การตรวจสอบสถานภาพสินค้าอย่าง Real Time ทำให้สามารถวางแผนการผลิตทั้งในเรื่องตรวจสอบคุณภาพ ความสูญเสีย และกำลังผลิต
กระบวนการโลจิสติกส์ภายในโรงงานผลิต (Internal Logistics) เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีมีบทบาทสำคัญในการวางแผนการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งปัญหาส่วนมากมักเกิดจากการสูญเสียระหว่างการขนส่ง การแปรรูปอาหาร ความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งเป็น 3 เรื่องหลักที่ RFID เข้ามามีส่วนร่วมทำให้กระบวนผลิตสามารถมองเห็นเป็นภาพ (Visibility) และตรวจสอบได้ (Traceability)
ดร. นัยวุฒิ วงษ์โคเมท บริษัท ไอ.อี.เทคโนโลยี จำกัด ได้ทำการศึกษาเทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารไทย โดยการสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีแห่งประเทศไทย (RFID Institute of Thailand) โดยได้แสดงความคิดเห็นถึงสถานการณ์ในอุตสาหกรรมอาหารโลกว่า อาหารที่ผลิตขึ้นมามากกว่าครึ่งคือการสูญเสีย สูญหาย หรือต้องนำไปทิ้ง เนื่องจากประสิทธิภาพการจัดการซัพพลายเชนโดยบุคลากรไม่มีคุณภาพพอเพียง ต่อเมื่อนำ RFID มาใช้จะสามารถช่วยในตรวจสอบอย่าง Real Time เกิดผลประโยชน์ในเรื่องความเชื่อถือได้ ความรวดเร็ว แม่นยำ สามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลไอทีอื่นๆ ในระบบได้ เพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจ เปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในซัพพลายเชนทั้งระบบ
การทำงานของ RFID ในอุตสาหกรรม
RFID (Radio Frequency Identification) เป็นระบบที่นำเอาคลื่นวิทยุมาเป็นคลื่นพาหนะเพื่อใช้ในการสื่อสารข้อมูลระหว่างอุปกรณ์สองชนิดที่เรียกว่า tag และตัวอ่านข้อมูล (Reader หรือ Interrogator) ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบไร้สาย (Wireless) โดยการนำข้อมูลที่ต้องการส่ง มาทำการ modulation กับคลื่นวิทยุแล้วส่งออกผ่านทางสายอากาศที่อยู่ในตัวรับข้อมูล การประยุกต์ใช้งาน RFID จะมีลักษณะการใช้งานที่คล้ายกับบาร์โค้ด (Barcode) และยังสามารถรองรับความต้องการอีกหลายอย่างที่บาร์โค้ดไม่สามารถตอบสนองได้ แต่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ สำหรับเป็นข้อมูลทางการขายสินค้าปลีกต่อไป
องค์ประกอบที่สำคัญของ RFID คือ tag มีทั้ง Active Tag มีแบตตอรี่อยู่ภายในสามารถอ่านและบันทึกข้อมูลได้ Passive Tag ไม่มีแบตตอรี่แต่จะทำงานโดยอาศัยพลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากการเหนี่ยวนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากตัวอ่านข้อมูล Semi Passive Tag มีแบตตอรี่อยู่ แต่ไม่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของตัวอ่านข้อมูลหรือ Reader/Interrogator รับข้อมูลที่ส่งมาจาก Tag แล้วทำการตรวจสอบ ถอดรหัสข้อมูลและนำข้อมูลเข้าสู่ Middleware ทำหน้าที่เชื่องโยงฮาร์ดแวร์กับแอพพลิเคชั่นที่อุตสาหกรรมใช้ เช่น ERP ก่อนจะส่งไปยัง Enterprise Software ในองค์กรที่ใช้งานเพื่อนำไปประมวลผลขั้นสูงและประกอบการตัดสินใจต่อธุรกิจ
การตรวจสอบย้อนกลับในอุตสาหกรรมอาหาร
เทคโนโลยี RFID มีประโยชน์ในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะเมื่อเห็นกระบวนการผลิตอย่าง Real Time แล้ว ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตสามารถเห็นสถานภาพของสินค้าได้ทันที โดยเฉพาะเวลามีวิกฤตการณ์การปนเปื้อนสารเคมี เชื้อโรคในอาหาร การใช้เทคโนโลยี RFID สามารถตอบสอบได้ว่า ส่วนผสมมาจากที่ใดบ้าง ผลิตวันและเวลา สินค้ามี Shelf Life เหลืออยู่เป็นระยะเวลาเท่าใด อาหารปลอดภัยต่อการบริโภคหรือไม่
เมื่ออุตสาหกรรมอาหารขึ้นอยู่กับความสดใหม่เป็นสำคัญ RFID สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงการเห็นภาพโดยรวม (visibility) ความปลอดภัย การตัดสินใจ การจัดการสินค้าเข้าออก (FIFO) ความถูกต้อง นอกจากนี้แล้ว ต้นทุนของ RFID คิดเป็น 10-20% ของระบบทั้งหมด
การนำ RFID ไปใช้กับสินค้าผักผลไม้โดยนำ Tag ติดไว้ตระกว้าหรือฝังไว้ตะกร้า ถ้าใช้กับอาหารประเภทเนื้อสัตว์จะนำไปติดไว้ในหูของสัตว์ที่จะถูกนำไปชำแหละตั้งแต่ในฟาร์ม จุดรับซื้อ รวบรวมส่งเข้าโรงงานไปยังศูนย์กระจายสินค้าจนถึงผู้บริโภค ลักษณะการใช้ถูกแบ่งเป็นกระบวนการสั้นๆ แล้วนำข้อมูลมาต่อกัน ข้อมูลที่ได้เป็น Real Time แล้วนำมาประมวลผล การจัดการการผลิต เครื่องมือที่ใช้นำมา Integrate เข้าด้วยกันจนสามารถส่งข้อมูลได้ไกลในระดับประเทศได้ จึงเป็นประโยชน์เมื่อต้องการค้าขายกับต่างประเทศ ในช่วงเวลาที่ความปลอดภัยของอาหารเป็นเรื่องที่คู่ค้าต่างชาติให้ความสำคัญ
กรณีศึกษาการตรวจสอบย้อนกลับ
จากการศึกษาพืชผักสดจากโครงการหลวง ใช้การติด Tag กับตะกร้าใหญ่แล้วกระจายสู่ตะกร้าเล็กเพื่อทำการตัดแต่ง แล้วนำสู่สายพานและบรรจุเป็นแพ็คย่อยซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นบาร์โค้ด ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์จึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่จุดผลิต ประหยัดต้นทุนค่าแรงงานที่ต้องใช้ในการจดข้อมูลสินค้าและลดความผิดพลาดที่เกิดจาก Human Error
ด้านเครือเบทาโกร ใช้กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับอย่างเต็มรูปแบบเรียกว่า Betagro e-Traceability รวมทั้งได้ดำเนินโครงการประกันความปลอดภัยและคุณภาพอาหาร เพื่อให้กระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยทั้งระบบและมีขั้นตอนมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเครื่อง Spy on Me Kiosk ติดตั้งในซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งผลิตของสินค้าที่ผลิตโดยเบทาโกรได้
CPF ใช้เทคโนโลยี RFID ในด้าน Food Traceability เริ่มตั้งแต่การนำสุกรเข้าสู่โรงงานชำแหละซึ่งจะมี RFID Tag ติดอยู่บนขอเกี่ยว จากนั้นเข้าสู่กระบวนการผลิตแปรรูปโดยมี Tag ติดอยู่ที่ตะกร้า เดินทางไปจนถึงการผลิตเป็นแพ็คเกจ ขั้นตอนสุดท้ายของระบบจะถูกเปลี่ยนเป็นบาร์โค้ดเพื่อกระจายไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้ผู้บริโภคสามารถติดตามตรวจสอบย้อนกลับจากข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้ เช่น เนื้อซื้อมามาจากฟาร์มไหน ถูกชำแหละเมื่อใด
ระบบการตรวจสอบย้อนกลับในอุตสาหกรรมผลิตกุ้ง โดยการนำ Tag ไปติดไว้ตะกร้าและดำเนินการตั้งแต่การแบ่งขนาดกุ้ง แกะเปลือก คัดไซส์ ตัดหัว เครื่องอ่านซอฟท์แวร์จะทำการบันทึกข้อมูลแล้วนำมาแชร์ร่วมกันให้กับบริษัทคู่ค้า จากเดิมใช้พนักงาน 9 คนในการจดบันทึกเมื่อใช้เทคโนโลยี RFID ให้พนักงาน 1 คนในการดำเนินการ
นอกจากการใช้เทคโนโลยี RFID เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและการสูญเสียอาหารแล้ว การใช้เทคโนโลยีนี้ยังสามารถช่วยวางแผนกำลังการผลิต เมื่อข้อมูลเป็น Real Time ทำให้ตรวจสอบว่าพนักงานคนไหนทำอะไรบ้าง จึงสามารถจ่ายแรงงานตามน้ำหนักที่พนักงานทำงาน ถ้าเกิดความผิดปกติจากการผลิต เช่น น้ำหนักสินค้าไม่ตรงตามมาตรฐาน สามารถระบุได้ว่าพนักงานคนไหนทำ หลังจากนั้นจึงฝึกพนักงานคนนั้นใหม่ให้ปฏิบัติงานให้ถูกต้องต่อไป
RFID ตรวจสอบเรื่อง Yield คุณภาพ น้ำหนัก การสูญหาย และกำลังการผลิต ทั้งหมดนี้จะนำมารวมเป็นข้อมูลเพื่อควบคุมการผลิต แสดงให้เห็นภาพการผลิตในแต่ละจุดว่า การผลิตขณะนี้เป็นจำนวนเท่าไร และยังไม่ได้ผลิตอีกเท่าใด ระบุชัดให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการผลิตขณะนั้น รวมถึงการเมื่อการขนย้ายอาหารที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ RFI Dจะช่วยตรวจสอบว่าการขนส่งอาหารถูกต้องตามอุณหภูมิที่กำหนดหรือไม่
“ผู้ประกอบการยังไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบย้อนกลับ จนกว่าจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยอาหารเกิดขึ้น จึงตรวจสอบ แต่การใช้เทคโนโลยี RFID ตั้งแต่ปัญหายังไม่เกิดจะช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ตรวจสอบได้แม่นยำ นำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ วางแผนการผลิต ระยะเวลาการคืนทุนไม่เกิน 2 ปี” ดร.นัยวุฒิ กล่าวสรุป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น