วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โซ่อุปทานศิลปะแห่งการอยู่ร่วมกัน

เราคงปฏิเสธได้ยากว่าเรื่องต่างๆ นั้นจะไม่ส่งผลต่อเราร้อยเปอร์เซนต์ เนื่องด้วยเรื่อง เหล่านั้นจะมีผลกระทบต่อเราไม่มากก็น้อย เรียกได้ว่าทุกอย่างย่อมมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โยงใยถักทอกัน
อย่างสลับซับซ้อน และความซับซ้อนนี้ก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ด้วยเป็นเพราะความรวดเร็วของข่าวสารข้อมูลที่ได้รับการพัฒนาจนเรียกได้ว่า “ไร้พรมแดน และเหนือกาลเวลา” ส่งผลให้การนำเสนอทุกสิ่งอย่างต้องอาศัยความรอบคอบอย่างยิ่ง จะคิดว่า “คงไม่เป็นไร” ไม่ได้เสียแล้ว เรามักติดกับดักในสิ่งไม่จริง อันเนื่องมาจากการคิดไม่รอบคอบ

95_th_5_002
         
ขอยกตัวอย่างง่ายๆ จากกรณีนี้คือ มีพนักงานคนหนึ่งต้องการลาออกจากงาน ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ได้หยุดวันเสาร์ ซึ่งงานใหม่นั้นได้หยุด โดยรับเงินเดือนเท่าเดิม ฟังดูแล้วเหมือนกับได้เงินเดือนเพิ่มถึง 20% แต่ค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง และเวลาที่สูญเสียไปไม่ได้ถูกคำนึงถึง ที่ทำงานเดิม อยู่ใกล้บ้านจะเดินทางไม่เกิน 10 นาที ค่ารถไม่เกิน 20 บาท แต่ที่ทำงานใหม่อยู่ในเมืองบริเวณที่การจราจรคับคั่งถึงหนาแน่น ต้องเตรียมการเดินทางสักชั่วโมงครึ่งจึงเพียงพอ ไม่รวมค่ารถที่ผมไม่ทราบว่าเสียเพิ่มอีกเท่าใดหากใช้รถไฟฟ้าด้วยไปกลับก็เกือบร้อย ส่วนค่าอาหารนั้น ที่เดิมอาหารกลางวันฟรี เช้า เย็น ก็ทานที่บ้านได้สบายๆ แต่ที่ใหม่ในเมืองมื้อละเกือบ 50 บาท เช้าต้องงดเพราะไม่มีเวลา เย็นอาจต้องเพิ่มอีกสักมื้อ หากต้องรอเวลาให้การจราจรหายคับคั่ง ค่าใช้จ่ายแฝงเหล่านี้รวมๆ กันก็เกิน 20% ที่รับมาอย่างแน่นอน
         
ผมเองก็เคยออกจากงานด้วยเหตุผลของการทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ขนาดผมคิดแล้วว่าคุ้มกว่าเพราะงานใหม่ผมใกล้บ้านกว่า ค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง จะประหยัดเงินและเวลามากกว่า ซึ่งหากผมใช้จ่ายแบบเดิม ต้องเหลือเงินเก็บมากขึ้นอย่างแน่นอน แต่มีสิ่งที่ผมคิดไม่หมดและคาดไม่ถึงตามมาครับ คือว่าหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ ผมมีเวลาเหลือมากขึ้น มีแรงเหลือเยอะขึ้น จึงออกจากบ้านไปใช้เงินมากขึ้น เงินเก็บผมจึงเหลือน้อยลง บางเดือนไม่เหลือเก็บด้วยซ้ำครับ
         
จากความเกี่ยวข้องกันอย่างซับซ้อนของหลายๆ เรื่อง จึงต้องการความคิดอย่างถ้วนถี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ นโยบายของรัฐ ตัวอย่างเช่นนโยบายการเพิ่มค่าแรงของรัฐฟังดูก็ดี แต่ก็ส่งผลโดยตรงถึงต้นทุนสินค้า พ่อค้าแม่ค้าก็จำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า เป็นอย่างนี้เกี่ยวโยงกันไปในทุกอุตสาหกรรม ทุกระดับของการใช้จ่าย จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้น แต่เงินเก็บเราเหลือน้อยลง เพราะรายได้เราขึ้นสู้รายจ่ายไม่ได้

ค่าแรงขึ้น 10 บาท แต่ค่าน้ำมันพืชขึ้นขวดละเกือบ 10 บาท น้ำตาลก็ทะยอยขึ้นมากกว่า 10 บาท โดยเฉลี่ยค่าข้าวต่อวันเพิ่มขึ้นเกือบมื้อละ 5 บาท แค่อาหารสามมื้อรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาก็ติดลบไป 5 บาทแล้ว นี่ยังลืมค่าเดินทางที่ค่ารถก็เพิ่มขึ้นมา 1 เท่าตัว หากใครเดินทางหลายต่อก็ไม่ไหว รถฟรีก็หาขึ้นยากและดูจะไม่ปลอดภัยเท่าใดนักด้วยมีเพื่อนร่วมทางที่ไม่น่าไว้วางใจ จะหันไปขับรถก็โดนค่าน้ำมัน (จน เครียด แถมไม่เหลือให้กินเหล้า) แล้วอย่างนี้หากจะเพิ่มค่าแรงรอบสองแล้ว คงต้องอดมือกินมื้อกระมัง ดังนั้นนโยบายการเพิ่มค่าแรงรัฐต้องคิดเพิ่มถึงแนวทางการลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการที่สอดคล้องกันด้วย จึงจะทำให้ราคาสินค้าขาดข้ออ้างในการขยับตัว เงินในกระเป๋าของคนทำงานจึงจะมีเหลืออย่างแท้จริง

สิ่งที่กล่าวมาผมเพียงต้องการบอกซ้ำ และตอกย้ำในสิ่งที่คนทั่วไปทราบดี และเคยได้ยินมานาน ถึงคำว่า “เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล” จะอ้างว่าคาดไม่ถึงก็ไม่น่าจะฟังขึ้น กรณีของการปิดถนนเล่นสงกรานต์ที่สีลมที่ผ่านมา ผู้ที่สนับสนุนให้เกิดในทุกฝ่าย รวมไปถึงสื่อต่างๆ ก็คงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ หรือจะตอบว่าคาดไม่ถึงก็ไม่สมควร เนื่องด้วยการเล่นสงกรานต์ของบ้านเราดูจะล่อแหลมและหนักหน่วงขึ้นทุกปี สิ่งที่เกิดผมว่าหากจะคิดและหาทางแก้ไขก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง เพียงแต่ไม่มีใครยอมคิดและทำอย่างจริงจังเท่านั้น

จากที่เล่ามาจะเห็นถึงความซับซ้อนที่เราคิดไม่ถึง และละเลยอย่างจงใจที่จะคิดอยู่อีกมาก นอกจากนี้มนุษย์เรายังนำความรู้สึกด้านอารมณ์เข้ามาปะปนอีก ระดับของความยุ่งยากจึงเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่า จำเป็นต้องใช้มุมมองทางศิลปะเข้ามาช่วย การอยู่ร่วมกันนั้น จะมีนัยของความเข้าใจซึ่งกันและกันแฝงอยู่ด้วย มีหลายครั้งที่เราจะคิดถึงคู่ของเราเมื่อยามทุกข์ เช่น ยามเมื่อเราขัดสน เรามักจะไปขอความเห็นใจจากคู่ค้า ไปบอกกับซัพพลายเออร์ว่าขอเลื่อนนัดการชำระหนี้ไปสักสัปดาห์ หรือสองสัปดาห์ หากวัตถุดิบเราขาดก็ขออ้อนวอนซัพพลายเออร์ให้รีบส่งภายในวันนี้ หรือบอกลูกค้าว่าขอเลื่อนส่ง แต่พอเวลาเรามีสุข ก็มักจะไม่ค่อยคิดถึงใคร เราต้องไม่ลืมว่าเพื่อนเราก็อยากจะแบ่งปันความสุขด้วยไม่ใช่ทุกข์อย่างเดียว เหมือนกับที่ภาษิตของหนังกำลังภายในที่ได้ยินกันคุ้นหู้ว่า “มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน” แม้แต่เพลงก็ยังบอกว่า “มีเวลาดีๆ ก็บอกให้ฉันได้ฟัง..”

ธุรกิจแห่งค่ายตะวันออก มักจะเข้าใจและเข้าถึงในปรัชญาของการอยู่ร่วมกันนี้ เราทราบดีว่าวันนี้เราจับปลาได้หนึ่งตัว ก็นำไปแกงแล้วแบ่งเพื่อนบ้าน วันหลังก็จะได้ความเอื้อเฟื้อเช่นนี้จากเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป สิ่งดีๆ เหล่านี้ก็หายไป การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันจึงยากขึ้น

โซ่อุปทานก็เป็นศิลปะแห่งการอยู่ร่วมกัน จึงต้องพลิกแพลงตามสถานการณ์อยู่เสมอ แต่ก็สอนให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักรุก รู้จักรับ รู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือกัน ร่วมทุกข์และร่วมสุข การอยู่ร่วมกันนี้จะให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แตกแยกกัน ด้วยทราบดีว่าหากปล่อยให้คู่ค้าของเราเผชิญหน้ากับปัญหาตามลำพัง และไม่ใส่ใจ หากปัญหานั้นแก้ไขไม่ได้ ธุรกิจของเราก็จะสะดุดไม่มากก็น้อยจากปัญหาดังกล่าว แม้ว่าคู่ค้าของเราจะแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างดี แต่อาจแก้ปัญหาได้ช้าเกินไป ส่งผลให้ปัญหานั้นมีผลกระทบต่อเรา จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจค่ายตะวันออกยินดีที่จะร่วมมือ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการแก้ไขปัญหา มีหลายครั้งที่ผมทราบว่าทีมวิศวกรของบริษัทรถยนต์เข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับซัพพลายเออร์

ศิลปะของการอยู่ร่วมกันนี้ ต้องมีจังหวะ เปรียบเหมือนกับการชักคะเย่อ ที่ต้องมีการวางแผน กำหนดตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละจุด และที่สำคัญต้องมีการให้จังหวะ เพื่อให้เราได้ออกแรงพร้อมๆ กัน ส่งผลให้เกิดพลังอย่างคาดไม่ถึง หากทีมใดกำหนดตำแหน่งพลาดหรือทำงานคร่อมจังหวะกัน ผลก็คือแรงที่ส่งออกมาจะได้ไม่เต็มพลัง มีความสูญเปล่าหรือออกแรงมากเกินไปแต่ไม่ได้รับคุณค่ากลับมาอย่างทัดเทียมกัน อาจทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองในทีม จนส่งผลให้แพ้ต่อคู่แข่งได้

ส่วนที่เหลือผมมองว่าจะต้องเสริมมุมมองของการปรับปรุงพัฒนา เพื่อมองหาส่วนที่เราออกแรงไปแล้วเกิดความสูญเปล่า ทำให้ธุรกิจเกิดความกระชับและลงตัวมากขึ้น เข้าใจ และเห็นผลที่จะอยู่ร่วมกันมากขึ้น ผมเชื่อว่าหลังจากวิกฤติแผ่นดินไหวของโลก โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น ธุรกิจก็จะต้องปรับตัวมีรูปแบบใหม่ๆ ของการอยู่ร่วมกันเพิ่มขึ้นอีก

เราจำได้ว่าเดิมต้องมีซัพพลายเออร์จำนวนมาก และคลังสินค้าใหญ่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับสินค้า ในยุคปัจจุบันกลับสนับสนุนให้มีจำนวนซัพพลายเออร์น้อยรายลง และคลังสินค้าก็เล็กลง แต่เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าให้กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น เพิ่มความถี่และความแม่นยำในการส่งมอบ โดยให้ความสำคัญเรื่องความเสี่ยงน้อยลง ด้วยเป็นเพราะได้กระจายความเสี่ยงนั้นด้วยประสิทธิภาพของโซ่อุปทาน

ในยุคต่อไปเราอาจต้องคำนึงถึงและให้น้ำหนักความสำคัญกับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติมากขึ้น การย้ายฐานการผลิตไปสู่ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม และชิ้นส่วนสำคัญของสินค้าผลิตจากบริษัทแม่ต้องถูกกระจายตัว ต้องมองหาและยกระดับขององค์ความรู้ที่สำคัญของธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่ไม่ขึ้นกับชิ้นส่วนให้มากขึ้น ส่งผลให้การอยู่ร่วมกันมีความจริงใจกันมากขึ้น

องค์กรต่างๆ จึงต้องไม่ละเลยที่จะคิดอย่างถ้วนถี่ มองความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนให้ออกอย่างกระจ่างแจ้ง มีความเข้าใจในส่วนของตนเองและคู่ค้าเป็นอย่างดี มีความสนุกและชอบที่จะพัฒนาปรับปรุงกระบวนการ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสังคมและธุรกิจของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขครับ

สุวัฒน์ จรรยาพูน 
อาจารย์สาขาวิชาการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการจัดการโลจิสติกส์และวิศวกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น