วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

การจัดทำเขตการค้าเสรีของภาคบริการขนส่งสินค้าทางอากาศของไทย

Assist Prof. Dr. Taweesak Theppitak


ปัจจุบันการขนส่งสินค้าทางอากาศมีบทบาทสำคัญในการขนส่งสินค้าที่ต้องการแข่งกับเวลาและลดความเสียหายที่มีสาเหตุจากการขนส่งน้อยที่สุด ด้วยลักษณะเฉพาะตัวของการขนส่งทางอากาศที่มีระบบการขนส่งรวดเร็ว ปลอดภัยและมีการดูแลสภาพของสินค้าเป็นอย่างดีที่สุด เมื่อเทียบกับรูปแบบการขนส่งทุกประเภท สามารถทำระยะทางได้ไกลกว่าการขนส่งทางถนน ความจุของยานพาหนะในการขนส่งสินค้ามากกว่าการขนส่งสินค้าทางบก แต่น้อยกว่าการขนส่งทางทะเลและทางรถไฟ สามารถขนส่งสินค้าได้หลากหลายประเภท ขณะที่แรงกดดันจากนานาประเทศเกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้าบริการโลจิสติกส์ กลุ่มการขนส่งทางอากาศทำให้อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศจำเป็นต้องประเมินขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเตรียมความพร้อมเพื่อการปรับตัวเพื่อรองรับการเปิดเสรีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

วัตถุประสงค์ของบทความฉบับนี้คือเพื่อตรวจสอบประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีการค้าบริการในกลุ่มการขนส่งทางอากาศ อาทิสถานภาพและขีดความสามารถของผู้ให้บริการขนส่งทางอากาศ ปัญหาและอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับผู้ให้บริการขนส่งทางอากาศเมื่อมีการเปิดเสรีการค้า กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเป็นต้น การศึกษาครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดท่าทีและกลยุทธ์ในการเจรจาการค้า รวมทั้งหามาตรการในการลดผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

ธุรกิจการบริการการขนส่งทางอากาศของไทย
อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศนับเป็นสาขาที่มีความสำคัญต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก โดย International Air Transport Association (IATA) ระบุว่าสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของโลกพึ่งพาการขนส่งทางอากาศ ด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศของโลกในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมามีการขยายตัวในอัตราประมาณ 6.2% ต่อปี โดยเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากเอเชียในช่วงปี พ.ศ. 2540-2541 จากนั้นจึงได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา 

ทั้งนี้ บริษัท โบอิ้ง จำกัด ได้คาดหมายว่าแนวโน้มการขยายตัวของการขนส่งสินค้าทางอากาศในระยะยาวจะอยู่ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 6.4% ต่อปี และตลาดที่เชื่อมโยงกับเอเชียจะยังคงเป็นผู้นำ โดยขยายตัวในอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างชาติเอเชียด้วยกันจะมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับทุกตลาดด้วยอัตราประมาณ 8.6 % ต่อปี และเมื่อถึงปี พ.ศ. 2562 ตลาดเอเชียจะมีส่วนแบ่งในการขนส่งสินค้าทางอากาศกว่า 50% ของตลาดโลก ปัจจัยสําคัญที่ขับดันให้การขนส่งทางอากาศเติบโตขึ้น ได้แก่ แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าโลกและทิศทางการแข่งขันทางการค้าในโลกยุคใหม่ที่มุ่งเน้นความรวดเร็วและความยืดหยุ่นในการส่งมอบสินค้าและบริการที่กำลังกลายเป็นข้อได้เปรียบหลักของการแข่งขันในอนาคต ดังนั้น สนามบินและเทคโนโลยีโลจิสติกส์สมัยใหม่จึงมีบทบาทสําคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ภาวะการค้าบริการขนส่งทางอากาศในปัจจุบัน
ผู้ประกอบการด้านสายการบิน
          ปัจจุบันผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารแบบประจำระหว่างประเทศของประเทศไทย คือ บริษัท การบินไทย จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในสายการบินที่ดำเนินการโดยคนไทย โดยดำเนินกิจกรรมในลักษณะรัฐวิสาหกิจและยังมีสายการบินต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในการรับขนส่งผู้โดยสารแบบประจำระหว่างประเทศต่าง ๆ กับประเทศไทยด้วย โดยมีจำนวนสายการบินต่างชาติที่ได้รับอนุญาตทั้งหมด 72 สายการบิน ธุรกิจการบินภายในประเทศ รัฐบาลไทยได้ดำเนินการเปิดเสรีการบินภายในประเทศอย่างเป็นระยะและยังได้อนุญาตให้ประกอบกิจการได้มากขึ้น โดยในส่วนเส้นทางบินภายในประเทศ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 จนถึงเดือนกันยายน 2550 สายการบินเอกชนของไทยทุกสายได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการได้ในทุกเส้นทางยกเว้นเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ และ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต สำหรับในส่วนของเส้นทางบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 จนถึงเดือนกันยายน 2544 รัฐบาลได้เปิดให้สายการบินเอกชนของไทยรายอื่นๆ สามารถให้บริการการบินแบบประจำในเส้นทางบินระหว่างประเทศเฉพาะเส้นทางที่มิได้ให้บริการโดยสายการบินที่กำหนดของประเทศ ซึ่งประกอบด้วยบริษัท การบินไทย และสายการบินเอนเจิล แอร์ไลน์ จำกัด ซึ่งเป็นสายการบินที่กำหนดสายที่สอง และนับแต่เดือนกันยายน 2544 เป็นต้นไป สายการบินเอกชนของไทยจะสามารถให้บริการในเส้นทางบินระหว่างประเทศได้ทุกเส้นทางการศึกษาพบว่าตลาดธุรกิจการบินของประเทศไทยนั้นถึงแม้ว่าสายการบินแห่งชาติจะมีเพียงสายการบินเดียว คือ บริษัทการบินไทย จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศและภายในประเทศแล้ว ยังมีผู้ประกอบการเอกชนซึ่งเป็นบริษัทของไทยทำการบินในเส้นทางบินภายในประเทศและในเส้นทางบินระหว่างประเทศ ตามนโยบายการบินเสรีภายใต้ข้อตกลง

ผู้ประกอบการตัวแทนการขนส่งสินค้าทางอากาศ
          ปัจจุบันผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศของประเทศไทยที่ขึ้นเป็นสมาชิกสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทยทั้งสิ้น 134 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นสมาชิกของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศอยู่ทั้งสิ้น 66 ราย และไม่เป็นสมาชิกอยู่ทั้งสิ้น 68 ราย
          ทั้งนี้ มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งทางอากาศกับกรมการขนส่งทางอากาศมีจำนวนทั้งสิ้น 31 ราย แบ่งได้ตามประเภทการให้บริการแบบไม่ประจำเส้นทาง 13 ราย แบบทั้งประจำเส้นทางและไม่ประจำเส้นทาง 28 ราย หรือสามารถแบ่งได้ตามประเภทอากาศยานที่ใช้ในการขนส่ง ได้แก่ ประเภทเครื่องบินทั่วไป 23 ราย ประเภทเฮลิคอปเตอร์ 4 ราย ประเภททิ้งร่มอากาศ 1 ราย ประเภทอากาศยานปีกแข็ง 2 ราย และประเภทบอลลูนใช้อากาศร้อน 1 ราย หรือสามารถแบ่งตามพื้นที่ที่ให้บริการขนส่งได้เป็น ประเภทขนส่งในประเทศ 8 ราย และประเภทขนส่งทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ 23 ราย


สภาพปัญหาและอุปสรรคของการเปิดเสรีด้านการบริการการขนส่งสินค้าทางอากาศ
         1) สายการบินแห่งชาติของประเทศไทยยังไม่มีเครื่องบินสำหรับบรรทุกสินค้าโดยเฉพาะ (Air Freighter) แต่ยังคงใช้วิธีฝากไปกับเครื่องบินผู้โดยสารหรือเช่าพื้นที่บนเครื่องบินจากสายการบินอื่น โดยต้องขึ้นอยู่กับเครื่องบินและระยะทางการบินด้วย เช่น ถ้าระยะทางการบินไกล เครื่องบินต้องมีการสำรองน้ำมันไว้มาก ก็จะทำให้ระวางในการบรรทุกสินค้าน้อยลง ทำให้เกิดรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น
         2) ห้องเย็นสำหรับจัดเก็บสินค้าที่ต้องการรักษาความเย็นมีพื้นที่และจำนวนห้องที่ให้บริการจำกัด ในกรณีที่สินค้าที่ต้องการขนส่งมีปริมาณมากและใช้พื้นที่มาก เช่น กล้วยไม้สด จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวไม่พอเพียงต่อความต้องการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งทางถนนต้องนำสินค้ามาถึงที่คลังสินค้าในเวลาที่ใกล้เคียงกับเวลาที่เครื่องบินจะออกจากลานจอด ทำให้ความแออัดบริเวณหน้าคลังสินค้าที่มีมากอยู่แล้วกลับทวีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ จะส่งผลให้เวลาที่ใช้ในการตรวจสอบลดลงด้วย
         3) จะมีธุรกิจชาวต่างชาติเข้ามาร่วมทุนในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้อัตราผลกำไรและรายได้ของผู้ประกอบการไทยลดลง เกิดการตัดราคาซึ่งกันและกัน
         4) สายการบินแห่งชาติอาจเกิดความเสียเปรียบในเรื่อง
                  - ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทการบินไทยจะต้องลดลง เพราะทางการบินไทยไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
                  - ต้นทุนของไทยอาจจะสูงกว่าสายการบินต่างชาติ เนื่องจากต้องมีการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้ไม่อาจสามารถแข่งขันกับสายการบินต่างชาติในด้านราคาได้
                  - ธุรกิจต่างชาติซึ่งดำเนินการโดยอิสระสามารถเลือกทำการบินเฉพาะจุดที่ทำรายได้ดี เพราะมีศักยภาพในด้านการลงทุนมากกว่าผู้ประกอบการไทย ในขณะที่สายการบินไทยจะต้องทำการบินตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจุดที่ทำการบินนั้นจะมีกำไรหรือไม่ก็ตาม
                  - ผลกระทบต่อการดำเนินงาน เพราะการบินไทยยังถือเป็นบริษัทขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ การขยายตัวลำบาก จะต้องมีการเช่าเครื่องบินเพิ่มมากขึ้น จ้างนักบินมากขึ้น
                  - เมื่อมีการเปิดให้มีการแข่งขันจะทำให้ระวางบรรทุกมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น แต่ระวางบรรทุกของเครื่องบินยังไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้าในโกดังของสายการบินแห่งชาติ
         5) การบินไทยประสบปัญหาจากการแข่งขัน เพราะสายการบินต่างชาติมีท่าทีที่จะสนใจบินเข้าประเทศไทยอย่างเสรีมากขึ้น ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมีศักยภาพในการท่องเที่ยวสูงจำเป็นที่จะต้องอาศัยเที่ยวบินเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การบินไทยอาจจะสูญเสียรายได้เป็นบางส่วน
         6) โอกาสที่เงินรั่วไหลออกนอกประเทศมีมากขึ้น

แผนงานด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศในอนาคต
การขนส่งสินค้าทางอากาศจะมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากนโยบายการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดน่านฟ้าเสรี และการส่งเสริมจากภาครัฐเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation) ของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ โดยสนามบินสุวรรณภูมิมีการบริหารสินค้านำเข้าและส่งออกที่เป็นรูปแบบสากล มีการกำหนดเขตสินค้า Free Zone การจัดพื้นที่ภายในรองรับการนำสินค้าเข้า-ออก และการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เครื่องมือการรักษาความปลอดภัย เครื่องมือเอ็กซเรย์สินค้าเข้า-ออก และเทคโนโลยีในการจัดการสินค้าในบริเวณคลังสินค้า ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวจะส่งเสริมให้แอร์ไลน์สินค้าเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งสนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถในการขนส่งประมาณ 3 ล้านตันต่อปี ในปี ค.ศ. 2006

ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจการบินหรือสายการบินต่าง ๆ ก็ให้ความสนใจจะดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งสายการบินใหม่ ๆ เพื่อจะได้บริการแบบแอร์คาร์โก ที่รับขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียวขึ้นมาโดยเฉพาะ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการลงนามร่วมทุนระหว่างบริษัท ซีทีไอ โฮลดิ้ง จำกัด ของไทย และสายการบินแควนตัสของออสเตรเลีย เพื่อจัดตั้งสายการบินชื่อ ไทยแอร์ คาร์โก้เพื่อให้บริการเฉพาะการขนส่งสินค้าทางอากาศ (All-cargo airline service) นอกจากนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อาจมีแผนจะร่วมทุนกับผู้ประกอบการในธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีประสบการณ์จากต่างประเทศ เพื่อจัดตั้งสายการบินที่เป็นแอร์ คาร์โก เช่นเดียวกันในอนาคต ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมจะทำให้บทบาทของการขนส่งสินค้าทางอากาศของไทยขยายตัวอย่างมากในอนาคต

โครงการพัฒนาการขนส่งทางอากาศของภาครัฐที่สำคัญ ได้แก่ โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่และภูเก็ต ให้เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ อันได้แก่ โครงการขยายพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้าไปยังเมืองสำคัญ ๆ ทั่วโลก โครงการเครื่องบินบรรทุกสินค้าเช่าเหมาลำ โครงการจัดให้มีเครื่องบินขนส่งสินค้า (Freighter) เพื่อให้บริการ โครงการก่อสร้างคลังสินค้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการจัดตั้งศูนย์กลางกระจายสินค้าการเกษตรของเอเชีย และโครงการจัดตั้ง Express Logistics Center บริษัท ไทย แอร์พอร์ตส์ กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด (TAGS) ได้จัดทำโครงการก่อสร้างคลังสินค้าในเขตปลอดอากรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

บทสรุป
การเปิดเสรีการบริการการขนส่งทางอากาศนั้นถือได้ว่าอยู่ในขั้นที่มีความพร้อมเพียงพอในการแข่งขัน เพียงแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องจัดทำมาตรการคุ้มครอง (Safeguard) ที่มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลควบคู่กันไปด้วย เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดตลาดโดยผู้ประกอบการรายใหญ่และเป็นการคุ้มครองผู้ประกอบการรายเล็กเพราะยังไม่มีความเข้มแข็งและความพร้อมเพียงพอในการแข่งขัน แนวทางการเปิดเสรีการขนส่งทางอากาศตามลำดับที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบันนับได้ว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่จะเปิดโอกาสให้สายการบินของไทยสามารถพัฒนาศักยภาพของตนในการแข่งขันได้ ในขณะเดียวกันสายการบินต่างชาติก็สามารถที่จะขยายตลาดการให้บริการได้เพิ่มมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของไทย รวมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการส่งออก

Mega Factories - Maserati





Language : Thai | 45 mins | 530 MB



1 Link

OR

100 mb / Link