ธุรกิจระหว่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นมาอย่างยาวนานและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต บริษัทข้ามชาติหลายบริษัทที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของในประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด บริษัทคาร์ฟูร์ซึ่งมีสัญชาติฝรั่งเศส ได้มีการขยายกิจการไปในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันทางบริษัทคาร์ฟูร์ ได้ถอนตัวจากการลงทุนในประเทศไทยออกไปแล้ว ดังนั้น จึงมีประเด็นที่น่าสนใจในการวิเคราะห์ปัจจัยที่สำคัญของบริษัทคาร์ฟูร์ ในการวางกลยุทธ์และบริหารจัดการบริษัทนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้าไปดำเนินธุรกิจข้ามประเทศ
การจัดการโซ่อุปทาน เป็นกิจกรรมหลักที่สำคัญ ที่กำหนดความสำเร็จขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จำเป็นที่ต้องพิจารณาการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งความพึงพอใจของลูกค้าเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จขององค์กร ดังนั้น การวางแผนโซ่อุปทานของบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ จะต้องคำนึงถึงการบริการลูกค้า การร่วมมือกันในโซ่อุปทาน การผลิต การจัดเก็บสินค้า การกระจายสินค้า เทคโนโลยีปัจจุบัน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการบริหารคู่ค้า
การบริหารโซ่อุปทานที่ประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับการออกแบบและการจัดการโซ่อุปทานเป็นประเด็นหลัก การออกแบบโซ่อุปทานต้องพิจารณาถึงการบริการลูกค้า การผลิต การจัดเก็บและการกระจายสินค้า เทคโนโลยีรุ่นใหม่ โลจิสติกส์ย้อนกลับ การจัดการโซ่อุปทานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการบริหารคู่ค้า องค์กรธุรกิจข้ามชาติ จะต้องนำเอาการจัดการโซ่อุปทานที่ใช้อยู่ในประเทศอื่น มาปรับใช้กับการจัดการโซ่อุปทานของตลาดในประเทศใหม่
การบริการลูกค้า (Customer service)
หมายถึง การใช้ประโยชน์ของระบบโลจิสติกส์ให้เต็มที่ในการนำเสนอสินค้าหรือบริการที่ใช่ ในสถานที่และเวลาที่เหมาะสม ซึ่งการบริการลูกค้าเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาพลักษณ์ของบริษัทและการรับรู้ของทางลูกค้า สิ่งเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทด้วย ทางบริษัทต้องดำเนินการสร้างการบริการให้เหนือกว่าสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังเสมอ
ความร่วมมือในโซ่อุปทาน (Chain integration)
คือ การร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในโซ่อุปทาน มาดำเนินกิจกรรมด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การแลกเปลี่ยนข้อมูล การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาว การแบ่งปันผลประโยชน์และความเสี่ยงร่วมกัน ความร่วมมือที่ดีจะสามารถลดต้นทุนของการบริหารโซ่อุปทานได้ เช่น ลดต้นทุนที่เกิดจากการเก็บสินค้าคงคลังเกินความจำเป็นในโซ่อุปทาน (Bullwhip effect)
การผลิตและการปฏิบัติการ (Production and operations)
กระบวนการผลิตและการปฏิบัติการเป็นกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ โดยการแปรรูปวัตถุดิบให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป รวมถึงขั้นตอนของการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วย ความเห็นและความต้องการของลูกค้าจะถูกนำมาวิเคราะห์และออกแบบสินค้า ให้มีขนาด รูปร่าง น้ำหนัก สีสัน การใช้ประโยชน์และอายุการใช้งานที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังมีผลต่อการขนส่ง การจัดเก็บสินค้าโดยตรง
การกระจายและการจัดเก็บสินค้า (Distribution and storage)
การกระจายและจัดเก็บสินค้า จะทำให้สินค้าและบริการสามารถนำไปบริโภคหรือนำไปใช้งานได้ ซึ่งกิจกรรมนี้สามารถตอบสนองความแตกต่างของปริมาณความต้องการ และช่วงเวลา สร้างความมั่นใจว่ามีสินค้าและบริการพร้อมให้กับลูกค้าได้บริโภคเสมอ การกระจายและจัดเก็บสินค้าที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้องค์กรสามารถแข่งขันในด้านการบริการลูกค้า ราคา การส่งมอบสินค้าได้
เทคโนโลยีและการจัดการสารสนเทศ (Technology and information management)
เป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกให้กระบวนการ และบุคลากรสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ข้อมูลสามารถสื่อสารข้ามองค์กรและตอบสนองต่อการตัดสินใจของผู้บริหารได้ดีขึ้น ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารโซ่อุปทานอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDI) การวางแผนการจัดซื้อวัตถุดิบ (MRP) และการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้า (Traceability)
โลจิสติกส์เพื่อการส่งคืนสินค้า (Reverse logistics)
เป็นการควบคุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าชำรุด การรีไซเคิล การนำกลับมาใช้ใหม่ และการจัดการสินค้าที่บกพร่อง หรือมีอันตรายกับสิ่งแวดล้อม
การจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์เพื่อการส่งคืนสินค้าจะสามารถลดต้นทุนของการจัดการโซ่อุปทานโดยรวมได้ สามารถสร้างภาพลักษณ์ด้านเป็นองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ โลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green logistics) จะสามารถลดปัญหามลพิษในขั้นตอนของการขนส่งสินค้าได้
การสร้างพันธมิตร (Strategic alliance)
เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคู่ค้า เพื่อร่วมมือกันให้โซ่อุปทานมีประสิทธิภาพ การสื่อสารและความสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยงานในโซ่อุปทานจะสามารถยกระดับการแข่งขันขององค์กรธุรกิจนั้นให้ประสบความสำเร็จได้
กรณีศึกษาคาร์ฟูร์ในสเปนและจีน
กลุ่มบริษัทคาร์ฟูร์ ให้บริการลูกค้าในรูปแบบของซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพื่อตอบสนองลูกค้าได้ทั่วถึง ซึ่งสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม และถูกจัดอันดับเป็นแบรนด์อันดับต้นๆ ด้านค้าปลีกและอาหารของยุโรป โดยที่รูปแบบของไฮเปอร์มาร์ต (Hypermart) หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ซึ่งก่อตั้งในปี 1963 ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเรือธงของธุรกิจในปี 1993 บริษัทคาร์ฟูร์ได้เป็นอันดับ 2 ของโลก สำหรับธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งมีสาขาใน 33 ประเทศ
บริษัทคาร์ฟูร์ในประเทศสเปน เป็นตลาดที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับ 2 ในยุโรป รองลงมาจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมียอดขาย 40% ของปริมาณสินค้าทั้งหมด ในปี 2008 ในขณะที่บริษัทคาร์ฟูร์ในประเทศจีน มีสัดส่วนเป็น 65% ของทั้งหมดในทวีปเอเชีย ในภาพรวมนั้น บริษัทคาร์ฟูร์ในประเทศสเปนและจีน มีสัดส่วนรวมกัน 25% ของยอดขายทั้งหมดในโลก รวมกัน 25% ของยอดขายทั้งหมดในโลก
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและพฤติกรรมของผู้บริโภคระหว่างในทวีปยุโรปและเอเชีย อาทิ ผู้บริโภคชาวจีน ไม่ชอบที่จะซื้อสินค้าของต่างประเทศเท่ากับผู้บริโภคในยุโรป และผู้บริโภคชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสเปนชอบที่จะซื้อสินค้าครั้งละมากๆ เพียง 2-3 ครั้งในแต่ละเดือน ในขณะที่ผู้บริโภคชาวจีนจะซื้อสินค้าปริมาณน้อย จำนวนหลายครั้งในแต่ละเดือน นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเทศ มีความแตกต่างกันในเรื่องควมพร้อมของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนที่ระบบการติดต่อสื่อสารและการคมนาคมทำได้ยากกว่าและมีระยะทางในการขนส่งที่ไกลกว่า
บริษัทคาร์ฟูร์ในประเทศสเปน
เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 1973 กลยุทธ์หลักในการขยายเครือข่าย จะใช้ระบบการกระจายสินค้าให้ครอบคลุมถึงลูกค้าทุกคน นอกจากนี้ บริษัทยังมีการใช้ระบบออนไลน์ในการซื้อขาย โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารสด อุปโภคบริโภค เสื้อผ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในปี 2008 บริษัทคาร์ฟูร์มียอดขาย 18 ล้านยูโร โดยที่ลูกค้าส่วนใหญ่ จะมองคาร์ฟูร์ว่าเป็นแบรนด์ที่สินค้ามีคุณภาพ มีนวัตกรรม มีความหลากหลายและราคาเหมาะสม
การขนส่งสินค้าในประเทศสเปน จะใช้การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ(Multimodal transportation) ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามสภาพภูมิประเทศ ซึ่งการขนส่งทางถนนเป็นรูปแบบการขนส่งหลัก ส่วนการขนส่งทางรถไฟ หรือทางอากาศจะใช้กับสินค้าประเภทเน่าเสียง่าย หรือต้องการความรวดเร็ว
บริษัทคาร์ฟูร์ในประเทศสเปน มีศูนย์โลจิสติกส์ทั้งหมด 17 แห่ง ตั้งอยู่บนเกาะ 1 แห่ง เป็นศูนย์โลจิสติกส์ขนาดใหญ่ 3 แห่ง ขนาดกลาง 6 แห่ง ศูนย์โลจิสติกส์ของอาหารสด 5 แห่ง และอีก 2 แห่ง จะเน้นสินค้าที่เป็นอาหารทะเล ซัพพลายเออร์ที่ส่งสินค้าให้กับทางคาร์ฟูร์ จำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์หรือพาเลทที่สอดคล้องต่อการจัดการสินค้าภายในของคาร์ฟูร์ และนำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) มาใช้กับสินค้า
บริษัทคาร์ฟูร์ จะเน้นการใช้พลังงานทดแทน และเน้นนโยบายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การลดการใช้บรรจุภัณฑ์ เพิ่มปริมาณการรีไซเคิล และลดปริมาณ คาร์บอนไดออกไซต์ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน ซึ่งบริษัทคาร์ฟูร์ในประเทศสเปน จะเป็นแห่งแรกที่ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก
บริษัทคาร์ฟูร์ในประเทศจีน
เริ่มดำเนินการในปี 1995 โดยร่วมทุนกับบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งของประเทศจีน ในปัจจุบันบริษัทคาร์ฟูร์ ได้เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกใหญ่เป็นอันดับที่ 6 และเป็นบริษัทค้าปลีกต่างชาติที่ใหญ่ที่สุด โดยทางบริษัทคาร์ฟูร์ มีมุมมองต่อประเทศจีน ว่าเป็นประเทศที่ประกอบด้วยกลุ่มตลาดขนาดเล็ก จำนวนหลายๆ กลุ่ม มากกว่าที่จะมองประเทศจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ ดังนั้น ทางบริษัทคาร์ฟูร์จึงมีวิธีการตอบสนองตลาดขนาดเล็กจำนวนหลายๆ กลุ่มด้วยการจัดซื้อ การบริหารร้านค้า การตลาดและการให้บริการที่ยืดหยุ่น
นอกจากนี้ประเทศจีนมีความแตกต่างของรูปแบบทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่หลากหลายมาก ซึ่งทางบริษัทต้องตอบสนองต่อความต้องการนี้ให้ได้ สำหรับผู้บริโภคในประเทศจีน ราคาของสินค้าจะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจ ซึ่งทางบริษัทคาร์ฟูร์จะตั้งราคาที่ต่ำ พร้อมความหลากหลายของสินค้า และบริการเบ็ดเสร็จครบวงจรในเพียงแห่งเดียว
ผู้บริโภคในเอเชีย มักจะซื้อสินค้าที่ใกล้ที่พัก ในปริมาณน้อยๆ แต่หลายๆ ครั้ง ดังนั้น ห้างคาร์ฟูร์จะตั้งอยู่ใกล้ใจกลางแหล่งความเจริญที่ระบบขนส่งสาธารณะสามารถเข้าถึงได้ง่าย
ในปี 2006 บริษัทคาร์ฟูร์ได้เปิดเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าใหญ่ๆ ในชุมชน บริษัทคาร์ฟูร์ได้จัดตั้งศูนย์จัดซื้อสินค้า 10 แห่งในประเทศจีนเพื่อทำการจัดหาสินค้าของประเทศจีน ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะส่งไปขายยังห้างของบริษัทคาร์ฟูร์ในต่างประเทศอีกด้วย การขนส่งสินค้าของบริษัทคาร์ฟูร์ในประเทศจีนจะมีความหลากหลายตั้งแต่การใช้รถบรรทุกสินค้า 18 ล้อไปจนถึงใช้รถสามล้อในการขนสินค้า
บทสรุป
การออกแบบระบบโซ่อุปทานของทางบริษัทให้ตอบสนองต่อความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศจะส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จขององค์กร เราสามารถสรุปเปรียบเทียบการจัดการโซ่อุปทานของบริษัทคาร์ฟูร์ในประเทศสเปนและจีนได้ดังแสดงไว้ในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบการจัดการโซ่อุปทานของบริษัทคาร์ฟูร์ในประเทศสเปนและจีน
ที่มา: บทความเรื่อง Notions for the successful management of the supply chain: learning with Carrefour in Spain and Carrefour in China ในวารสาร Supply Chain Management : An International Journal ฉบับที่ 16 เล่มที่ 2 ปี 2011 หน้า 148- 154 โดย Jesu´ s Cambra-Fierro และ Rocı´o Ruiz-Benı´tez