วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

การจัดการคลังสินค้าหลังอุทกภัย

By…Assist Prof. Dr. Taweesak Theppitak


          ในวันนี้ ผมได้รับโจทย์จากคุณบุญชัย กองบรรณาธิการเว็บไซต์โลจิสติกส์ทูเดย์ (www.logistics2day.com) ให้เขียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการคลังสินค้าภายหลังจากผู้ประกอบการคลังสินค้าประสบอุทกภัยในช่วงสิงหาคม 2554 ถึงเดือนมกราคม 2555 และการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการคลังสินค้าเพื่อรองรับอุทกภัยปีต่อๆไปซึ่งกูรูด้านน้ำได้พยากรณ์มาในปี 2556 มีความน่าจะเป็นเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ครับที่จะเกิดน้ำท่วมซ้ำอีก หลายบริษัทอาจจะใช้โอกาสนี้เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสเลยก็ดีนะครับ ถือโอกาสในการปรับปรุงทางกายภาพและเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พื้นที่และอุปกรณ์ภายในคลังสินค้า และต้องอย่าลืมนะครับว่าคลังสินค้าถือเป็นค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 10 ของต้นทุนโลจิสติกส์ ถ้าบริหารจัดการไม่ดีหรือไม่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนของคลังสินค้าอาจพุ่งสูงถึงร้อยละ 20 เลยทีเดียวนะครับ 
ดังนั้นผมจะอธิบายผลสถานการณ์น้ำท่วมและผลกระทบต่อผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพและปริมณฑลซึ่งถือเป็นพื้นที่ไข่แดงของประเทศซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอยู่หลายบริษัทและขับเคลื่อนบริษัทต่างๆในซัพพลายเชนระดับโลก ขณะที่โดยปกติคลังสินค้าของไทยมีสองประเภทคือคลังสินค้าเอกชน (Private Warehouse) และคลังสินค้าสาธารณะ (Public Warehouse) โดยคลังสินค้าเอกชนจะหมายถึงบริษัทต่างๆจะมีพื้นที่หรือคลังเก็บสินค้าขาเข้าและคลังสินค้าขาออกของตนเอง บางบริษัทก็ใช้ร่วมกัน ส่วนคลังสินค้าสาธารณะนั้นหมายถึงคลังสินค้าที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เช่าพื้นที่สำหรับเก็บสินค้า โดยเจ้าของคลังสินค้าเหล่านี้จะมีรายได้จากค่าเช่าเป็นตารางเมตรหรือ SKU หรือเป็นล็อตแล้วแต่จะตกลงกัน นอกจากนี้ยังอาจจะมีรายได้จากค่าบริการซึ่งเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาทิ การติดบาร์โค้ตหรือแพ็กเกจจิ้งต่างๆ ขณะที่คลังสินค้าสาธารณะส่วนใหญ่ในไทยมากกว่าร้อยละ 65 เป็นคลังสินค้าเกษตร เอาไว้เก็บพวกข้าว ลำไย มันสำปะหลัง เป็นต้น และร้อยละ 25 เป็นสินค้าทั่วไป ส่วนที่เหลือก็เป็นสินค้าเฉพาะ อาทิ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมีหรือสินค้าทัณฑ์บน เป็นต้น
ขณะที่ภัยพิบัติครั้งนี้นั้น หลายอุตสาหกรรมต้องประสบอุทกภัยโดยทั่วหน้ากันครับ แต่ในวันนี้ผมได้รับมอบหมายให้คุยเกี่ยวกับการปรับปรุงคลังสินค้าหลังอุทกภัยก่อน ซึ่งผมก็จะคุยเกี่ยวกับคลังสินค้าเสียก่อน ประเด็นที่ผมกำลังคิดตอนนี้ เราจะคุยกันเรื่องคลังสินค้าเอกชนหรือคลังสินค้าสาธารณะดี งั้นผมขออนุญาตคุยเกี่ยวกับคลังสินค้าเอกชนก่อนแล้วกันนะครับ เพราะบริษัทต่างๆ ล้วนแต่มีคลังสินค้าและหลายบริษัทโดยเฉพาะที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมชื่อดัง เช่นนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เป็นต้นได้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ประเด็นคำถามคือเราควรจะประเมินและฟื้นฟูคลังสินค้าอย่างไร นอกจากนี้ จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันสินค้าและเครื่องมือ/อุปกรณ์ในคลังสินค้าไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นอีกในอนาคต บทความนี้จะโปรยประเด็นเป็นลำดับๆ โดยจะชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์น้ำท่วมของบริษัทเอกชนต่างๆ และชี้ให้เห็นถึงความเสียหายอันเกิดขึ้นจากน้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้ส่งผลเสียหายเฉพาะบริษัทที่ท่วมเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อบริษัทอื่นๆในซัพพลายเชนอีกด้วย ดังจะเห็นว่าเมื่อน้ำท่วมบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในนิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ส่งผลกระทบต่อบริษัทประกอบหรือ OEM ที่จังหวัดระยองหรือชลบุรี หลังจากนั้นจะนำเสนอแนะแนวทางในการฟื้นฟูและปรับปรุงคลังสินค้าซึ่งผมไม่เพียงแต่แนะนำให้มีการฟื้นฟูเฉพาะทางกายภาพคือการปรับปรุงการวางสินค้าหรืออุปกรณ์เท่านั้นแต่ผมจะแนะนำให้ถือโอกาสในการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสโดยปรับปรุงประสิทธิภาพหรือ KPI ของคลังสินค้าไปเลยในคราเดียวกันครับ
ก่อนอื่น เรามาพิจารณาความความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยน้ำท่วมในครั้งนี้กันก่อนนะครับ ซึ่งจะส่งผลกระทบและเป็นแรงกดดันต่อผลประกอบการของบริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าในปีนี้ โดยบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางนั้น คาดว่าอาจจะใช้เวลาปรับปรุง ฟื้นฟูและเยียวยานานประมาณ 3-6 เดือนขึ้นอยู่กับความเสียหายของแต่ละแห่งและความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการแต่ละราย ในกรณีเช่นนี้ต้องใช้การมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับและใช้ภาวะผู้นำของผู้บริหารระดับสูงครับ ถ้ามัวแต่โลเลหรือไม่กล้าตัดสินใจก็จะยิ่งช้า แต่ส่วนโรงงานหรือโกดัง/คลังสินค้าที่อยู่ในเขตน้ำท่วม แต่ไม่ได้รับความเสียหาย หรือได้รับความเสียหายน้อย การฟื้นฟูอาจจะกินเวลาสั้น ทำให้สามารถกลับมาผลิตได้ทันที เช่น สแตนเลน บิ๊กซีหรือแม็กโคร เป็นต้น


หลังจากที่รับทราบตัวอย่างสถานการณ์ความเสียหายของผู้ประกอบการกันไปแล้ว เรามาดูครับว่าเราควรจะดำเนินการอย่างไรเพื่อตั้งหลัก ฟื้นฟูและเยียวยา และสุดท้ายคือปรับปรุงประสิทธิภาพของคลังสินค้าให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้ดั่งเดิมโดยเร็ว โดยผมจะแผนงานใน 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นที่ 1 เป็นขั้นประเมินความเสียหายของคลังสินค้าและผู้เล่นอื่นๆในซัพพลายเชน 
ขั้นที่ 2 คือขั้นฟื้นฟูและปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
ขั้นที่ 3 คือขั้นเยียวยาและการสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเช่น ภาครัฐ เป็นต้น
ขั้นที่ 4 คือขั้นปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของคลังสินค้า
ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการคลังสินค้า หรือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ด้านอื่นๆสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจของตนเอง ซึ่งผมขอเสนอแนวทางการดำเนินงานตามขั้นตอนที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นพอสังเขปดังนี้
ในขั้นที่ 1 จะเป็นขั้นตอนการประเมินความเสียหายของคลังสินค้าของผู้ประกอบการเองและผู้เล่นอื่นๆในซัพพลายเชน อาทิ เช่นซัพพลายเออร์ ฝ่ายผลิต ศูนย์กระจายสินค้า พ่อค้าส่ง พ่อค้าปลีกหรือแม้แต่ลูกค้า เป็นต้น เพื่อจะได้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาใช้กำหนดกรอบเวลาในการปรับปรุงและฟื้นฟูต่อไป ในขั้นตอนนี้ ผู้ประกอบการควรจะมีหลักในการประเมิน ซึ่งแล้วแต่โรงงานหรือกิจกรรมทางธุรกิจ ถ้ายังไม่มี ผมขอเสนอแนะว่าอาจจะใช้หลักการประเมิน 3 ส่วนดังนี้ ประการแรกคือการประเมิน Hardware (เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆ เป็นต้น) ประการที่สองคือการประเมินสินค้าในคลังซึ่งอาจจะแยกโดยจำแนกจากระดับความเสียหายของสินค้า (มากที่สุด ปานกลางหรือไม่เสียหายเลย) หรือจากมูลค่าของสินค้าหรือแยกจากระดับความสำคัญของสินค้าหรือลูกค้านั้นๆ และส่วนที่สามคือ ระบบข้อมูลและSoftware ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ค่อนข้างจะประสบปัญหาเพราะหลายฝ่ายเก็บข้อมูลฐานลูกค้าและระบบจัดส่งและจัดเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ได้คาดคิดว่าน้ำจะท่วมหนักขนาดนี้ เซฟเวอร์หรืออุปกรณ์คอมหลายส่วนเสียหาย และประการสุดท้ายคือ Peopleware หรือเรื่องของคน เพราะหลายบริษัทพอหยุดงานนานก็เริ่มโละหรือปลดพนักงาน หรือพนักงานเก่าบางคนก็ลาออก การจะพัฒนาหรือสร้างคนขึ้นมาชดเชยคนเก่าจะต้องใช้เวลาและมีความอดทนพอสมควรแต่หลายบริษัทก็อาจจะตัดประเด็นนี้ไปได้เพราะพนักงานส่วนใหญ่ยังอยู่กันครบ เพียงแต่ต้องสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้เพิ่มมากขึ้น
ขั้นต่อไปคือขั้นฟื้นฟูและปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ซึ่งหลังจากประเมินความเสียหายและคัดแยะสินค้าที่ดีและเสียออกจากกัน รวมทั้งแยกอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในคลังสินค้าต่างเช่น เช่นโฟค์ลิฟหรืออุปกรณ์บรรจุภัณฑ์ เป็นต้นแล้ว ขั้นต่อไปจะต้องวางแผนการฟื้นฟูและลงมือดำเนินการฟื้นฟูความเสียหายโดยจะต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆด้าน อาทิ งบประมาณ ข้อจำกัดด้านเวลาหรือความเร่งด่วนของธุรกิจหรือลูกค้า เป็นต้น ในขั้นตอนนี้เจ้าของหรือผู้บริหารคลังสินค้าจะต้องตัดสินใจให้ชัดเจน อย่าโยนความรับผิดชอบหรือหน้าที่ไปให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะเขาเหล่านั้นย่อมไม่กล้าที่จะเสี่ยงหรือตัดสินใจ ผลที่ตามมาคือความล่าช้าหรือความไม่คืบหน้าในการฟื้นฟูความเสียหายเท่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ จะต้องเตรียมการปรับตัวเพื่อรองรับอุปสงค์ล็อตใหม่หรือออเดอร์ใหม่ให้เร็ว อย่าไปมัวเสียเวลากับเรื่องที่ผ่านมาแล้ว ทำธุรกิจต้องเร็วครับ   
ขั้นที่ 3 คือขั้นเยียวยาและการสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเช่น ภาครัฐหรือสมาคมหรือมีการรวมตัวกันของผู้ประกอบการในซัพพลายเชน เป็นต้น สิ่งนี้ถือเป็นหลักสำคัญและเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องเข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอกชน โดยอย่ามองว่าภาคเอกชนมีเงินหรือมีทุนในการซ่อมแซมหรือฟื้นฟูอยู่แล้ว เนื่องจากภัยครั้งนี้ มันเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน โดยผลกระทบกันถ้วนหน้า ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐ เช่นกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์หรือกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้นควรจะเข้ามาช่วยโดยขั้นตอนการช่วยเหลือก็มีตั้งแต่ช่วยหาแหล่งเงินทุนหรือเงินปลอดดอกเบี้ยหรือมีดอกเบี้ยต่ำ การลดหรือเว้นภาษีนิติบุคคลของกิจการที่ได้รับผลกระทบ การหาตลาดเสริมหรือเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการเหล่านั้น จนถึงขั้นต่ำคือการช่วยฝึกอบรมหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ
ขั้นที่ 4 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายคือการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของคลังสินค้า เมื่อธุรกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ประกอบการคลังสินค้าก็ไม่ควรจะดำเนินธุรกิจไปแบบนั้นเรื่อยๆ แต่ควรจะมีการหาแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาคลังสินค้าเพิ่มมากขึ้น หรืออาจจะนำเอาระบบ KPI (Key Performance Indicators) เข้ามาใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายในการทำงานของแต่ละกิจกรรมคลังสินค้า โดยทั่วไป คลังสินค้าชั้นนำทั่วโลกจะมี KPI อยู่ 3 ตัวแต่ไม่เกิน 5 ตัว เพราะยิ่งมี KPI มากก็จะยิ่งทำให้หลงเป้าหมายหรือพนักงานสับสน ดังนั้นในทางทฤษฏีก็น่าจะมีสัก 3 ตัวซึ่งอาจจะเป็นการวัดประสิทธิภาพในการทำงานคือเปรียบเทียบ Input ที่ใส่เข้าไปเทียบกับ Output ที่ออกมา หรือการเปรียบเทียบอัตถประโยชน์ของการใช้พื้นที่ คือเปรียบเทียบพื้นที่ที่มีอยู่ทั้งหมดเทียบกับพื้นที่ที่ใช้จริง หรือการวัดอัตถประโยชน์ของการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์หรือพนักงานคือเปรียบเทียบเครื่องมือ อุปกรณ์หรือพนักงานที่มีอยู่ทั้งหมดเทียบกับเครื่องมือ อุปกรณ์หรือพนักงานที่ใช้จริง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นสามารถนำมาปรับปรุงในแต่ละเดือนหรือแต่ละไตรมาส รวมทั้งสามารถนำไปใช้ในการวัดรอยเท้าผู้นำหรือ Benchmarkingได้อีกด้วยนะครับ
การเขียนบทความครั้งนี้ผมหวังว่าคงจะช่วยผู้ประกอบการคลังสินค้าหรือผู้ที่สนใจในกิจกรรมโลจิสติกส์ซึ่งจะช่วยให้มองภาพการบริหารจัดการคลังสินค้าภายหลังจากถูกน้ำท่วมและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในวันข้างหน้า ซึ่งได้มีการทำนายหรือพยากรณ์มาในปี 2556 ที่จะเกิดน้ำท่วมซ้ำอีก หลายบริษัทอาจจะใช้โอกาสนี้เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสเลยก็ดีนะครับ ถือโอกาสในการปรับปรุงทางกายภาพและเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พื้นที่และอุปกรณ์ภายในคลังสินค้า จะได้ลดข้ออ้างงัยครับว่าการจัดวางพื้นที่ คนเดิมเค้าทำไว้ให้ คนใหม่มาเลยปรับปรุงลำบากก็เลยต้องใช้แบบนี้ไปก่อน ผมคิดว่าไหนๆน้ำก็พัดพาของเดิมไปแล้ว ก็ปรับปรุงของเก่าให้ดีขึ้น แต้ถ้าของเก่าดีอยู่แล้วก็ทำให้ดีมีประสิทธิภาพยิ่งๆขึ้นไปก็ดีนะครับ 
ขณะที่ภัยพิบัติครั้งนี้นั้น หลายอุตสาหกรรมต้องประสบอุทกภัยโดยทั่วหน้ากันครับ แต่ในวันนี้ผมได้รับมอบหมายให้คุยเกี่ยวกับการปรับปรุงคลังสินค้าหลังอุทกภัยก่อน โดยในบทความนี้ผมได้โปรยประเด็นเป็นลำดับๆ โดยจะชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์น้ำท่วมของบริษัทเอกชนต่างๆ และชี้ให้เห็นถึงความเสียหายอันเกิดขึ้นจากน้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้ส่งผลเสียหายเฉพาะบริษัทที่ท่วมเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อบริษัทอื่นๆในซัพพลายเชนอีกด้วย  หลังจากนั้นผมก็ได้นำเสนอแนะแนวทางในการฟื้นฟูและปรับปรุงคลังสินค้าซึ่งผมไม่เพียงแต่แนะนำให้มีการฟื้นฟูเฉพาะทางกายภาพคือการปรับปรุงการวางสินค้าหรืออุปกรณ์เท่านั้นแต่ผมจะแนะนำให้ถือโอกาสในการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสโดยปรับปรุงประสิทธิภาพหรือ KPI ของคลังสินค้าอีกด้วยครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น