โลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics)
หลักการนี้เป็นการนำบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ลูกค้าคืน สินค้าตกรุ่น สินค้าชำรุดมีตำหนิ หรือวัสดุเหลือหลังจากการอุปโภคบริโภคมาสร้างมูลค่าใหม่
เป็นที่ทราบว่าการจัดการโลจิสติกส์ ที่มีประสิทธิภาพสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจทั้งทางด้านการลดต้นทุน การเพิ่มความรวดเร็วในการตอบสนองลูกค้า ตลอดจนการนำเสนอความหลากหลายและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ของลูกค้าที่แตกต่างกัน
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นเฉพาะการเสริมสร้างประสิทธิภาพของกิจกรรม โลจิสติกส์ในทิศทางจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ของลูกค้า เป็นหลัก ดังนั้น โครงสร้างของระบบโลจิสติกส์จึงมีทิศทางการไหลของสินค้าจากผู้จัดหาวัตถุดิบ ไปยังโรงงาน ผู้กระจายสินค้า ร้านค้าปลีก ไปจนถึงมือผู้บริโภคสุดท้าย
ขณะที่เทคนิคการจัดการโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับการเคลื่อนย้ายสินค้าไปในทิศทางข้างหน้า (Forward Logistics) น้อยคนนักที่จะรู้จักคำว่า Reverse Logistics หรือ โลจิสติกส์ย้อนกลับ ว่าคืออะไรและมีบทบาทอย่างไรต่อการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน
“โลจิสติกส์ย้อนกลับ” เกี่ยวข้องกับกระบวนการวางแผน ปฏิบัติ และควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าและข้อมูลข่าวสาร จากปลายทางซึ่งได้แก่ผู้บริโภค ย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
กิจกรรมของโลจิสติกส์ย้อนกลับจะคล้ายกับกิจกรรมที่มีในระบบโลจิสติกส์ปกติ เช่น การขนส่ง การพยากรณ์อุปสงค์ การบริหารสินค้าคงคลัง และการจัดการคลังสินค้า เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้ว การทำโลจิสติกส์ย้อนกลับมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ลูกค้าคืน สินค้าตกรุ่น สินค้าชำรุด/มีตำหนิ หรือวัสดุเหลือหลังจากการอุปโภค/บริโภคมาสร้างมูลค่าใหม่ (Recapturing value) โดยการนำมาใช้ซ้ำ (Reuse) จำหน่ายใหม่ (Resell) ซ่อมแซม (Repair) ทำการผลิตซ้ำ (Remanufacture) ไปจนถึงการนำมาแปรสภาพเป็นวัตถุดิบ (Recycle) เพื่อใช้หมุนเวียนต่อไป
ลองนึกถึงภาพการนำขวดน้ำอัดลมที่ใช้แล้วขนส่งกลับไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อทำ การบรรจุใหม่ ซึ่งในกรณีนี้ การทำโลจิสติกส์ย้อนกลับจะมีวัตถุประสงค์ในการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่เพื่อ เป็นการประหยัดต้นทุน ดังนั้น หากบริษัทมีระบบโลจิสติกส์ย้อนกลับที่ไม่มีประสิทธิภาพก็จะทำให้เกิดต้นทุน โลจิสติกส์สูงเกินไปจนอาจจะไม่คุ้มค่าต่อการนำสินค้านั้นกลับคืนมา
ส่วน ใหญ่แล้ว คนทั่วไปมักไม่ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของการทำโลจิสติกส์ย้อนกลับ เนื่องจากคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความพึงพอใจของ ลูกค้า ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ธุรกิจค้าปลีกเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ย้อนกลับ มาก การรับคืนสินค้าที่มีตำหนิหรือสินค้าที่ลูกค้าไม่พึงพอใจในคุณสมบัติได้กลาย เป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง
ทั้งนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่จะพิจารณาเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าที่มีนโยบายในการรับคืนสินค้า หากมีราคาที่ไม่แตกต่างกันมากนัก นอกจากนี้ ธุรกิจค้าปลีกยังต้องอาศัยการทำโลจิสติกส์ย้อนกลับกับสินค้าที่ตกรุ่นหรือสต็อกไว้มากจนเกินไป เพื่อนำสินค้าเหล่านั้นไปจำหน่ายยังแหล่งที่ยังมีความต้องการอยู่ หรือส่งคืนกลับไปให้กับผู้ผลิต
นอก เหนือจากการนำกลับมาสร้างมูลค่าใหม่เพื่อการประหยัดต้นทุน อีกวัตถุประสงค์หนึ่งของการทำโลจิสติกส์ย้อนกลับคือการนำสินค้ากลับมาทำลาย อย่างถูกวิธี เช่น สินค้าอันตรายและสินค้าที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายบังคับให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่อง ใช้ไฟฟ้าต้องทำโลจิสติกส์ย้อนกลับสำหรับผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว
ประโยชน์แฝงที่ได้จากการทำโลจิสติกส์ย้อนกลับคือ การสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กรทางด้านการเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการทำ Corporate Social Responsibility (CSR) ที่กำลังเป็นที่นิยมกัน โดยต่อไป ประเด็นทางด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ลูกค้าใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงส่งผลต่อการกีดกันทางการค้าสำหรับคู่ค้าบางประเทศอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า โลจิสติกส์ย้อนกลับได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาพธุรกิจที่ต้องแข่งขันกันทั้งทางด้านต้นทุนและการเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า รวมถึงกระแสของการตื่นตัวในปัญหาโลกร้อน
เราคงต้องกลับมาดูแล้วล่ะครับว่าในองค์กรของเรามีความจำเป็นที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับการทำโลจิสติกส์ย้อนกลับมากน้อยแค่ไหน และจะหาแนวทางในการพัฒนาตามแนวคิดของ “องค์กรมีดีไซน์” ได้อย่างไร แล้วคราวหน้ามาคุยกันครับ
Source : http://www.dxplace.com/node/4704
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น