By : Assist Prof. Dr. Taweesak Theppitak
หลังจากที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมซึ่งมีปรากฏอยู่ตามโทรทัศน์เกือบทุกช่อง เพื่อติดตามและประเมินความเสียหายและคอยส่งความช่วยเหลือไปยังผู้ประสบภัยตามจุดต่างๆที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ก่อนน้ำจะท่วมบ้านของผมแถวบางพลัด ผมก็คอยติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดด้วยใจร้อนลนว่าน้องน้ำจะเข้ามาท่วมบ้านผมเมื่อไร แต่ทันทีหลังจากที่น้ำท่วมสักเมตรกว่าๆและผมกับครอบครัวอพยพออกมาทัน โวยวายกันท่ามกลางสมาชิกในครอบครัวสักพัก ผมเริ่มตั้งสติได้แล้วก็เริ่มคิดถึงต่อว่าจะต้องซ่อมแซมฟื้นฟูบ้านหลังน้อยของผมอย่างไร เพื่อให้กลับมาอยู่ได้เร็วที่สุดภายใต้งบประมาณซ่อมแซมที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งเตรียมการพัฒนาบ้านให้กลับมาน่าอยู่เหมือนดั่งเดิม ครับที่ผมพูดมาตั้งมากมายเพื่อสะท้อนถึงวิธีคิดแบบคนทั่วไป ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสามารถนำมาใช้กับผู้ประกอบการทั่วไปโดยเฉพาะตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าของไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME
ในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นคำถามที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วมปีนี้ของผมจะมี 6 ประเด็นหลักคือ
1. วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
2. ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจได้มีและได้ใช้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง แม่นยำและเชื่อถือได้เพียงใด
3. เมื่อมีวิกฤติน้ำท่วมเกิดขึ้น หน่วยงานภาครัฐอันเป็นหน่วยงานหลักได้มีการเตรียมการเพื่อรองรับผลกระทบและเตรียมการกู้ภัยอย่างไร
4. ภาครัฐมีเครื่องมือในการประเมินความเสียหายและผลกระทบที่มีประสิทธิภาพหรือไม่
5. อะไรคือมาตรการของภาครัฐในการฟื้นฟูและเยียวยาภาคเอกชนและผู้ประสบภัยทั้งระยะสั้นกลางและระยะยาว
6. ทิศทางหรือวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศในทศวรรษหน้าเพื่อให้ไทยกลับมาผงาดเป็นผู้นำไม่เพียงแต่ในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแห่งนี้
ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะเขียนภาพรวมของสถานการณ์ปัญหาน้ำท่วม โดยใช้โมเดลหรือหลักการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนมาอธิบาย และจะเสนอแนะแนวทางและกลยุทธ์โลจิสติกส์และซัพพลายเชนมาใช้ในการแก้ไข ฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม ผมได้รับแจ้งจากทางคุณบุญชัย บรรณาธิการเว็บไซด์ Logistics2days ให้ผมช่วยเขียนมาตรการในการฟื้นฟูธุรกิจ Freight Forwarders เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางหรือจุดประกายความคิดในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งช่วยให้การฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประกอบการตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าได้อย่างตรงเป้าและสอดคล้องกับปัญหาของผู้ประกอบการเหล่านั้น
ก่อนที่จะพูดคุยกันถึงเรื่องการฟื้นฟูตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้า ผมอยากให้ผู้ที่อ่านบทความนี้ เข้าใจหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าเสียก่อน ทั้งนี้ ไม่มีการบัญญัติศัพท์หรือความหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้า แต่จากการสังเคราะห์พบว่าจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการนำสินค้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยมีกิจกรรมที่เพิ่มคุณค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้านั้น โดยมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการโลจิสติกส์คือการบริหารการไหลหรือการเคลื่อนย้ายของสินค้า(Physical Flow) และข้อมูลสารสนเทศ (Information Flow) ให้มีประสิทธิภาพและบริการไม่เพียงแต่พึงพอใจแต่ต้องประทับใจ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท NYK Logistics ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้า เพื่อสนับสนุนซัพพลายเชนโดยรวมของกลุ่มบริษัท NYK จะมีหน้าที่ในการขนส่งสินค้าจากโรงงานหนึ่ง (ในขั้นตอนนี้อาจจะมีการนำตู้สินค้าเปล่าไปส่งที่โรงงาน บรรจุสินค้าหรือติดฉลากเป็นต้น) ไปยังท่าเรือและขนขึ้นเรือ ส่งต่อไปจนถึงมือลูกค้า เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าบริษัท NYK Logistics จะบริหารการไหลของสินค้า ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง และการบริหารคำสั่งซื้อหรือข้อมูลการส่งมอบสินค้าระหว่างผู้เล่นในซัพพลายเชน
การฟื้นฟูและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ หลังประสบอุทกภัย ยังไม่จบครับ ในคราวหน้า เราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่องของวิกฤตน้ำครั้งนี้จะส่งผบลกระทบกับใครกันบ้างครับ
ในวันนี้บทความ “การฟื้นฟูและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าหรือผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ภายหลังจากประสบอุทกภัยน้ำท่วมของประเทศไทย” จะเป็นการกล่าวถึง วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลกระทบอะไรต่อผู้เล่นใดบ้างในซัพพลายเชน และผู้เล่นเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างไรบ้าง ขณะที่การแก้ไขหรือการฟื้นฟูธุรกิจตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้านี้ ควรจะเริ่มต้นในการฟื้นฟูที่ฟันเฟืองหลักที่จะขับเคลื่อนธุรกิจตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าให้สามารถหมุนต่อไปได้ ควบคู่กันไปนั้นก็มีการฟื้นฟู รวมทั้งสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้า ซึ่งผมจะได้อธิบายขยายผลในหัวข้อต่อไปครับ
จากรูปภาพด้านบน แสดงผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชน โดยจะพบว่าบริษัทตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าจะเป็นผู้ที่ดำเนินการในการนำเอาสินค้าจากผู้ส่งออก (ในกรณีการส่งออกไปต่างประเทศ) หรือจากผู้ขาย (กรณีการซื้อขายภายในประเทศ) ไปส่งยังผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อสินค้า ประเด็นคำถามที่ว่าถ้าเมื่อเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมในหลายจังหวัดของไทย โดยเฉพาะพื้นที่ไข่แดงทางเศรษฐกิจของไทยคือกรุงเทพและปริมณฑล ย่อมกระทบต่อผู้นำเข้าและผู้ส่งออกของไทย อย่าลืมนะครับ แม้ว่าเราส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าจำนวนมาก แต่เราก็มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากเช่นกัน ขณะที่ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าจะเป็นผู้ดำเนินการในนามของผู้นำเข้า-ผู้ส่งออกโดยจะบริหารการไหลหรือการเคลื่อนย้ายสินค้าเพื่อส่งมอบโดยผ่านกิจกรรมโลจิสติกส์ต่างๆ อาทิ คลังสินค้า แพ็กเกจจิ้ง ชิ๊ปปิ้งหรือขนส่งในโหมดต่างๆ เป็นต้น
เมื่อตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าได้รับการว่าจ้างจากผู้ส่งออก (ผู้ขาย) ให้นำสินค้าไปส่งยังผู้นำเข้า (ผู้ซื้อ) ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าจะดำเนินการตามขั้นตอนซึ่งจะเกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมโลจิสติกส์ต่างๆ เช่นการรับ-บรรจุเข้าตู้-ออกจากตู้สินค้า ขนส่ง ชิปปิ้ง ติดฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น และนำไปวางไว้ที่ท่าเรือหรือท่าอากาศยาน (Gateway) เพื่อรอเรือสินค้าหรือเครื่องบินมาบรรทุกและส่งมอบไปยังท่าเรือหรือท่าอากาศยานอีกฝั่งหนึ่งและดำเนินการเหมือนกระบวนการขาออกดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยปกติ ความอยู่รอดของตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าจะขึ้นอยู่กับภาพรวมการเติบโตและการขยายตัวของการนำเข้า-ส่งออกไม่เพียงแต่เฉพาะของไทยเท่านั้นแต่ของทั้งโลก เนื่องจากไทยได้ค้าขายกับประเทศต่างๆมากกว่า 156 ประเทศ มากบ้างน้อยบ้างลดหลั่นกันไป
ดังนั้นภายการฟื้นฟูและเยียวยาตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าโดยตรง อาจจะไม่ใช่มาตรการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบควรจะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด มองปัญหาแบบองค์รวม (Holistic View) แล้วค่อยๆ จัดมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประกอบการในระยะต่างๆ เช่นระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ทั้งนี้สิ่งที่หน่วยงานที่จะช่วยเหลือหรือเข้าไปเยียวยาผู้ประกอบการจะต้องทราบคือการมีฐานข้อมูลที่อัปเดท ถูกต้องและเชื่อถือได้ที่จะรู้จำนวน เขตพื้นที่ที่ผู้ประกอบการประสบอุทกภัยและประเภทธุรกิจตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าซึ่งแบบออกเป็น VOCC และ NVOCC ซึ่งผมขออนุญาตที่จะไม่อธิบายขยายความในที่นี้ เดี๋ยวจะกล่าวเป็นการเขียนตำรา มากกว่าเสนอแนะมาตรการฟื้นฟูตามที่กล่าวไว้
นอกจากนี้ควรมีข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำเพื่อให้รู้ถึงระดับของความเสียหายเพื่อนำมาใช้ในการกำหนดแผนฟื้นฟูและเยียวยา การทำงานโดยปราศจากฐานข้อมูลดังกล่าวเปรียบเสมือนการพายเรือในอ่างซึ่งวนไปวนมา โดยปัญหาที่แท้จริงไม่ได้ถูกแก้ไข ในการแก้ปัญหาแบบซัพพลายเชน กล่าวคือ ผมอยากให้พิจารณาที่ตัวขับเคลื่อนหรือเฟืองหลักของธุรกิจตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้า นั่นคือผู้นำเข้า-ส่งออกหรือผู้ซื้อ-ผู้ขาย
ทั้งนี้ถ้าเราสามารถผลักดันและขับเคลื่อนภาคการนำเข้า-ส่งออกของไทยฟื้นตัวเร็วมากเท่าไร ก็จะกระตุ้นให้ธุรกิจตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้ามีการฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น บางท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับผม ไม่เป็นไรครับ ผมเพียงแค่เสนอแนะนะครับ ลองคิดดูนะครับ ว่าถ้าเรากระตุ้นเฉพาะธุรกิจตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีงานให้ธุรกิจนี้ทำเพราะโรงงานที่ฮอนด้าหรือซัพพลายเออร์ที่นิคมโรจนะน้ำยังท่วมอยู่ ผู้ประกอบการตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าจะเอางานที่ไหนไปขนล่ะครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะละเลยไม่ช่วยเหลือผู้ประกอบการตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้านะครับ ผมมีมาตรการที่จะต้องทำคู่ขนานกันไป
...ในตอนต่อไปของบทความนี้ จะเป็นการกล่าวถึงกรอบแนวคิดในการฟื้นฟูธุรกิจตัวแทนรับส่งสินค้ากันครับ ติดตามได้ในสัปดาห์หน้าครับ,,,
หลังจากที่ได้กล่าวถึงบทบาทและกิจกรรมของผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนกันไปแล้วในตอนนี้ จะเน้นไปที่เรื่องของแนวทางการฟื้นฟูธุรกิจตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้ากันต่อไป จากรูปภาพด้านบนเป็นการแสดงโมเดลในการฟื้นฟูธุรกิจตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้า เนื่องจากผมมีพื้นที่ในการเขียนเสนอแนะที่ค่อนข้างจำกัด
ดังนั้นผมใคร่ขอสรุปคือสิ่งแรกที่จะต้องทำคือการกำหนดวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูและช่วยเหลือให้ชัดเจนเสียก่อน สองคือมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงิน สามคือมาตรการด้านการตลาด สี่คือมาตรการด้านโลจิสติกส์ ห้าคือมาตรการด้านภาษีและสิ่งจูงใจต่างๆ หกคือมาตรการด้านการคิดอย่างเป็นระบบและมีวินัยในการคิด ประการสุดท้ายคือการสร้างและยกระดับซัพพลายเชนของธุรกิจตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้า
ทั้งนี้ ก่อนการกำหนดแนวทางหรือมาตรการแก้ไขปัญหาหรือการฟื้นฟูหรือเยียวยาผู้ประกอบการคือการกำหนดวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูและช่วยเหลือให้ชัดเจนเสียก่อน ว่าทิศทางของการเข้าไปช่วยเหลือหรือฟื้นฟูผู้ประกอบการเหล่านั้นจะไปทางใด ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ไปกันคนละทิศละทาง กระทรวงพาณิชย์ไปทาง กระทรวงอุตสาหกรรมไปทาง ซึ่งเราจะทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมาย นอกจากนี้ ควรกำหนดวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูหรือเยียวยาว่าจุดสุดท้ายแล้ว เราต้องการเห็นผู้ประกอบการเหล่านั้นเป็นอย่างไรภายหลังจากที่เราเข้าไปช่วยแล้ว ช่วยกำหนดเป็น KPI หรือตัวชี้วัดได้ก็จะดีเยี่ยมครับ เพราะจะทำให้เราสามารถวัดผลการปฏิบัติงานเมื่อได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านั้นแล้วว่าได้บรรลุเป้าหมายหรือไม่ อย่างไร
สองคือมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงิน ตลอดช่วงสองสามเดือนที่มีอุทกภัยน้ำท่วมนั้น ธุรกิจจำนวนมากไม่ได้ทำงานทำการ เนื่องมาจากหลายสาเหตุ อาทิ ผู้นำเข้า-ส่งออกหยุดหรือปิดกิจการชั่วคราว เช่น โรงงานตามนิคมฯที่ประสบภัยต่างๆ เส้นทางการขนส่งหรือพื้นที่คลังสินค้าถูกน้ำท่วม เป็นต้น ทำให้ประสบปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งผลกระทบจะแตกต่างกันไปตามสภาพธุรกิจตั้งแต่ล้มบนฟูกจนถึงกระอักออกมาเป็นเลือด ทั้งนี้เงินหมุนเวียนเปรียบเสมือนเส้นเลือดของธุรกิจ ขาดเลือดก็ตายหรือไหลออกมามากเกินไปก็ตาย การหยุดกิจการโดยไม่ได้คาดคิดหรือไม่อยากจะคิดก็ตามจะส่งผลให้ผู้ประกอบการตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าช็อกและช็อตเงินหมุนเวียน มาตรการนี้ ควรหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ยในปีต้นๆ ซึ่งจะช่วยได้อย่างมาก
...ในคราวหน้า เราจะมาติดตามแนวทางการช่วยเหลือและฟื้นฟูธุรกิจตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้าในมาตรการต่อๆไป ครับ....
หลังจากที่ได้กล่าวถึงมาตรกาารช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการไปแล้วคือ การกำหนดแนวทาง และการช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านการเงินไปแล้ว ในครั้งนี้จะมากล่าวถึงเรื่องของมาตรการอื่นสำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบกันต่อไป
มาตรการข้อต่อมา ซึ่งถือเป็นมาตรการที่สาม คือมาตรการด้านการตลาด ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการช่วยเหลือนอกจากจะช่วยผู้ประกอบการตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าแล้ว ควรจะต้องเข้าไปช่วยผู้นำเข้า-ส่งออกในการสร้าง เสริมและพัฒนาตลาดส่งออก นอกเหนือจากตลาดคู่ค้าขาประจำซึ่งนับวันจะมีการแข่งขันที่รุนแรงและอำนาจซื้อน้อยลงและกฎระเบียบมากมาย สำหรับมาตรการด้านการตลาดที่จะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้านั้น ควรจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเหล่านี้หาตลาดใหม่ นอกเหนือจากตลาดหรือลูกค้าที่เป็นผู้นำเข้า-ส่งออกขาประจำ
สี่คือมาตรการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งหมายถึงการเร่งปรับปรุงและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้านการขนส่งและเครือข่ายการกระจายสินค้า โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงการขนส่งในโหมดต่างๆ เพราะภายหลังจากน้ำลดแล้ว คาดว่าจะมีถนนเศรษฐกิจหลักที่สำคัญมากกว่าร้อยละ 60 ที่เสียหายซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขโดยเร่งด่วนเพราะระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศ (Domestic Logistics) มีการขนส่งทางถนนมากกว่าร้อยละ 85 ลองดูปรากฎการณ์ของอุปโภคบริโภคที่ขาดแคลนซิครับ ทั้งๆที่ผู้ผลิตหลายรายบอกว่าของมี แต่ส่งของให้ไม่ได้ เพราะไม่มีรถขน เมื่อสอบถามผูให้บริการขนส่ง ก็ได้รับคำตอบว่าถนนไม่ดี หลายเส้นทางมีน้ำท่วมจึงไม่กล้านำรถไปวิ่ง ตอบกันไปกันมาแบบงูกินหางน่ะครับ สรุปคือเร่งฟื้นฟูและซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานโดยเฉพาะเครือข่ายถนนต่างๆ ซึ่งถือเป็นหัวใจของธุรกิจตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าเลยก็ว่าได้นะครับ
ห้าคือมาตรการด้านภาษีและสิ่งจูงใจต่างๆ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขาดรายได้ ไม่มีงาน ดังนั้นมาตรการด้านการตลาดและด้านการเงินอาจจะไม่เพียงพอ หน่วยงานภาครัฐอาจจะต้องนำเอามาตรการด้านภาษี (เช่น ภาษีนิติบุคคลหรือการลดหย่อนการนำเข้าเครื่องจักรหรืออะไหล่) หรือสิ่งจูงใจอื่นๆ เข้ามาใช้ร่วมกับมาตรการอื่นๆ อย่างที่ผมเรียนไปแล้วว่า ถ้าท่านมีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้และทันสมัย ท่านก็จะบอกได้อย่างชัดเจนว่าจะต้องเข้าไปช่วยผู้ประกอบการด้านภาษีใดบ้าง หกคือมาตรการด้านการคิดอย่างเป็นระบบและมีวินัยในการคิด สิ่งที่เน้นย้ำเรื่องนี้ เพราะประสบการณ์ของผมสอนให้รู้จักวิธีทำงานของคนไทยที่ผมพบด้วยตนเอง คือ 1. ไม่มีแผนงาน และ 2. มีแผนแต่ไม่ทำตามแผน ทั้งนี้ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ กลายเป็นวัฒนธรรมในการคิดแบบไทยๆ ไปแล้วล่ะครับ ดังคำกล่าวที่ว่า “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” ต่างคนต่างคิดต่างทำ ทำไมเราไม่หันหน้ามาคุยกันและปรับเป้าหมายการทำงานให้ตรงกันล่ะครับ ลดทิฐิหรืออคติทั้งปวงก่อน แล้วค่อยๆ ทำงานให้ประสานกัน
และประการสุดท้ายคือการสร้างและยกระดับซัพพลายเชนของธุรกิจตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้า ที่ผมเสนอมาตรการนี้ เป็นมาตรการสุดท้ายเพราะเป็นมาตรการที่ทำได้ยากเพราะคนไทยเล่นอะไรเป็นทีมไม่เป็น และเราก็มักจะไม่รู้ว่าจะเล่นอย่างไร การสร้างซัพพลายเชนจะต้องมาจากความเชื่อใจหรือไว้ใจ ซึ่งจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เล่นในซัพพลายเชน ผู้เล่นของไทยส่วนใหญ่ชอบแบบวันแมนโชว์ ลองพยายามรวมกลุ่มท่ามกลางกลุ่มตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าหรือสร้างคลัสเตอร์ของกลุ่มขึ้นเพื่อ 1. ดูแลและช่วยเหลือกันเองภายในกลุ่มก่อน 2. สร้างอำนาจต่อรองกับคู่แข่งที่เป็นตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าต่างชาติที่เข้ามายึดตลาดผู้รับจัดการขนส่งสินค้าในบ้านเราหมดแล้ว 3. สร้างอำนาจต่อรองและดูน่าเชื่อถือเมื่อเข้าไปคุยกับผู้ว่าจ้าง เช่นผู้นำเข้า-ส่งออก 4. สร้างเอกลักษณ์และความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น