แหล่งที่มา: เดลินิวส์ (8 มี.ค. 2553)
AEC คืออะไร?
AEC คืออะไร?
หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีอาเซียน ASEAN Free Trade Agreement (AFTA) ซึ่งสำหรับประเทศไทยก็มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2553 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือด้านต่างๆ ของไทยกับอาเซียนไม่ได้มีเพียงแค่ FTA เท่านั้น ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม ได้เห็นชอบกับการรวมกลุ่มเศรษฐกิจไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ภายในปี 2015
โดยมีกรอบความร่วมมือหลักๆ 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคมกับวัฒนธรรม ซึ่งวันนี้จะขอเน้นด้านเศรษฐกิจเท่านั้นเพราะมีผลโดยตรงต่อผู้ประกอบธุรกิจเนื่องจากมีเป้าหมายที่จะทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดการค้าและฐานการผลิตเดียวร่วมกัน (Single market and production base)
สาระสำคัญของกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจมี 3 เรื่องหลักได้แก่ การค้าสินค้า การบริการ (ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงาน) และการลงทุน โดยจะให้เป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น โดยลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวของการค้าและการลงทุนในอาเซียน และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
สาระสำคัญของกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจมี 3 เรื่องหลักได้แก่ การค้าสินค้า การบริการ (ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงาน) และการลงทุน โดยจะให้เป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น โดยลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวของการค้าและการลงทุนในอาเซียน และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
AEC ต่างจากข้อตกลงเดิมๆ ในกลุ่มอาเซียนอย่างไร?
ที่จริง AEC ไม่ใช่เรื่องแปลงใหม่แต่อย่างใด เพราะข้อตกลงเดิมๆ ภายในกลุ่มอาเซียนที่เคยทำกันไว้ก่อนหน้านี้ ต่อไปจะถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC ไม่ว่าจะเป็น ข้อตกลงที่ว่าด้วยเรื่องการค้า (ซึ่งก็คือ AFTA) เรื่องการบริการ (ASEAN Framework Agreement on services หรือ AFAS) หรือข้อตกลงเกี่ยวกับการลงทุน (ASEAN Investment area หรือ AIA) โดยทั้ง 3 ข้อตกลงดังกล่าวได้ลงนามกันไปตั้งแต่ปี 1993 1996 และ 1998 ตามลำดับ
ดังนั้น พูดง่ายๆ ก็คือ AEC เป็นกรอบความร่วมมือในภาพใหญ่ ที่ได้รวมเอาข้อตกลงทั้ง 3 ส่วนไว้ด้วยกัน โดยจะมีการขยายรายละเอียดให้กว้างขึ้นเช่น AFTA จะถูกเปลี่ยนเป็น ASEAN Trade in Goods Agreement ( ATIGA) ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการปรับลดอัตราภาษีของ FTA และการส่งเสริมการค้าด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอย่างการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น ส่วนสัญญาด้านการลงทุน (Direct Investment และ Portfolio Investment) จะมีการเปลี่ยนไปใช้ ASEAN Comprehensive Investment Agreement (ACIA) ซึ่งยังคงสาระเกี่ยวกับการเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ AIA และมีการเพิ่มเติมเรื่องการคุ้มครอง การส่งเสริม และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนเข้าไปด้วย
ส่วนด้านการบริการนั้นจะยังคงใช้สัญญาเดิมคือ AFAS ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถานะของ ATIGA และ ACIA ยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนที่ไทยจะให้สัตตยาบัน โดยสรุป AEC จึงเป็นการรวบรวมข้อตกลงเดิมที่กระจัดกระจายให้เป็นหมวดหมู่ชัดเจนขึ้น และมีการต่อยอดจากข้อตกลงเดิมให้ครอบคลุมการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการลงทุนมากขึ้น
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ AEC มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์?
สิ่งที่จะเปลี่ยนไปเมื่อทั้ง 3 สัญญามีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ ในปี 2015 แล้วได้แก่ อันดับแรก อัตราภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่เป็น 0% สำหรับประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ (จากปัจจุบันมีแค่ 6 ประเทศที่มีอัตราภาษีขาเข้าตามข้อตกลง FTA เป็น 0% โดย กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม จะลดภาษีเหลือ 0% ในปี 2015) ซึ่งเป็นไปตามสัญญา ATIGA (เดิมคือ AFTA) นอกจากนี้ การค้าระหว่างกันจะง่ายขึ้น เพราะมีการลดขั้นตอนเอกสารและการตรวจสอบสินค้า ณ จุดตรวจสินค้าของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยทุกประเทศใช้มาตรฐานกลางเดียวกันในการตรวจสอบสินค้า เป็นต้น
อันดับที่สอง การลงทุนโดยตรงภายในประเทศอาเซียนจะเปิดเสรีมากขึ้น โดยสามารถลงทุนถือหุ้นได้สูงถึง 100% ของสัดส่วนผู้ถือหุ้น ในสาขาเกษตร ป่าไม้ ประมง เหมืองแร่ และ การผลิต ส่วนสาขาด้านบริการ อาจกำหนดเพดานสำหรับนักลงทุนจากอาเซียนแต่เพดานจะไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญา ACIA และ AFAS อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีดังกล่าวเป็นการเปิดเสรีแบบมีเงื่อนไขคือ ให้แต่ละประเทศสามารถสงวนบางธุรกิจที่ยังไม่พร้อมในการให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนแข่งขัน โดยกำหนดข้อจำกัดในการลงทุนเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของคนในประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็มีพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 หรือ Foreign Business Act B.E. 1999 (FBA) ซึ่งเงื่อนไขการคุ้มครองจะยังเป็นไปตามที่ประกาศใน พรบ. ต่อไปจนกว่าจะมีการแก้ไข้กฏหมายในประเทศ
อันดับที่สาม การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือหรือผู้ระกอบวิชาชีพเฉพาะทาง ให้สามารถทำงานในประเทศอื่นในอาเซียนได้สะดวกขึ้น โดยภายใต้สัญญาบริการ AFAS มีการยอมรับคุณสมบัติของแรงงานร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงภายใต้ AEC นี้จะไม่รวมการเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled labor) ซึ่งต้องเป็นไปตามกฏหมายของแต่ละประเทศอยู่
ประโยชน์จากการรวมกลุ่มเป็น AEC มีอะไรบ้าง
แม้สาระสำคัญของสัญญาต่างๆ จากการรวมกลุ่มเป็น AEC แทบไม่ต่างอะไรจากสัญญาเดิมนัก และยังมีการสงวนสิทธิในการประกอบธุรกิจบางสาขา ส่วนการเคลื่อนย้ายแรงงานก็จำกัดอยู่แค่แรงงานฝีมือ อย่างไรก็ตาม มาตรการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนอื่นๆ น่าจะทำให้โอกาสในการขยายตลาดส่งออกและขยายฐานการผลิตยังมีอยู่มาก เพราะ AEC 10 ประเทศรวมกันมีขนาด GDP กว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใหญ่กว่า GDP ไทยถึง 5 เท่า ขนาดของประชากรรวมกันก็สูงถึง 600 ล้านคน และหากเปิดตลาดการค้ารวมกับจีน ขนาดของประชากรและเศรษฐกิจจะเพิ่มเป็น 1.9 พันล้านคน และ 5.8 ล้านล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
ประโยชน์ที่เห็นได้ชัด ได้แก่ 1) การส่งออกไปยังประเทศอาเซียน โดยเฉพาะหมวดสินค้าภายใต้ FTA ที่ไทยได้เปรียบทางภาษีเมื่อแข่งกับคู่แข่งนอกกลุ่ม FTA เช่น ยางรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์และจักรยาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าอุตสาหกรรม เครื่องประดับ ยางสังเคราะห์และปิโตรเคมี 2) โอกาสในการขยายฐานการผลิต หรือการลงทุนโดยตรง ที่เราสามารถใช้ข้อได้เปรียบทางทรัพยากรของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น วัตถุดิบและแรงงานฝีมือที่ราคาถูกกว่า และ ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ซึ่งอาจเป็นการผลิตเพื่อส่งออกหรือเพื่อการบริโภคของคนในประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ตาม การเข้าไปลงทุนต้องศึกษากฏหมายการลงทุน (เช่น FBA) ของประเทศนั้นๆ ด้วย
แล้ว AEC จะไปถึงระดับเดียวกับสหภาพยุโรปหรือไม่?
ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ทั้งนี้ ตามกรอบของ AEC ไม่มีการระบุว่าจะกำหนดให้ใช้นโยบาย เศรษฐกิจ การเงินและการคลัง ร่วมกัน และไม่มีแนวความคิดในการตั้งกำแพงภาษีเดียวกันกับทุกประเทศนอกกลุ่ม หรือการจัดตั้งสกุลเงินเดียวกัน เนื่องจากมีปัญหาด้านความแตกต่างทางโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังกว้างอยู่มาก เช่น GPD per capita ของพม่าอยู่ที่ราว 400-500 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ซึ่งต่างจาก สิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่เกือบ 4 หมื่นดอลลาร์ต่อคนต่อปีอย่างมาก นอกจากนี้ รัฐบาลแต่ละประเทศยังจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายของตน ดังนั้น รูปแบบการรวมกลุ่มจึงไม่น่าจะไปถึงระดับเดียวกับสหภาพยุโรปได้ง่ายนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น