ทวาย (Dawei) กำลังจะกลายเป็นประตูเศรษฐกิจแห่งใหม่เชื่อมโลกตะวันตกและตะวันออก สร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการจากทุกทิศทั่วโลก
ทวาย นอกจากเป็นประตูเชื่อมสองฝั่งซีกโลกแล้วยังเป็นแหล่งลงทุนใหม่ที่มีศักยภาพสูงในกลุ่มอาเซียนในพื้นที่ 4 แสนไร่ ที่มีทั้งโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย (Dawei Deep Sea Port) และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Dewei Special Economic Zone: DSEZ) ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการพัฒนาในระยะเริ่มต้น ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี
โอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการเปิดประเทศของพม่า และทิศทางพัฒนาของผู้นำประเทศพม่าในเชิงบวกที่เอื้อต่อการลงทุน ประกอบกับท่าทีที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรปที่น่าจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าในอนาคตอันใกล้นี้จึงไม่แปลกใจเลยที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติพยายามที่จะหาช่องทางเข้าไปทำการค้าการลงทุนในพม่า
ดร. สมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ โครงการทวาย ดีเวลอปเมนต์ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่าโครงการทวายเป็นจุดหนึ่งที่ช่วยในการเปิดพื้นที่และเปิดประเทศของพม่า อย่างไรก็ดีพม่าเองก็เริ่มแนวคิดการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อต้นปี 2011 ขณะที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ
“ประเทศไทยเรามีแต่เขตส่งเสริมการลงทุน และนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งต่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งอำนาจการบริหารจัดการเป็นของผู้ครองเขตเศรษฐกิจพิเศษ เหมือนกับเซินเจิ้น วันนี้อำนาจการปกครองของเซินเจิ้นถูกโอนไปให้กับมณฑลกวางตุ้งแล้ว เพราะเมื่อเจริญถึงจุดๆ หนึ่งและสามารถกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคนั้นๆ ได้แล้ว ก็ต้องหยุดการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราต้องมีความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้นแต่รวมทั้งเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง องค์ประกอบต้องสมบูรณ์ เราถึงเรียกว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SEZ” ดร. สมเจตน์ อธิบาย
สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในพื้นที่ราว 2 แสนไร่ แบ่งพื้นที่เป็นโซนต่างๆ คือ โซน A Port & Heavy Industry โซน B – Oil & Gas Industry โซน C1 – Up Stream Petrochemical Complex โซน C2 – Down Stream Petrochemical โซน D – Medium Industry โซน E – Light Industry
Source: โครงการทวาย ดีเวลอปเมนต์ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
ท่าเรือน้ำลึกทวาย บายพาสแหลมมะละกา
โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2010 โดยเฟสที่หนึ่งคือ การสร้างถนนไฮเวย์กาญจนบุรี-ทวาย ในระยะทางราว 160 กม. จากบ้านพุน้ำร้อนถึงท่าเรือทวาย โดยรัฐบาลไทยมีโครงการจะสร้างมอเตอร์เวย์ขนาด 4-8 ช่องจราจร เชื่อมต่อไปยังแหลมฉบัง รวมระยะทางจากทวายถึงแหลมฉบังไม่เกิน 400 กิโลเมตร และในระหว่างนั้นก็ได้เริ่มดำเนินการเฟสที่สอง ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย และเฟสที่สามคือ สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้และในทศวรรษนี้ โดยใช้วงเงินทั้งสิ้น 4 แสนล้านบาท
สำหรับท่าเรือน้ำลึกทวายตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกที่สามารถรองรับเรือน้ำหนัก 3 แสนตัน และสามารถเชื่อมโยงตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ มาทางมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน
อย่างไรก็ตามการพัฒนาท่าเรือทวายยังอยู่ในโครงการเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) ทั้งระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC ระหว่างเมืองดานัง เวียดนาม – เมืองเมาะละแหม่ง พม่า) และระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้ (Southern Economic Corridor: SEC ระหว่างนครโฮจิมินห์ เวียดนาม - เมืองทะวาย พม่า) รวมทั้งยังสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC ระหว่างนครคุนหมิง จีนตอนใต้ - กรุงเทพฯ)
ดังนั้นการพัฒนาท่าเรือทวายจะช่วยสนับสนุนบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภูมิภาค (Logistics Hub) โดยผ่านเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 3 เส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) ซึ่งจะใช้เวลาในการขนส่งจากทะเลจีนใต้มายังทะเลอันดามัน หรือจากเวียดนามมายังพม่าเพียง 6 วัน ทำให้ร่นระยะเวลาในการขนส่งปัจจุบันที่ต้องอ้อมแหลมมะละกาโดยใช้เวลาในการขนส่งนานถึง 16-18 วัน
สังเกตการณ์การลงทุนที่พม่า
คุณนิยม ไวยรัชพานิช ประธานคณะกรรมการการค้าชายแดน หอการค้าไทย แนะนักธุรกิจที่สนใจเข้าไปลงทุนที่พม่าว่า “สำหรับเอสเอ็มอีที่สนใจจะลงทุนที่พม่าต้องไปหาพันธมิตรที่นั่นเนื่องจากเรามีโนฮาว มีเงินทุน แต่เขาเป็นเจ้าของสถานที่”
หากแต่หลายคนยังลังเลเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของพม่า คุณนิยม มองว่า “หลังเมษายนนี้กฎหมายการส่งเสริมการลงทุนพม่ากำลังจะคลอดแล้วเป็นการจูงใจให้คนต่างชาติเข้าไปลงทุนแต่ถ้าตอนนี้ยังไม่กล้าก็ลองไปทำการค้าชายแดนก่อน หรือถ้าให้ดีก็ไปลงทุนที่ย่างกุ้ง หงสาวดี โดยเมื่อเร็วๆ ผมได้นำคณะอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยไปย่างกุ้งเพื่อไปดูสถานที่ไปหาแรงงานที่นั่นซึ่งหลายคนก็ให้ความสนใจ แม้ว่าตอนนี้ยังติดเรื่องแซงชั่น แต่คาดว่าหลังเลือกตั้งนโยบายต่างๆ ก็น่าจะชัดเจนขึ้น”
ดร. สมเจตน์ เพิ่มเติมว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายและเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ เป็นโครงการที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)ได้รับสัมปทานในการดำเนินการ ซึ่งเราวิเคราะห์ SWOT จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยง แล้วว่ามีโอกาส มีสีสรร เราจึงดำเนินการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและความมั่นคงของโลกและอาเซียนกำลังเปลี่ยนไป ทั้งโลกกำลังได้รับกระแสการเติบโตจากฝั่งเอเชีย และถ้าจะกล่าวว่า “ใครที่สามารถครอง INDIAN OCEAN ได้ คนนั้นครองโลก” ก็คงไม่ผิดนัก
Source: โครงการทวาย ดีเวลอปเมนต์ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
ท่าเรือน้ำลึกทวายจึงเป็น New Land Bridge ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตอันใกล้ และจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการกระจายสินค้าในระดับโลก ที่สามารถเชื่อมโยงตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ มาทางมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น