตให้เบน แอนด์ เจอร์รี่ ขยายการทดลองต่อไป คาดว่าบริษัทจะเปลี่ยนตู้แช่ไอศกรีมกว่า 100,000 ตู้ ภายใน 8-10 ปี ส่วนกรีนพีซหวังว่าการทดลองครั้งนี้จะเปิดประตูการใช้สารทำความเย็นแบบธรรมชาติอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา
สำหรับแมคโดนัลด์ดำเนินกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนร่วมกับผู้ส่งมอบวัตถุดิบMcDonald's works with its suppliers to promote socially responsible practices in its supply chain as part of its supply chain strategy.เพื่อส่งเสริมกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมระดับห่วงโซ่อุปทานที่เป็นหนึ่งในกรอบความรับผิดชอบต่อสังคม (This is part of its wider Framework for Corporate Social Responsibility) 
อย่างการรับซื้อถั่วเหลืองที่ปลูกตามธรรมชาติเพื่อเป็นอาหารไก่ในฟาร์ม เนื่องจากผู้บริโภคชาวยุโรปต่อต้านอาหารที่เปลี่ยนถ่ายหน่วยพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ (GMO) แต่กลายเป็นว่าถั่วเหลืองจากบริษัทคาร์กิลล์ (Cargill) ผู้ส่งมอบวัตถุดิบของแมคโดนัลด์ปลูกถั่วรุกพื้นที่ป่าอะเมซอน เมื่อกรีนพีซทราบปัญหาจึงรวมกลุ่มประท้วงที่หน้าร้านแมคในยุโรปและเผยแพร่บทความชื่อ McAmazon (เมษายน 2006) บอกกล่าวเรื่องราวการทำลายป่าไม้ของแมคโดนัลด์จนแพร่หลายไปทั่วโลก
ไม่น่าเชื่อว่าคู่กรณีจะมาร่วมรณรงค์ประเด็นดังกล่าวด้วยกันได้  บ๊อบ แลงเกิร์ต รองประธานฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคมของแมคโดนัลด์ กล่าวยอมรับตั้งแต่ทราบเรื่องนี้ก็ประกาศงดซื้อถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ทุกชนิดจากเขตป่าอะเมซอน พร้อมให้เวลาผู้ส่งมอบในการหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ 4 เดือนให้หลัง (วันที่ 25 กรกฎาคม ปี 2006) กรีนพีซเผยแพร่เรื่อง McVictory ลงในเว็บไซต์ พร้อมประกาศว่ากรีนพีซและแมคโดนัลด์ได้จับมือร่วมกันทำงานเพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่าอย่างจริงจัง ปรากฏว่าปีนั้นแมคโดนัลด์ทำรายได้รวม 21.5 พันล้านดอลลาร์และกำไรสุทธิ 3.5 พันล้านดอลลาร์ถือเป็นผลสะท้อนที่รวดเร็วต่อนโยบายสีเขียวดังกล่าว
ความจริงแล้วการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของแมคโดนัลด์ไม่ได้เพิ่งทำ หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1989 แมคโดนัลด์ร่วมกับ Environmental Defense Fund (EDF) องค์กรไม่หวังผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพันธมิตรร่วมกัน ทำให้เกิดโครงการดี ๆ เช่น การพิมพ์รายงานประจำปีด้วยกระดาษรีไซเคิลจากผลิตภัณฑ์ของแมคเอง การเลิกใช้กล่องโฟม โดยแมคโดนัลด์และ EDF แสดงให้เห็นว่าการทำธุรกิจกับการดูแลสิ่งแวดล้อมสามารถทำไปด้วยกันได้เพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน 
แมคโดนัลด์มุ่งความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ การลดของเสียและรีไซเคิลกว่า 83% ของแพ็คเกจที่ทำจากกระดาษหรือไม่ก็เยื่อไม้และกำจัดส่วนที่ฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นออก ทำให้ลดปริมาณกล่องเฟรนช์ฟรายแมคโดนัลด์ในอเมริกาถึง 1,100 ตัน ในปี 2007 ได้ลดน้ำหนักถ้วยลงเหลือเพียง 32 ออนซ์ ทำให้ใช้พลาสติกเรซินน้อยลง 650 ตันและพยายามใช้วัสดุธรรมชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภารกิจลดก๊าซเรือนกระจกเป็นอีกหนึ่งที่แมคโดนัลด์ทำอย่างแข็งขันด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น เพิ่มฉนวนกันความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร ออกแบบอาคารประหยัดพลังงานให้ได้มาตรฐานของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) นอกจากนี้แมคโดนัลด์ยังสนับสนุนการประมงอย่างยั่งยืน(Filet-O-Fish)
ในปี 2001 แมคโดนัลค์ทำงานร่วมกับองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ (Conservation International) หรือ CI เพื่อพัฒนาโปรแกรมตัวชี้วัดการทำประมงอย่างยั่งยืน ทำให้ประมงกว่า 18,000 เมตริกตันหรือ 1 ใน 3 ของการซื้อขายปีนั้น โดยมีแนวโน้มเป็นประมงแบบยั่งยืนมากขึ้น CIยังช่วยแมคโดนัลด์พัฒนาระบบวัดผล การรักษาสิ่งแวดล้อมของผู้ส่งมอบแต่ละรายด้วยทั้งการใช้น้ำ การใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ผู้ส่งมอบใส่ใจกับปัญหามากขึ้น ทำให้ CI ชื่นชมว่าแมคโดนัลด์เป็นหนึ่งในผู้นำการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก โดยมุ่งดูแลให้คู่ค้าและร้านสาขาทั่วโลกปฏิบัติตามนโยบายสีเขียวของแมคโดนัลด์
กรณีศึกษาที่น่าสนใจของธุรกิจสีเขียวระดับโลก คือ The Body Shop มีแนวคิดการทำตลาดไม่เพียงยึดถือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง แต่ยังคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ The Body Shop แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด Beauty & Cosmetics นับตั้งแต่ก่อตั้งมา  The Body Shop ได้นำแนวคิดความใส่ใจกับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมมาสร้างสรรค์เป็นแคมเปญการตลาด โดยใช้ปัญหาสังคมเป็นประเด็นหลักไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการทดลองกับสัตว์(Against Animal Testing) ผลักดันให้เกิดแนวคิดการช้อปปิ้งอย่างมีจริยธรรม (Ethical Shopping) ทาง Dame Anita Roddick ได้ประกาศเป็นพันธกิจกว่า 30 ปีมาแล้วว่า การดำรงตนเป็นธุรกิจสีเขียว คือ  DNA ของ The Body Shop” โดยมุ่งบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำภายในองค์กร
โครงการสิ่งแวดล้อมได้ถูกจัดทำเพื่อรองรับแนวคิดและสนับสนุนกิจกรรมสิ่งแวดล้อม ด้วยความร่วมมือกับองค์กรอย่าง Greenpeace สร้างแคมเปญ “Save the Whale” จนเกิดภาพลักษณ์การเป็นตัวแทน “Protect the Planet” และเกิดเป็นมูลนิธิเพื่อสมทบทุนในโอกาสต่าง ๆ จนกระทั่งปี 2001 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ The Body Shop หยิบยกประเด็นความเปลี่ยนแปลงบรรยากาศมาเป็นเป้าหมายในงานสิ่งแวดล้อม โดยจับมือกับพันธมิตรอย่างกรีนพีซ (Greenpeace) ให้ร้านค้าและสำนักงานในประเทศอังกฤษของ The Body Shop เปลี่ยนมาใช้รูปแบบพลังงานเรียกว่า Ecotricity ผลิตมาจากพลังงานทดแทนพร้อมกับบุกเบิกแนวทางการใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล โดยขวด PET บรรจุผลิตภัณฑ์ทั้งหมดทำมาจากวัสดุรีไซเคิล 100% 
ทาง The Body Shop ถือเป็นแบรนด์เครื่องสำอางระดับโลกแบรนด์แรกที่สามารถเสนอทางเลือกแนวคิดสีเขียวกับผู้บริโภค ในปี 2008 ทาง The Body Shop ได้สั่งให้สาขาร้านค้าทั่วโลกเปลี่ยนจากการใช้ถุงพลาสติกมาเป็นถุงกระดาษ พนักงานร้านจะประชาสัมพันธ์ถุงผ้า (Bag For Life) ที่ใช้ได้นานกว่าไปด้วย โดยจะถามลูกค้าทุกครั้งที่ซื้อสินค้า เพราะมองว่า แม้ว่าถุงกระดาษจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่ถ้าผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องทิ้งถุงเลย นั่นคือ หนทางที่ดีที่สุด
ความท้าทายครั้งสำคัญของ The Body Shop คือ การประกาศเป็น “Carbon Neutral Retailer” ภายในปี 2010 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและหาทางออกให้ทุกกระบวนการทำงานใช้พลังงานทดแทนมากที่สุด โดยมุ้งเน้นไปที่ประเด็นการใช้พลังงานไฟฟ้าในร้านจำหน่ายสินค้า สำนักงาน โกดังจัดเก็บสินค้า ระบบจัดส่งสินค้าและการเดินทางโดยเครื่องบิน  ส่วน ประสิทธิภาพเป็นอีกหนึ่งแนวคิดสำหรับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของ The Body Shop ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ตัวเลข 93% ของระบบการจัดส่งทางรถยนต์ได้ใช้รถยนต์ไฮบริดเป็นหลัก แต่ทาง The Body Shop กลับไม่หยุดอยู่ที่การหันมาใช้รถไฮบริดเท่านั้น เพราะเป้าหมายการลดพลังงาน คือ ลดการใช้พลังงานโดยที่ไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการเป็น Carbon Neutral Retailer ภายในปี 2010 น่าจะเป็นอีกความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญสำหรับธุรกิจ Beauty & Cosmetics อย่าง The Body Shop ที่มุ่งปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมโลก  การทำ CSR แบบยั่งยืนจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมมากกว่าการแสวงหาผลกำไรหรือยอดขายเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ที่ดีอย่างยั่งยืน
เอกสารอ้างอิง
          1. Joel Makower, Strategies for the Green Economy: Opportunities and Challenges in the New World of Business, McGraw-Hill, 2009.
          2. Thorne, Debbie M., O.C. Ferrell, and Linda Ferrell, Business and Society: A Strategic Approach to Social Responsibility, Houghton Mifflin Company, 2008.
          3. Toyota Motor Corporation, Green Purchasing Guideline, March 2006.
          4. โกศล ดีศีลธรรม, โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสำหรับการแข่งขันยุคใหม่, สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์, 2551.
          5. http://www.bangkokbiznews.com
          6. http://www.brandage.com
          7. http://www.businessthai.co.th
          8. http://www.csrthailand.net
          9. http://www.denso.co.th/
          10. http://www.green.in.th
          11. http://www.mbanewsthailand.com/2010/05/mba-csr-china/
          12. http://mba.nida.ac.th
          13. http://www.mcthai.co.th/
          14. http://www.positioningmag.com
          15. http://www.prachachat.net
          16. http://www.thailca.com
          17. http://www.toyota.co.jp/en/environment/vision/green/pdf/all.pdf
          18. http://www.toyota.co.th/sustainable_plant/sustainable.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น