วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ของเสียเป็นวัตถุอันตรายได้

          ของเสียคือสิ่งที่เจ้าของไม่นำมาใช้เป็นประโยชน์อีกหรือนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ด้วยเหตุผลต่างๆ จึงอาจถูกทิ้งไป หรือสะสมทิ้งไว้ในที่เดิม โดยทั่วไปของเสียปริมาณมากและเข้มข้นมากมักเป็นอันตรายต่อคน สัตว์ พืช ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อมได้อยู่แล้ว ก๊าซพิษและอากาศเสียที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า และเครื่องยนต์ทั่วไป รวมทั้งฝุ่นละอองต่างๆ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอากาศเสียด้วย ฝุ่นของปูนซีเมนต์ ใยหิน แป้งต่างๆ เป็นอันตรายต่อช่องปอด 
          ไอของสารประเภท chlorofluorocarbon (CFC) เป็นอันตรายทำให้ชั้นโอโซนในบรรยากาศชั้นสูงเบาบางลง ทำให้แสงอาทิตย์มีอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช มากกว่าปกติ ก๊าซเสียบางอย่าง อาจทำให้เกิดฝนกรด ซึ่งทำลายทรัพย์สินและคุณภาพของดินได้ เช่น ก๊าซเสียจากโรงผลิตไฟฟ้าที่มีกำมะถันสูง รถยนต์ที่เผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีตะกั่วและกำมะถันสูง ก๊าซและฝุ่นจากการเผาศพที่ไม่มีการดักจับก็เป็นปัญหาต่อสุขภาพเช่นกันกับการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์และเขม่า ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ น้ำที่มีโลหะหนัก น้ำที่มีสารเคมีธรรมดาที่มีความเข้มข้นสูง น้ำที่มีสารเคมีเป็นพิษ น้ำที่มีกากและมูลของสัตว์ และซากของพืชที่เน่าเปื่อยมาก และน้ำที่มีอุณหภูมิสูง หากปล่อยลงในแม่น้ำลำคลอง หนองบึง และทะเล จะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต คน และสัตว์ และทรัพย์สินต่างๆ ของที่ละลายหรือแขวนลอยในน้ำ หรือ ลอยอยู่บนผิวน้ำอาจมพิษซึ่งเป็นอันตรายโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิต เช่น ของจากโรงงานผลิตยาฆ่าแมลงจากโรงงานที่ใช้โลหะหนัก คราบน้ำมันจากเรือ เช่น น้ำมันเตา น้ำมันเครื่อง น้ำมันดิบ เป็นต้น แม้แต่ตัวของเสียที่เป็นสารที่ไม่เป็นพิษ 
           คุณสมบัติของมันก็อาจทำให้น้ำเสียภายหลังได้ เช่น ขาดออกซิเจน หรือมีจุลินทรีย์มากเกินไปเป็นต้น ดังในกรณีของกากของแข็งและของเหลวจากโรงงานน้ำตาลและโรงเหล้า เมื่อรั่วลงแม่น้ำ ลำคลองมากเกินไป ทำให้น้ำเสียจนปลาและสัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ น้ำที่มีสารเคมีเข้มข้นมาก จะนำไปใช้ทางเกษตร ทางการแพทย์ และอุตสาหกรรม และในครัวเรือนไม่ได้ โดยที่สารเคมีเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นสารพิษด้วยซ้ำ เช่น น้ำที่มีเกลือสินเธาว์ละลายอยู่อย่างเข้มข้น และน้ำเกลือที่รั่วไหลมาจากการเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม เป็นต้น น้ำที่เสียคุณสมบัติที่ดีดังกล่าวนี้ทำให้เกิดวิกฤติการณ์ขาดน้ำจึดได้ ทั้งๆ ที่ยังมีน้ำอยู่ทั่วไป
          กากของแข็งที่ทิ้งกันไว้ไม่เพียงแต่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะว่ามีอยู่กลาดเกลื่อน กินเนื้อที่ เกะกะ อุดตัน ลอยไปลอยมา ขีดขวางการจราจร และทำให้เกิดความไม่น่าดู แต่ยังไม่สามารถสลายให้เป็นก๊าซ หรือสามารถกลายเป็นของเหลวหรือละลายได้ในน้ำ จนทำให้เกิดเป็นพิษและอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและทรัพย์สินได้ เช่น แบตเตอรี่ชนิดต่างๆ โลหะหนัก ยาฆ่าแมลงและยาฆ่าวัชพืช เป็นต้น ของแข็งในรูปเศษแก้ว และเข็มฉีดยาอาจเป็นอันตรายอย่างเห็นได้ชัด แต่ที่เห็นไม่ได้ชัดเท่า คือ ภาชนะที่เคยถูกใช้บรรจุสารพิษถูกน้ำมาใช้ใหม่ เช่น ถังและขวดที่นำมาใส่อาหารหรือน้ำดื่ม เป็นต้น ทั้งนี้เพราะว่าการล้างภาชนะด้วยน้ำเพียงหนึ่งหรือสองครั้ง อาจจะไม่สามารถกำจัดสารพิษที่ตกค้างให้หมดไปจากตัวภาชนะได้
           ในเรื่องสถานภาพของเสียอันตรายนั้น เป็นที่คาดการณ์ว่าของเสียอันตรายที่มาจากอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2544 อาจจะมีถึง 5 แสนตันเลยทีเดียว จากการสำรวจพบว่าของเสียอันตรายในประเทศไทยที่มีปริมาณนับจากมากไปน้อย คือ สารโลหะหนัก น้ำมัน ขยะติดเชื้อ ตัวทำละลายของเสียมีฤทธิ์เป็นกรด กากตะกอนและของแข็งที่เป็นสารอินทรีย์ ขยะชุมชน น้ำเสียล้างรูป ของเสียเป็นด่าง กากสารอินทรีย์เหลว กากสารอินทรีย์ละลายน้ำ และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ของเสียที่เป็นอันตรายเหล่านี้ นอกจากมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสมารถสะสมและเพิ่มพูนปริมาณในห่วงโซ่อาหารได้ จึงต้องมีมาตรการควบคุมการบำบัดของเสียที่เป็นอันตรายเหล่านี้ โดยให้มีการใช้ระบบบำบัดที่เหมาะสมกับของเสียแต่ละประเภท ซึ่งนับวันแต่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น
          การกำจัดของเสียเป็นปัญหาระดับประเทศและระดับสากล ปัญหาในประเทศ คือ ปัญหาสถานที่ที่ใช้ในการฝังของแข็ง สถานที่ที่ใช้ในการกำจัดน้ำเสีย และสถานที่ตั้งของเตาเผาสำหรับของเสียอันตรายต่างๆ มักมีผู้ต่อต้านเป็นจำนวนมากโดยทั่วไป คือ ไม่ยอมให้กำจัดของเสีย หรือตั้งเตาเผาที่ใกล้ชุมชนของตน โดยอ้างว่าของเสียจากแหล่งอื่นไม่ควรถูกนำมาอยู่ใกล้ชุมชนของเขาเหล่านั้น การกำจัดของเสียลักษณะต่างๆ เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูง ฉะนั้น บางประเทศจะส่งของเสียเหล่านี้ไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อกำจัด และทำลายโดยมีการบอกกล่าวไว้ก่อนและเสียค่าใช้จ่าย แต่ก็มีกรณีที่บางประทศได้ส่งของเสียข้ามแดนโดยไม่บอกกล่าวไว้ก่อน และโดยที่ไม่มีใบสำแดงว่าเป็นของประเภทใด สิ่งนี้เกิดขึ้นทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา ประเทศแอฟริกาเป็นแหล่งที่มีผู้เอาของเสียไปทิ้งมากที่สุด ประเทศในแถบอเมริกาใต้และเอเซียบางส่วนก็ได้รับบ้างเหมือนกัน 
          อย่างไรก็ตาม อนุสัญญา Basel ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ก็จะช่วยในการควบคุมให้มีการรับผิดชอบมากขึ้นในการส่งของเสียไปประเทศอื่นโดยไม่ได้แจ้งไว้ก่อน และประเทศผู้รับสามารถส่งคืนไปประเทศที่เป็นจุดเริ่มต้นของเสียนั้นได้ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาของเสียขณะนี้ คือ พยายามให้มีกากของเสียน้อยที่สุดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การใช้ การทำลาย และมีการพิจารณาใช้กระบวนการใหม่และสารเริ่มต้นใหม่ขึ้นในการผลิต เพื่อทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด แทนที่จะต้องมาบรรเทาปัญหาของๆ เสียที่เกิดขึ้นมาแล้ว นอกจากนี้ ควรจะต้องมีการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด (recycling) แต่การนำมาใช้ใหม่บางครั้งไม่คุ้มค่าและไม่ได้ของดีเท่าเดิมกลับคืนมา ต้องพึ่งเทคโนโลยีและความรู้ที่ดี จึงทำให้มีผู้ที่ทำเช่นนี้น้อยกว่าที่ควร

ขนส่งในเมือง

ปัญหาการจราจรในเมืองเป็นเรื่องน่าปวดหัว ถูกใช้เป็นนโยบายหาเสียงมาหลายยุคหลายสมัย ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงอยู่และลุกลามออกไปตามหัวเมืองใหญ่ (แต่ก็ยังคงได้ยินเสียงแทรกขึ้นมาเล็กๆ ว่า ได้ดำเนินการไปมากแล้ว ถ้าไม่ทำเลยป่านนี้การจราจรคงติดขัดตั้งแต่เริ่มสตารท์รถที่หน้าบ้านของท่านแล้ว)


เราคงจำกันได้ถึงนโยบายบางพรรคการเมืองที่จะแก้ปัญหาจราจรใน กทม. ภายใน 6 เดือน ผ่านไป 6 ปี ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น เลยไปถึง 10 กว่าปีการจราจรก็ยังหนาแน่นเหมือนเดิม แต่ก็กลายเป็นเมกะโปรเจคที่ใช้หาเสียงและหากินยามยากได้เป็นอย่างดี นักโลจิสติกส์ก็คงไม่มีใครคาดหวังกับนโยบายของพรรคการเมืองเกี่ยวกับปัญหาการจราจรมากนัก เพราะหากมัวแต่ไปคาดหวังก็คงไม่ต้องทำมาหากินกันพอดี ประกอบกับแผนงานส่วนใหญ่ก็จะเน้นไปที่การขนส่งมวลชนมากกว่า ธุรกิจจึงต้องดิ้นรนหาหนทางที่เหมาะสมกันเอาเอง

ปัญหาของการขนส่งภายในเมือง นอกจากปัญหาการจราจรที่เป็นปัจจัยหลักแล้ว ปัจจุบันยังต้องคำนึงถึงต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ดูเหมือนจะติดลมบนไม่มีทางลงต่ำไปกว่านี้ และยังมีค่าใช้จ่ายที่มองเห็นชัดๆ อีกอย่างก็คือค่าซ่อมบำรุงยานพาหนะที่มักจะแปรผันตามกันไปกับอายุการใช้งาน นอกจากนี้การขนส่งมักจะประสบกับปัญหาของการวิ่งรถเที่ยวเปล่าอยู่เสมอ ไม่สามารถจัดรูปแบบการขนส่งทั้งขาไป-ขากลับได้ แม้ว่าจะพยายามใช้เทคนิคการจัดการโลจิสติกส์มากสักเพียงใดก็ตาม การขนส่งขากลับส่วนใหญ่ก็มักจะได้เพียงการขนภาชนะเปล่ากลับคลังสินค้าหรือโรงงานเท่านั้น

การสร้างความโดดเด่นด้านการขนส่งในเมืองนั้น นักโลจิสติกส์ต้องเริ่มพิจารณาที่ลูกค้าก่อน จะพบว่าลูกค้าหรือธุรกิจที่อยู่ในเขตเมืองไม่นิยมที่จะมีคลังสินค้าขนาดใหญ่ การเก็บสินค้าก็ต้องการเพียงแค่ให้พอใช้หรือพอขายและใช้พื้นที่เก็บให้น้อยที่สุด สภาพคล่องหรืออัตราการหมุนเวียนของสินค้า จึงเป็นปัจจัยหลักที่ลูกค้าพิจารณา หากนักโลจิสติกส์สามารถกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบได้ชัดเจนและเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ก็จะกำความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง อาหารจานด่วนยังระบุได้ว่าส่งร้อนส่งเร็วภายใน 30 นาที รับประกันด้วยว่าถ้าช้ากว่าที่กำหนดลูกค้าก็กินฟรี

ปัจจัยต่อมาที่จะต้องพิจารณาก็คือ ข้อจำกัดต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ เช่น ในเขตเมืองห้ามรถใหญ่วิ่งในบางช่วงเวลา การจอดรถส่งสินค้าในช่วงจราจรหนาแน่นก็ทำได้ยาก และไม่สามารถใช้เวลาได้นาน บางพื้นที่ต้องขับรถวนจนกว่าจะลงสินค้าได้หมด ร้านค้าสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชม. จึงมักใช้ช่วงเวลากลางคืนในการรับส่งสินค้า แต่บางสาขาที่ใกล้ตลาดโต้รุ่ง ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน หาช่วงเวลาอื่นที่เหมาะสมแทน เช่น สาขาที่อยู่ใกล้คลองถมก็ไม่สามารถส่งสินค้าในช่วงคืนวันเสาร์ จนถึง 6 โมงเย็นวันอาทิตย์ ที่สำคัญช่วงเวลาดังกล่าวก็ขายดีจนบ่อยครั้งที่สินค้าหมด เติมไม่ทัน

ความคล่องตัวของการขนส่งก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง การเลือกพาหนะในการขนส่งในเมืองต้องมีความคล่องตัวสูง ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงลักษณะและขนาดของสินค้า ผู้เชี่ยวชาญการขนส่งสินค้าขนาดเล็กปริมาณไม่มากต้องยกให้กับไปรษณีย์ไทย ด้วยมีเครือข่ายและเข้าได้ถึงทุกตรอกซอกซอย พาหนะหลักก็จะเป็นจักรยานยนต์ ความคล่องตัวของมอเตอร์ไซด์ทำให้ร้านฟาสฟู้ดเลือกใช้ ด้วยสามารถส่งสินค้าได้รวดเร็ว ควบคุมเวลาได้ค่อนข้างแม่นยำ และเรายังพบเห็นว่าการส่งสินค้าเป็นอาชีพเสริมของมอไซด์รับจ้างด้วยเช่นกัน ร้านอาหารทั่วไป ร้านจัดดอกไม้โดยเฉพาะพวงหรีด ก็มีบริการจัดส่งสินค้าด้วยมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ไม่ต้องลงทุนค่าพาหนะและพนักงานเหมือนร้านฟาสฟู้ด

ส่วนพาหนะยอดนิยมของบ้านเราก็ต้องยกให้รถกระบะขนาด 1 ตัน เพราะสามารถวิ่งในเมืองได้ตลอดเวลา บรรทุกสินค้าได้หลายขนาด และในปริมาณที่มากพอกับร้านค้าในเมือง บริษัทรถยนต์หลายแห่ง ก็ยกให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตัน การพัฒนาให้มีความคล่องตัวในการบรรทุกและขึ้นลงสินค้าได้รวดเร็ว รวมไปถึงการประหยัดเชื้อเพลิง และใช้พลังงานทางเลือก เพื่อให้เกิดการประหยัดต้นทุนการขนส่งให้มากที่สุด

ผมชอบพัฒนาการของรถกระบะเพื่อการขนส่ง นอกจากต่อเติมหลังคาให้สูง (จนน่าตกใจ) เพื่อเพิ่มพื้นที่ที่ทำโดยช่างนอกโรงงานแล้ว ในโรงงานเองก็มีการพัฒนาด้วยเช่นกัน เริ่มจากฝาท้ายเปิดสะดวกด้วยมือเดียว เพิ่มขนาดของพื้นที่กระบะท้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นเรียบไม่มีส่วนเกินจากล้อหลัง กระบะเปิดได้ 3 ด้าน ช่วยให้ขึ้นลงสินค้าได้เร็วขึ้น จนบางครั้งผมคิดว่าเป็นรถบรรทุก 6 ล้อด้วยซ้ำ

การวางแผนเส้นทางการขนส่งสินค้าและจัดเรียงสินค้าบนรถตามลำดับของลูกค้าที่จะส่ง แบบ LIFO หรือลูกค้าที่จะไปส่งก่อนให้ขึ้นของทีหลัง เพราะจะได้ลงของได้ง่ายนั้น ดูจะเป็นเทคนิคหนึ่งของโลจิสติกส์ที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้และให้ความสำคัญมาก เพราะสามารถตอบโจทย์ความรวดเร็วและคล่องตัวในการขนถ่ายสินค้าได้เป็นอย่างดี

ร้านค้าแห่งหนึ่งที่ผมเคยไปเยี่ยมชมและให้คำปรึกษา บ่นให้ฟังว่า สมัยก่อนลูกค้าก็สั่งของทีละ 1 คันรถเดือนหรือสองเดือนสั่งกันสักครั้ง ระยะหลังลูกค้ากลับสั่งในปริมาณที่น้อยลง แต่เพิ่มความถี่ในการสั่ง เป็นสัปดาห์ละครั้ง ทำให้ส่งของไม่เต็มคันรถ สิ้นเปลืองค่าขนส่งค่อนข้างมาก ลูกค้าแต่ละรายก็มักจะสั่งสินค้าไม่ตรงกัน เมื่อสั่งแล้วก็ต้องการทันที คำถามอีกข้อก็คือ รถหนึ่งคันมักจะมีการส่งสินค้าขาด-เกิน และส่งผิดลูกค้า หรือคนขับรถไม่ระมัดระวังทำให้สินค้าเสียหาย

ก็แนะนำให้ลองทำการตลาดเชิงรุก และใช้มุมมองของโซ่อุปทานเข้าช่วย ก็คือ การประสานงานและวางแผนความต้องการสินค้าร่วมกันกับลูกค้า ทำให้สามารถวางเส้นทางการขนส่งสินค้าได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ในการนำสินค้าขึ้นรถจากเดิมที่ไม่เคยจัดสินค้าตามลำดับลูกค้า เพราะรถหนึ่งคันก็ส่งเพียงที่เดียว ก็ให้จัดสินค้าก่อนขึ้นรถโดยเรียงลำดับแบบ LIFO หลังจากลองทำพบว่าสามารถลดจำนวนเที่ยวในการส่งสินค้าลงได้มาก จนหันมาบ่นใหม่ว่าเขาน่าจะมีรถส่งของมากเกินไป

ส่วนเรื่องของขาด-เกิน และส่งผิด ก็ให้จัดเตรียมพื้นที่ก่อนนำสินค้าขึ้นรถ ทำให้สามารถตรวจสอบสินค้าได้ง่าย และเตรียมสินค้าได้ล่วงหน้าระหว่างที่รถยังไม่กลับจากการส่งของ เป็นการประหยัดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้รถและใช้คน การใช้ลังเข้ามาช่วยในการจัดเตรียมสินค้า ก็มีส่วนช่วยให้ขนย้ายได้ง่าย และเตรียมสินค้าได้ครบจำนวน แต่ก็จะประสบปัญหาในการเก็บคืน หรือมีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ปัญหานี้จะหมดไปหากมีความร่วมมือกันเป็นเวลานาน เพราะการเก็บคืนสามารถจัดระบบหมุนเวียนเปลี่ยนได้ในการส่งสินค้าครั้งถัดไป

นอกจากนี้ในการจัดสินค้าขึ้นรถก็ให้คนขับรถมีส่วนร่วมในการจัดเรียง ไม่ใช่มีหน้าที่ขับอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน ทำให้คนขับรถทราบว่าสินค้าที่ต้องจัดส่งนั้นมีอะไรบ้าง แตกหักเสียหายได้ง่ายหรือไม่ ควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่มากน้อยเพียงใด

การส่งสินค้าในเมืองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากคู่ค้า มีการศึกษาและวางแผนร่วมกัน เลือกเฟ้นหาวิธีที่เหมาะสมกับตนเอง หากยังไม่มีกำลังเพียงพอ การใช้บริการจากผู้ให้บริการจากภายนอกก็นับว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจ เพียงแต่ต้องคัดกรองให้ดี เพราะหากมีมอเตอร์ไซด์รับจ้างหน้าตาน่ากลัวมาส่งของให้ที่บ้าน ลูกค้าคงไม่ประทับใจและไม่ใช้บริการอีกก็เป็นได้ครับ

สุวัฒน์  จรรยาพูน อาจารย์สาขาวิชาการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการจัดการโลจิสติกส์และวิศวกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล