เศรษฐกิจจีนที่เฟื่องฟูแบบฉุดไม่อยู่ในปัจจุบันทำให้มีบทวิเคราะห์หรือรายงานต่าง
ๆ ผุดขึ้นมาให้ขาประจำแดนมังกรได้ติดตามกันทุกวัน วันละหลาย ๆ บท
ซึ่งบ่อยครั้งตัวเลขที่ประกอบในรายงานหรือบทวิเคราะห์เหล่านั้นได้มาจากสถิติที่ทางการจีนประกาศเป็นส่วนใหญ่
หลายคนเคลือบแคลงถึงความน่าเชื่อถือ ดังที่ Ted Plafker ผู้เขียนหนังสือ Doing Business in China ได้เตือนไว้ว่า
ข้อมูลดิบทางสถิติที่ได้รับมาจากหน่วยงานต่าง ๆ
ของรัฐภายในประเทศจีนนั้นอาจมีข้อบกพร่อง โดยมีตั้งแต่ความคลาดเคลื่อนเล็ก ๆ น้อย
ๆ ไปจนถึงการยกเมฆขึ้นมาเลยก็มี
การได้รับรู้ถึงผลตอบรับจากบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีนแบบตัวจริงเสียงจริงจึงเป็นสิ่งที่ใครหลายคนอยากจะรู้อยากจะฟัง
ทุกปี สภาหอการค้าอเมริกันในจีนตอนใต้ (American Chamber
of Commerce in South China) หรือ AMCHAM South
China จึงได้เผยแพร่สมุดปกขาวเกี่ยวกับสภาวะทางธุรกิจในจีนควบคู่ไปกับรายงานพิเศษสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในจีนตอนใต้
โดยในปี 2555 นี้ รายงานพิเศษได้สำรวจการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างชาติจำนวน 461
บริษัทที่ดำเนินกิจการในมณฑลกวางตุ้ง ไห่หนาน ฝูเจี้ยน
และเขตปกครองตนเองชนชาติกว่างซีจ้วง
โดยเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันและบริษัทต่างชาติอื่น ๆ ประมาณครึ่งต่อครึ่ง
ส่วนใดคือจีนตอนใต้ ?
บริษัทต่างชาติปักธงอย่างหนาแน่นทางจีนตอนใต้ด้วยความสะดวกของระบบโลจิสติกส์และความใกล้เคียงกับศูนย์กลางของภาคการบริการทางธุรกิจและการเงินอย่างฮ่องกง
และเมื่อกล่าวถึงพื้นที่จีนตอนใต้
คนส่วนใหญ่ต่างนึกถึงเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (PRD)ในมณฑลกวางตุ้ง
ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของจีนและของโลกเป็นอันดับแรก
มณฑลกวางตุ้ง
เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงเป็นพื้นที่ทางตะวันออกของมณฑลกวางตุ้งประกอบด้วยเก้าเมืองได้แก่
นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น ตงกว่าน ฝอซาน หุ้ยโจว เจียงเหมิน จ้าวชิ่ง
จงซานและจูไห่ โดยเมืองศูนย์กลางที่สำคัญในกลุ่มคือ นครกว่างโจว
เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง และเมืองเซินเจิ้นซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแรกของจีนที่ประสบความสำเร็จและเป็นแม่แบบให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น
ๆ ของจีน โดยล่าสุด เมืองเซินเจิ้นเป็นโมเดลให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษคาชการ์ (喀什经济特区)
ในเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเกียงที่เพิ่งจัดตั้งใหม่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553
ซึ่งจะเป็นประตูใหญ่ทางภาคตะวันตกของจีนมีพื้นที่ใกล้กับพรมแดนประเทศต่าง ๆ
ถึงห้าประเทศ
ด้วยพลวัตรของเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงทำให้มณฑลกวางตุ้งมีบทบาททางเศรษฐกิจมากที่สุดในจีนมาเนิ่นนาน
มีขนาดของ GDP มากที่สุด
มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศครองสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสี่ของมูลค่าการค้ารวมของทั้งประเทศ
เป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจถึงสามแห่งจากหกแห่งทั่วจีน ได้แก่ เซินเจิ้น จูไห่
และซัวเถา (อีกสามแห่งคือ เซี่ยเหมิน ไห่หนานและคาชการ์)
มณฑลกวางตุ้งวางแผนที่จะคงบทบาทของการเป็นมณฑลแถวหน้าทางเศรษฐกิจของจีนต่อไปโดยกระชับความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับฮ่องกงและมาเก๊าที่อยู่ติดกัน
วางแผนให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีการสื่อสาร ธุรกิจอินเตอร์เน็ต
อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม รวมถึงยังเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคการบริการเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน
ก็จะย้ายอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ต้องใช้แรงงานคนและทรัพยากรมากไปยังพื้นที่ตอนในของมณฑล
มณฑลไห่หนาน
มณฑลไห่หนานอยู่ใต้สุดของจีน
มีสภาพเป็นเกาะมีชายหาดทะเลที่สวยงามได้รับฉายาว่าเป็น “ฮาวายตะวันออก” เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่มีพื้นที่มากที่สุดของจีนโดยครอบคลุมทั้งเกาะ
วางบทบาทเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการเกษตรกรรม
รัฐบาลกลางและรัฐบาลไห่หนานได้วางนโยบายการพัฒนาให้ไห่หนานเป็นเกาะท่องเที่ยวนานาชาติตั้งแต่ปี
2553 และตั้งเป้าให้ไห่หนานเป็นแหล่งท่องเที่ยวนานาชาติระดับโลกภายในปี 2563
มณฑลไห่หนานใช้ความได้เปรียบของการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในการเป็นที่ทดลองนโยบายใหม่ต่าง
ๆ เช่น การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาแบบกลุ่มไม่ต้องขอวีซ่าเข้าไห่หนานโดยติดต่อกับบริษัททัวร์ในท้องถิ่นในการให้การรับรองล่วงหน้า
การทดลองนโยบายสินค้าปลอดภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังมณฑลไห่หนาน
(duty
free for tourist) เป็นต้น
มณฑลฝูเจี้ยน
มณฑลฝูเจี้ยนมีชายฝั่งทะเลยาวเป็นอันดับสองของจีนและตั้งอยู่ตรงข้ามกับเกาะไต้หวัน
วางบทบาทเป็นศูนย์กลางด้านการค้า การลงทุน
รวมถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนด้านสังคมและวัฒนธรรมกับไต้หวัน โดยนอกจากเมืองเซี่ยเหมินที่ได้รับการจัดตั้งให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดการค้าการลงทุนจากไต้หวันและนานาชาติมาตั้งแต่ปี 2524 แล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันได้ดีขึ้นเป็นลำดับ
พื้นที่ทั้งหมดของมณฑลฝูเจี้ยน และบางส่วนของมณฑลใกล้เคียงยังได้รับการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจชายฝั่งตะวันตกช่องแคบไต้หวัน (Western
Taiwan Straits Economic Zone) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นด้วย
ปัจจุบัน เศรษฐกิจของมณฑลฝูเจี้ยนพัฒนาจากอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รองเท้าและเสื้อผ้า มาเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และไฮเทคโนโลยี
รวมทั้งอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมี
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นมณฑลเดียวของจีนที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล กว่างซีกำหนดบทบาทของตนเองเป็น"ประตูสู่อาเซียน" นครหนานหนิง
เมืองเอกของกว่างซีเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (CAEXPO) ทุกปี นอกจากนี้
หนานหนิงยังได้ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมชาวจีนโพ้นทะเลขึ้นเพื่อดึงดูดชาวจีนโพ้นทะเลให้เข้ามาลงทุนอีกด้วย
ด้วยศักยภาพและการวางบทบาทอย่างมียุทธศาสตร์และการดำเนินนโยบายตามแผนที่ชัดเจนทำให้มณฑลทางจีนตอนใต้ที่เล่ามาดึงดูดบริษัทต่างชาติมาปักหลักดำเนินกิจการอย่างแน่นหนาและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทำไมต้องจีนตอนใต้?
รายงานพิเศษฯ ของ AMCHAM ให้ภาพของลักษณะบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน
เป้าหมายและทิศทางของการลงทุนในจีนตอนใต้
โดยแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของธุรกิจตามปัจจัยภายนอก คือ สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง
และปัจจัยภายใน ซึ่งที่เด่นชัดก็คือ
นโยบายที่ต้องการจะกระตุ้นความต้องการภายในประเทศของทางการจีน
ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยด้านลบเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น
โดยผลที่น่าสนใจจากรายงานพิเศษฯ ของ AMCHAM มีดังนี้
1. รูปแบบและขนาด บริษัทต่างชาติส่วนใหญ่ยังคงตั้งสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานหลักในภูมิภาคจีนตอนใต้ที่นครกว่างโจว
รองลงมาที่เมืองเซินเจิ้น และหากมีสำนักงานนอกพื้นที่จีนตอนใต้
ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ที่เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี
ผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบริษัทส่วนใหญ่ยังคงเลือกพื้นที่ตั้งที่อยู่ในแนวชายฝั่งทะเลตะวันออกที่มีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก
มีศักยภาพ มาตรการและโครงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
ในการรองรับการดำเนินธุรกิจโดยต่างชาติได้เป็นอย่างดี
บริษัทเกินกว่าครึ่งดำเนินธุรกิจในรูปแบบจดทะเบียนเป็นบริษัทต่างชาติ
รองลงมาเป็นดำเนินกิจการในรูปแบบของสำนักงานตัวแทน
และการร่วมทุนกับบริษัทจีนตามลำดับ
แม้ว่าบริษัทที่อยู่ในโพลล์สำรวจส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาการดำเนินกิจการในจีนระหว่างช่วง
10-20 ปี แต่แนวโน้มที่น่าสนใจ คือ
บริษัทที่เพิ่งเริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ขนาดของบริษัทมีแนวโน้มเล็กและกะทัดรัดมากขึ้น
ดังจะเห็นได้จากแผนภูมิว่า บริษัทที่มีลูกจ้างในองค์กรน้อยกว่า 50 คน
มีสัดส่วนเกินร้อยละ 40 ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจ ขณะที่บริษัทที่มีลูกจ้างเกิน 500
คนนั้นมีสัดส่วนลดลงจากเมื่อปี 2554
2. การจ้างแรงงาน จำนวนการจ้างงานใหม่ของบริษัทต่างชาติน้อยลง ดูได้จากบริษัทต่าง ๆ
ที่มีการจ้างพนักงานใหม่จำนวนน้อยกว่า 50 คน มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่บริษัทที่มีการจ้างคนจำนวนมากกว่า 5,000 คน
กลับมีสัดส่วนลดลง
นั่นแสดงถึงบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่และที่เข้ามาใหม่นั้นมีแนวโน้มของการลดจำนวนพนักงานในองค์กร
ซึ่งสอดคล้องกับภาพของค่าแรงที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากของตลาดทางจีนตอนใต้ เช่น
เมืองเซินเจิ้นมีค่าแรงขั้นต่ำ 1,500 หยวนต่อเดือนมากที่สุดของจีน
นครกว่างโจว 1,300 หยวนต่อเดือน ครองอันดับ 4 ของจีน เป็นต้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
เมื่อสอบถามถึงความได้เปรียบด้านตลาดแรงงานของจีนตอนใต้
ก็สอดคล้องกัน กล่าวคือ บริษัทต่างชาติส่วนใหญ่เห็นว่า
ความได้เปรียบของราคาค่าแรงที่เคยขึ้นชื่อว่าถูกของจีน ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
3. แหล่งตลาด บริษัทส่วนใหญ่มุ่งเน้นการผลิต จัดหาสินค้าและการบริการเข้ามายังตลาดจีน
ในขณะที่เป้าหมายการผลิตเพื่อส่งออกครองสัดส่วนลดลงมาก
ภายหลังจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจผลการสำรวจเริ่มมีความชัดเจนและมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่บริษัทต่าง
ๆ กว่าร้อยละ 70 มุ่งเน้นการผลิตจัดหาสินค้าและการบริการเข้ามาในตลาดจีน ในขณะที่ร้อยละ
30 มุ่งเน้นการใช้จีนเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ
สอดรับกับนโยบายต่าง ๆ
ของจีนที่มุ่งเน้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศที่มีกำลังการซื้อมหาศาลในขณะที่กำลังการซื้อในตลาดต่างประเทศลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
การผลิตจัดหาสินค้าและการบริการมาในตลาดจีน
เป็นสัดส่วนของสินค้าร้อยละ 49.2 และการบริการร้อยละ 50.8
โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน
เครื่องจักร สิ่งทอ เสื้อผ้า และเครื่องหนัง
ในขณะที่การบริการจะเน้นที่การบริการทางธุรกิจ การบริการเฉพาะทาง
และการบริการทางการศึกษา
4. เป้าหมาย เกี่ยวเนื่องกับการตอบสนองต่อแหล่งตลาดตามข้อ
3 ที่กล่าวมา บริษัทต่าง ๆ เลือกที่จะมาทำธุรกิจในจีนตอนใต้ โดยมีเป้าหมาย คือ
4.1 ผลิตสินค้าและการบริการในจีนตอนใต้เพื่อสนองตลาดจีนทั้งประเทศ
4.2
ผลิตสินค้าและการบริการในจีนตอนใต้เพื่อสนองตลาดต่างประเทศ (ยกเว้นสหรัฐอเมริกา)
4.3
ผลิตสินค้าและการบริการในจีนตอนใต้เพื่อสนองตลาดสหรัฐอเมริกา
4.4
จัดตั้งหรือขยายสำนักงานภูมิภาค
4.5
ใช้จีนเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศอื่น นอกจากสหรัฐอเมริกา
ผลการสำรวจดังกล่าวยังคงไม่แตกต่างจากช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมาซึ่งพบว่าเป้าหมายหลักของบริษัทที่ตั้งในจีนตอนใต้ยังคงมุ่งเน้นการเป็นฐานผลิตสินค้าและการบริการในจีนตอนใต้
เพื่อสนองตลาดจีนทั้งประเทศซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพใหญ่ของการดำเนินธุรกิจที่มีภูมิภาคตอนใต้ของจีนเป็นแกนกลางได้เป็นอย่างดี
5. การยึดจีนตอนใต้เป็นศูนย์กลาง เหตุผลลำดับต้น ๆ
ของบริษัทต่างชาติในการจัดตั้งหน่วยการดำเนินธุรกิจในจีนตอนใต้แทนที่จะเป็นในภูมิภาคอื่น
ก็คือ
5.1
โอกาสของตลาดในจีนตอนใต้
5.2
ที่ตั้งที่ใกล้กับฮ่องกง
5.3
ผู้เชี่ยวชาญและนักบริหารที่มีคุณสมบัติดีมาก
5.4
โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดีกว่าภูมิภาคอื่น
5.5
การเปิดกว้างมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของจีน
จะเห็นได้ว่า
บริษัทต่าง ๆ ยังคงมองถึงโอกาสของตลาดในจีนตอนใต้มาเป็นอันดับหนึ่ง
โดยเฉพาะมณฑลกวางตุ้งที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุดของจีน
อีกทั้งยังได้เปรียบในการมีที่ตั้งติดกับฮ่องกงสามารถรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง
ๆ จากฮ่องกงได้อย่างรวดเร็ว
รวมทั้งยังได้ประโยชน์โดยตรงจากนโยบายความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับฮ่องกงที่เปิดรับการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรในสาขาต่าง
ๆ ที่ทางฮ่องกงมีความเชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในมณฑลกวางตุ้งได้โดยสะดวก
เพราะโลกธุรกิจยังคงหมุนรอบจีนตอนใต้
จากผลสำรวจของ AMCHAM การดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างชาติในจีนปรับตัวไปตามสภาพของเศรษฐกิจตลาดโลก
ซึ่งในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาวิกฤตเศรษฐกิจโลกและภัยพิบัติต่าง ๆ
ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้ความต้องการและกำลังซื้อในตลาดสหรัฐอเมริกา
ยุโรปและญี่ปุ่นถดถอยลง
ขณะที่จีนได้ออกมาตรการตั้งรับในภาวะดังกล่าวด้วยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้อย่างทันท่วงที
การลงทุนภาคการผลิตและธุรกิจภาคการบริการที่เน้นตลาดในประเทศจีนแทนการใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกจึงเป็นแนวทางการอยู่รอดสำหรับธุรกิจต่างชาติต่าง
ๆ ที่มาดำเนินธุรกิจในแดนมังกร
เพราะแนวโน้มของความได้เปรียบในด้านของค่าจ้างแรงงานของจีนนับวันจะค่อย ๆ
ลดลงเรื่อย ๆ
ตามนโยบายของรัฐบาลกลางที่ต้องการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและลดช่องว่างของรายได้ระหว่างคนเมืองและคนชนบทไม่ให้ห่างกันมากเกินไป
การดำเนินธุรกิจของต่างชาติจะยังคงกระจุกตัวในจีนตอนใต้อย่างต่อเนื่องต่อไป
โดยผลสำรวจของAMCHAM ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะมีบริษัทต่างชาติขนาดกลางและขนาดย่อม
(SME) เข้ามาดำเนินธุรกิจในจีนตอนใต้เพิ่มมากขึ้น
ส่วนใหญ่จดทะเบียนโดยทุนต่างชาติทั้งหมด แม้ว่าในช่วงเริ่มแรก
บริษัทเหล่านี้อาจจะต้องปรับตัวกับความยุ่งยากของขั้นตอนการจดทะเบียนที่ซับซ้อนอยู่บ้าง
แต่ย่อมมองเห็นแล้วว่า
การตั้งธุรกิจที่นี่จะอำนวยผลด้านการบริหารจัดการและกำไรในระยะยาว
ธุรกิจไทยที่สนใจเข้ามายังตลาดจีนตอนใต้ควรที่จะรู้ถึงบทบาทและความสำคัญของแต่ละมณฑลในจีนตอนใต้เพื่อจะได้กำหนดเป้าหมายของตนให้ชัดเจนก่อนจะมาลงหลักปักฐานเจาะตลาดให้ตรงจุดกันต่อไป
โดยหากมีเป้าหมายแน่ชัดที่จะเจาะตลาดบริโภคใหญ่ก็ควรที่จะเบนเข็มเข้าสู่มณฑลกวางตุ้งเพราะมีโอกาสทั้งมณฑลกวางตุ้ง
ฮ่องกงและมาเก๊า
หากต้องการที่จะเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและต่างชาติก็ควรมุ่งไปยังมณฑลไห่หนานที่มียุทธศาสตร์ชัดเจนในเรื่องของการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติ
ถ้าต้องการจะทำการค้ากับทั้งจีนและไต้หวันก็มิควรมองข้ามมณฑลฝูเจี้ยน
และหากต้องการดำเนินธุรกิจในจีนตอนใต้และแถบอินโดจีนก็อาจพิจารณามุ่งเข้าสู่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่มีนโยบายพิเศษในเรื่องของการค้าขายและการดำเนินธุรกิจชายแดน
โดยในสมุดปกขาวและรายงานพิเศษของAMCHAM ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับจีนตอนใต้และผลสำรวจของธุรกิจต่างชาติที่น่าสนใจอีกมาก
ให้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดไปอ่านกันฟรี ๆ แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ www.amcham-southchina.org
จัดทำโดย: นายเจตนา เหล่ารักวงศ์ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจว
เรียบเรียงโดย: น.ส.รัชดา สุเทพากุล สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
แหล่งข้อมูล: “2012 Special Report on the State of Business in South China”, American chamber of Commerce in South China
เรียบเรียงโดย: น.ส.รัชดา สุเทพากุล สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
แหล่งข้อมูล: “2012 Special Report on the State of Business in South China”, American chamber of Commerce in South China
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น