แคมเปญนี้ชื่อเต็มๆ ว่า "Share a Coke ต้องซ่า ต้องกล้า ส่งโค้กให้" โดยโค้กรุ่นพิเศษนี้มีการประทับคำพิเศษลงบนขวดและกระป๋องโค้กกว่า 250 ล้านขวด/กระป๋อง และยังมีคำชมแสดงความรู้สึก เป็นประเทศแรกในเอเชียด้วย
แคมเปญนี้ มาจากการคัดเลือกชื่อเล่นยอดฮิตของคนไทยจำนวน 80 ชื่อ พิมพ์ลงบนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นทั้งชนิดกระป๋องและขวดพีทีทุก ขนาด โดยวางขายทุกช่องทางจำหน่าย โดยที่ชื่อเล่นของคนไทย 80 ชื่อ มาจาก3 ช่องทาง คือ 1) Thainickname.com ที่เปิดให้คนไทยได้ลงทะเบียนออนไลน์ใส่ชื่อเล่นคนไทยลงไป 2) ผลการสำรวจสิบสุดยอดชื่อเล่นคนไทยของกระทรวงวัฒนธรรม (ได้แก่ เมย์ พลอย แนน ไอซ์ แบงค์ มายด์/น้ำ ฟ้า นิว บอล เบียร์) และ 3) มาจากการสำรวจชื่อเล่นคนไทยโดยทีมงานของโค้กเอง
นอกจากนี้ยังมีชื่อไทยๆ อย่าง อังคณา คมสันต์ อัญชลี พิมลักษณ์ วิลาวัลย์ อมร สุวิชชา ทับทิมทิพย์ ฯลฯ เหล่านี้ถือว่าสร้างการมีส่วนร่วมอย่างดีให้กับผู้บริโภค
กรณีที่ผู้บริโภคที่ต้องการชื่อพิเศษ เพราะไม่มีชื่อเล่นอยู่ใน 80 ชื่อ ก็สามารถลงทะเบียนบน แฟนเพจ Share a Coke โดยที่บริษัทโค้กก็จะพิมพ์ชื่อเฉพาะของคุณให้เป็นพิเศษและนัดจุดนัดหมายเพื่อรับขวด/กระป๋องที่มีชื่อคุณ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่สร้างความรับรู้และเพิ่มมูลค่าให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นไปอีก
คาดกันว่า แคมเปญนี้จะช่วยกระตุ้นยอดขายของโค้กได้มหาศาล ทั้งที่เป็นเรื่องแปลกมาก เพราะไม่ใช่การพัฒนาตัวคุณภาพสินค้าแต่อย่างใด ไม่ได้เปลี่ยนรส ไม่ได้ผสมสูตรใหม่ ไม่ใช่เปลี่ยนองค์ประกอบใดๆของน้ำอัดลง เพียงแต่เปลี่ยนตัวฉลากกระป๋อง จากลายสกรีนทั่วๆ ไปมาเป็น “ชื่อคน”
โดยใช้การสื่อสารเพื่อการ “แชร์ แชะ โชว์” ที่ตรงต้องกับจริตคนไทย
ผมแน่ใจว่าคงไม่มีใครอยากจะกินน้ำอัดลมที่มีชื่อเป็นของตนเอง คงมีคนอยากเก็บกระป๋องไว้เป็นที่ระลึกมากกว่า
การตลาดนี้ทำให้ผมนึกถึงทฤษฏีการสื่อสารหนึ่งสมัยเรียนที่ชื่อว่า “medium is the message” จากแนวคิดของนักปรัชญาสื่อสารแคนาดาชื่อ มาร์แชล แม็คลูฮาน ที่พูดไว้ในปี ค.ศ. 1964 และกลายเป็นตำราที่ขายดีที่สุด ในชื่อ “The Medium Is the Massage” ฉบับตีพิมพ์ในปี 1967, ด้วยความผิดพลาดของช่างเรียงพิมพ์ที่วางคำผิดจากคำว่า "message” เป็น “massage” ไปซะงั้น!
นัยยะความหมายของทฤษฏีนี้ก็คือ ตัวสื่อสั่นเอง ที่มีสาร/ข้อความในตัวมันเอง เช่น มือปืน ถือปืนยืนอยู่ที่หน้าเคาน์เตอร์ถอนเงิน, นักธนาคารรู้ดีว่าคือการปล้น “ปืน คือ สาร ว่าคือการปล้น”, หรือ ชายหนุ่มนักธุรกิจย่างกายตัวออกมาจากรถยนต์หรู เมอเซเดส เบ๊นท์ แสดงว่า เขารวย, หรือเด็กวัยรุ่นใส่ชุดไปรเวท เสื้อผืด กางเกงขาสั้นมานั่งในห้องเรียน ก็แสดงว่ากำลังขบถ ต่อต้านระเบียบการแต่งกายชุดนักศึกษา หรือกระทั่งการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมากดมาดูหน้าจอเวลาที่เดินสวนกับคนที่ไม่ไม่ชอบหน้า ก็แสดงว่าไม่อยากทักทายหรือพูดคุย
ลายบนเสื้อยืด ดอกกุหลาบ แหวนบนนิ้วนาง แก้วกาแฟยี่ห้อดัง หนังสือที่อ่าน ร้านอาหารที่นั่งทาน เหล่านี้เป็นสื่อได้ทั้งสิ้น ตัวมันเองเหล่านี้ มีสาร/ข้อความที่ซ่อนอยู่ภายใน และเมื่อใดก็ตามที่เรา “ถือ/สวม/ใส่/ใช้/จับ” สื่อเหล่านี้ ก็แสดงว่าเรากำลังจะต้องการสื่อสารอะไรออกไปบางอย่างนั่นเอง
คำว่า “message” ที่แม็คลูฮานพูดถึงนี้ มีความหมายใน 3 แง่มุม คือ "message" ที่แปลว่าข้อความ/สาร หรือ "mass age” ที่แปลว่า ยุคสมัยของมวลชนที่มวลชนจะเป็นผู้กำหนดความหมาย พลัง และความสำคัญของการสื่อสาร และ ความเพี้ยนระหว่าง "mess age" - ยุควุ่นวาย กับ "massage" การนวดเฟ้น! ที่หมายถึง การที่มวลชน ผู้รับสาร จะเป็นผู้ “นวดเฟ้น/ขัดยอก/ตีความข้อความสื่อสารนั้นด้วยตัวพวกเขาเอง”
บางทีแม็คลูฮานก็คิดมากจนเรายากที่จะเข้าใจเขาได้นะ
ผมตีความแม็คลูฮานว่า “ที่คนรับสารเป็นคนนวดเฟ้น” น่าจะหมายถึง การที่ ผู้รับสาร “มีส่วนร่วมในการตั้งต้นความต้องการ และดัดแปลง ส่งต่อ แปรความหมาย และสนุกไปกับกระบวนการสร้างความหมายของสารนั่นเอง”
ซึ่งเมื่ออธิบายเช่นนี้แล้ว คุณจะเข้าใจและมองเห็นว่าทำไมแคมเปญส่งต่อโค้กนี้ จึงประสบความสำเร็จ!
ขอเรียกมันว่า กลยุทธ์ “medium is the message, and message is the medium!”
เป็นกลยุทธ์ย้อนแย้งแม็คลูฮาน!
ปกติ กระป๋องน้ำอัดลม โค้ก สร้างแบรนด์การสื่อสารของตนเองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแตกต่าง ขณะที่เป๊ปซี่ ก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง แปลก แหวกใหม่ ทำไมต้องตามใคร มาเป็นข้อความหลักในการสื่อสาร กระทั่งความเป็นคนรุ่นใหม่ ก็ยังถูกจับมายัดไว้ในการสื่อสารตราสัญลักษณ์สินค้าของเป๊ปซี่
“brand image/brand value/brand awareness” – “ภาพลักษณ์ตราสินค้า / คุณค่าตราสินค้า / และความรับรู้ตราสินค้า” คือสิ่งที่นักการตลาดพยายามใส่รหัสให้ตัวสินค้าสื่อสารกับเรามาตลอด
เราบริโภคเพื่อเสพความหมายทางสัญลักษณ์ด้วย มิใช่มูลค่า/อรรถประโยชน์ของสินค้าแต่เพียงอย่างเดียวเสียเมื่อไหร่?
ฉะนั้นแล้ว ในทางการสื่อสารสัญวิทยาการตลาด เวลาที่เราเลือกกินน้ำอัดลมยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง จึงมีเหตุผลมาจาก 2 อย่าง คือ รสชาติที่เราชอบ กับ ภาพลักษณ์ที่เราอยากเป็น (หรือเหตุผลที่สาม คือร้านนั้นๆ มียี่ห้อไหนขายบ้าง)
กว่าหลายสิบปีที่บริษัทเหล่านี้ทำการโฆษณาสื่อสารเรื่อง “ภาพลักษณ์ของคนแห่งยุคสมัย” ของการกินแล้วเท่ห์ เป็นตัวของตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งๆ ที่จริงแล้ว มันก็คือ “น้ำอัดลม” ที่เหมือนกับน้ำยี่ห้ออื่นๆ อีกมากมาย, จะทำอย่างไรเล่าให้น้ำผสมแก๊สบวกน้ำตาลนี้ขายได้ต่อเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องคิดค้นพัฒนาวิจัยสินค้าให้ยุ่งยาก
ง่ายที่สุด คือ การพัฒนาที่ “ความหมาย” (message development) ให้คนบริโภคไปที่ความหมายของตราสินค้า เพราะคุณสมบัติของโค้กเปลี่ยนไม่ได้ แต่ความหมายของโค้กเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย
หากเป็นแบรนด์ที่ไม่ปรับตามยุคสมัย ก็รอวันตายอย่างเดียว
และยุคสมัยปัจจุบัน คือ ยุคสมัยแห่งการแชร์ของชุมชน และ ความลุ่มหลงตัวเอง หรือ พูดให้สุภาพคือ ความเป็นตัวของตัวเองในตัวเราที่สื่อพร่ำบอก ในกรณีนี้ เมื่อเทียบกับสังคมยุคสื่อออนไลน์ปัจจุบัน ก็คือ การ “แชร์/ส่งต่อ/ส่วนตัว”
ด้วยการใช้การตลาดให้ดารา หรือคนทั่วๆ ไปถ่ายภาพกระป๋องโค้ก และอัพขึ้นสื่อสังคมเพื่ออวดคนทั่วไป และเป็นการกดชื่อชอบ แสดงความคิดเห็น ในความรู้สึกพิเศษส่วนตัวบนชื่อเรา (ที่ก็เหมือนๆ กับคนอื่นๆ อีกมากมาย)
สิ่งที่โค้กทำ คือการทำให้เรารู้สึกว่า “เราเป็นคนพิเศษ ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ให้ความสำคัญด้วยการผลิตกระป๋องรุ่นจำกัด (limited edition) ให้แก่เรา - you are so special!”
การสื่อสารความหมายเช่นนี้ ในการบริโภค ดีที่สุดคือการสื่อสารไปที่ “ความรู้สึก/อารมณ์” (emotional message) โดยไม่จำเป็นต้องเน้นสื่อสารไปที่เหตุผล (rational message)
คนเราซื้อของใช้ด้วยสาเหตุเชิงอารมณ์มากกว่าเหตุผล
และการส่งต่อ ก็เลียนแบบแนวคิดการสื่อสารเรื่อง “ไวรัล/ขยายผล” แบบ “pay it forward/viral” ไปด้วยพร้อมๆ กัน
“ส่งโค้กให้แม่ ส่งโค้กให้แฟน ส่งโค้กให้คนน่ารัก ส่งโค้กให้ภรรยา” คือการเพิ่มความหมายให้มากขึ้นไปที่ตัวสินค้า เพื่อให้ตัวสินค้านั้นนำพาความรู้สึกและความหมายจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าจากที่ซื้อกินเอง, แต่เป็นการซื้อเพื่อให้คนอื่น และการซื้อเพื่อความภูมิใจในชื่อตนเอง
นัยยะที่ซ่อนลึกๆ ในแคมเปญสื่อสารนี้ “คือการส่งต่อ/เปลี่ยนผ่านแบรนด์โค้กจากคนรุ่นหนึ่ง ไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง” เพราะโค้กเป็นแบรนด์ของคนรุ่นเก่าตั้งแต่ยุคสมัยสงครามโลก, รุ่นเบบี้บูม รุ่นเจเนอเรชั่นเอกซ์, ไม่ใช่สินค้าที่เกิดขึ้นในยุคอินเตอร์เน็ต ดังนั้น การใช้ข้อความว่า “ส่งโค้กให้…..” พื้นที่ความหมายจุดจุดจุดนั้นถึงเท่ากับคนรุ่นนี้ ที่คุณไม่สามารถพูดได้ว่า พวกเขาคือคนรุ่นใหม่ (แบบที่เป๊ปซี่ทำ) พวกเขาไม่เรียกตัวเองว่าคนรุ่นใหม่ แต่เรียกตัวเองว่าเป็นคนรุ่น “ฉัน” (me generation) ที่ให้ความสำคัญกับตัวตนเอง อัตลักษณ์ตนเองมากว่า ดังนั้น การได้มีชื่อตัวเองลงไปในแบรนด์สินค้าระดับโลก จึงทำให้เขาภูมิใจ และรู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นส่วนหนึ่งของตราสินค้าแบรนด์โค้กนี้ได้อย่างสนิทใจ และไม่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองที่พวกเขาหวงแหน!
แถมผู้บริโภคยังได้สนุกและมีส่วนร่วม เพราะผู้คนจะได้ค้นหาชื่อตัวเองบนชั้นสินค้า (ทำให้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้นในการเลือกซื้อสินค้า ที่ปกติ ก็เดิมๆ เดินไปแล้วก็หิ้วมาทั้งโหล ทั้งชั้น) นี่มีอะไรให้คุ้ยเล่น ค้นหา (แบรนด์ที่ดี ต้องทำให้ผู้คนเกิดความท้าทาย สงสัย อยากค้นหา)
การทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการส่งชื่อตนเอง และออกแบบตราชื่อตนเองไปที่บริษัท เพื่อเฝ้ารอคอย โค้กลิมิเต็ดอิดีชั่น ที่มีเฉพาะของคุณให้ภูมิใจและอวดคนเล่น ว่า “โค้กนี้หนา ใส่ใจความเป็นตัวตนของชั้นจริงๆ เธอดูสิ แบรนด์นี้ให้ความสำคัญกับตัวตนของฉัน!!”
หรือกลยุทธ์การตลาดที่ใช้ดารา ศิลปินถ่ายรูปกับกระป็องโค้กและอัพขึ้นอินสาแกรม เหล่านี้ก็มีมูลค่าและแผนงานค่าใช้จ่าย ค่าตัวดาราเช่นเดียวกัน พร้อมๆ กับการโหมกระหน่ำติดแท็กในเฟซบุ๊คและทวิเตอร์เพื่อสร้างวงกระแสขยายตัวในโลกออนไลน์
ให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่โสด ยัน แต่งงาน ทำให้แบรนด์มีความหมายผูกติดยึดโยงอยู่กับชีวิตผู้คน และอัตลักษณ์ตัวตนผู้บริโภค!
ทั้งหมดที่โค้กทำ คือ แบบเรียนการตลาดบูรณาการหลายศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน ด้วยการคิดที่น่าจะซับซ้อนและแปรผลออกมาเป็นแคมเปญสร้างสรรค์และง่ายๆ ที่คนทำโฆษณาสามารถเอามาใช้ประยุกต์กับแบรนด์สินค้าตนเอง ด้วยการรู้ว่าผู้บริโภครุ่นนี้มีคุณสมบัติอะไรที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน
“มีตัวตน-มีส่วนร่วม-มีความภูมิใจ-มีความเคลื่อนไหว-มีความเฉพาะพิเศษ-มีสิ่งน่าค้นหา-มีลูกเล่น” เหล่านี้เป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้ข้อความโฆษณารณรงค์ทางการตลาดของโค้กประสบความสำเร็จ!
เป็นการออกแบบงานโฆษณาการตลาดที่เน้นไปที่ข้อความ/สารที่ต้องการสื่อเสียก่อน แล้วจึงมาหาตัวสื่อนำพาข้อความสารนี้ ดีที่สุดก็คือตัวสินค้าของเขานั่นเอง!
กลยุทธ์สื่อสารที่โค้กใช้ คือ การตีความหมายของแม็คลูฮานโดยแท้ คือ “message, mass-age , mas -sage” คือการทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการเอาอัตลักษณ์ชื่อตัวเอง มาแปลงไว้ในสาร บนกระป๋องโค้ก แล้ว ส่งต่อประป๋องโค้กนั้นๆ ให้สำหรับคน/ใคร เจ้าตัวที่มีชื่ออยู่บนกระป๋องเพื่อส่งความรู้สึก นึกคิดต่างๆ เป้นการใช้คน เป็นสื่ออีกครั้ง
ขั้นแรก ใช้กระป๋องโค้กเป็นสื่อถึงคน ขั้นสองใช้คนเป็นสื่อถึงโค้ก!
นี่ไม่ใช่การสื่อสารแบบ “สื่อคือสาร” (medium is the message) อีกต่อไป แต่เป็นการสื่อสารแบบ “สารคือสื่อ” (message is the medium)
ช่างเป็นแคมเปญการตลาดที่มีความหมายเชิงสัญญะวิทยาที่ซับซ้อน มันมีรหัสทางวัฒนธรรม คติ และภาษาซ่อนอยู่อย่างลงตัว มีพลัง ง่ายๆ และตรงไปตรงมา!
ที่อยากรู้คือ จะมีชื่อนี้ไหม? … เป๊ปซี่
ถ้ามี “ส่งโค้กให้….”เป๊ปซี่” ออกมาจริงคงเป็นการตลาดที่เจ็บแสบน่าดู
ผมเดาเอาว่าถ้าแม็คลูฮานฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้, เขาต้องให้เกรด A กับโค้กแน่นอน!
….จะส่งโค้กให้ใครก็ได้, แต่อย่าส่งโค้กให้คนที่เป็นโรคเบาหวานก็แล้วกัน!
มิเช่นนั้นอาจจะมีใครบางคน “ถูกส่ง” เข้าโรงพยาบาลแน่นอน!....
ที่มา...http://www.positioningmag.com/magazine/details.aspx?id=97134
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น