วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Modern Logistics

Assist Prof. Dr. Taweesak Theppitak


ในช่วงวันหยุดยาวแบบนี้ ผมได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการให้เขียนบทความเกี่ยวกับทิศทางของโลจิสติกส์และซัพพลายเชนสมัยใหม่ควรจะเป็นอย่างไร(Modern Logistics & Supply Chain Management) และจะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร จริงๆแล้วผมคิดว่านักวิชาการของไทยหลายๆ ท่านอาจจะช่วยกันคิดว่าทิศทางเราจะเน้นไปทางไหนเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก

จากโจทย์ที่ให้ผมมานั้น ต้องขอตอบตามตรงว่าไม่ยากครับ แต่สิ่งที่ผมอยากให้ผู้อ่านบทความนี้มีความเข้าใจในเบื้องต้นเสียก่อนว่าก่อนเราจะรู้ว่าทิศทางของการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราควรจะต้องพิจารณาเสียก่อนครับว่าโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของเดิมที่พวกเราใช้อยู่เป็นอย่างไร มีจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหนหรือมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ ตอบโจทย์หรือช่วยภาคอุตสาหกรรมแก้ปัญหาหรือช่วยเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรได้ดีหรือไม่ อย่างไร ผมว่าถ้าตอบโจทย์เหล่านี้ได้ก็รู้แล้วล่ะครับว่าจะทิศทางของการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนสมัยใหม่จะไปทางใด

ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์หรือค้าปลีกสมัยใหม่ เป็นต้น มีการพัฒนาธุรกิจของตนอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความซับซ้อนและเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ การจัดการโลจิสติกส์ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ แทบจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของภาคธุรกิจเลย หลายสถาบันการศึกษายังสอนวิชาหรือเนื้อหาเหมือนที่เคยสอนเมื่อ 5-7 ปีที่แล้ว แล้วถ้ากลายเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 เราจะเอาอะไรไปแข่งขันกับสิงคโปร์หรือเวียดนาม อีกทั้งเราก็ไม่ได้บอกนิสิตหรือนักศึกษาของเราเลยว่าศาสตร์ของโลจิสติกส์มันมีพลวัฒน์หรือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ซึ่งจะต้องสอนให้บัณฑิตหรือมหาบัณฑิตของเราคิดและวิเคราะห์ให้เป็นและสามารถสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆได้เอง ตลอดเวลา

ประเด็นคำถามคือว่าขณะนี้ เราใช้การจัดการโลจิสติกส์ได้ดีและมีประสิทธิภาพหรือไม่ แล้วมีการใช้กลยุทธ์ด้านซัพพลายเชนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมโลจิสติกส์หรือไม่ ถ้ามีกลยุทธ์เหล่านี้สนับสนุนซึ่งกันและกันหรือไม่ ผมยังเห็นนิสิตหลายท่านยังท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองอยู่เลยครับ อย่าว่าแต่เอาไปใช้เลยครับ บางท่านยังแยกไม่ออกระหว่างโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ผู้สอนหลายท่านก็เข้าไม่ถึงปรัชญาของโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ทั้งๆที่ศาสตร์นี้มีมานานมากตั้งแต่ปี 1940 ผมไม่อยากให้แรงงานหรือเด็กของเราเป็นแรงงานด้อยคุณภาพที่จะลงไปแข่งตลาดล่างหรือพวกคนพม่าหรือกัมพูชา ดังนั้นในบทความนี้ผมจะเริ่มจากการทบทวนวรรณกรรมหรือพัฒนาการของโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ระบุปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยที่ทำให้โลจิสติกส์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผมจะระบุถึงปัจจัยที่ทำให้สถาบันการศึกษาของไทยต้องเร่งรีบปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนหรือการผลิตบัณฑิตหรือมหาบัณฑิตเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม เป้าหมายของผมคืออยากให้สถาบันการศึกษาของไทยมีชื่อเสียงในด้านหลักสูตรโลจิสติกส์และซัพพลายเชนไม่เพียงแต่ในระดับอาเซียนแต่ต้องเป็นระดับโลก คนไทยต้องเป็นแรงงานคุณภาพที่แข่งและทำงานได้ทั่วโลก ผมชอบสไตล์ของบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ที่มองว่าคนของเขาเป็น Global Guy หรือ Global Asset ที่คนของเขามีคุณค่าและสามารถทำงานอยู่โรงงานในส่วนใดหรือภูมิภาคใดในโลกก็ได้ ภาษาไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะเขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษามาตรฐานอยู่แล้ว ดังนั้นถึงเวลาแล้วครับ ที่สถาบันการศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนด้านนี้ จะได้ตั้งสติและทำการศึกษาวิจัยอย่างเป็นเรื่องเป็นราวว่า เราควรจะวางตำแหน่งของการพัฒนาการศึกษาด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนไปทางไหน ทำอย่างไรการเรียนการสอนด้านนี้จึงจะเป็นมาตรฐานสากลแบบศาสตร์ด้านอื่นๆ เช่นคณิตศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ ไม่ใช่สอนไปกันคนละทางสองทางอย่างที่เป็นในปัจจุบัน ลำดับต่อไป ผมขอเท้าความของวิวัฒนาการของการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน เพื่อจะสะท้อนให้เห็นการพัฒนาและทิศทางการเรียนการสอน รวมทั้งความต้องการใช้กลยุทธ์การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรมในทศวรรษหน้า



1 ความคิดเห็น:

  1. ตรงประเด็นและใก้ลความจริงมากๆ เลยครับตามที่อาจารย์บอกไว้
    ผมบ่นมาหลายปีแล้ว ว่าหลักสูตรLogisticsของ สกอ.ที่ใช้อยู่เวลานี้อาจจะล้าสมัยประมาณ 5-10ปีเลยครับ

    ตอบลบ