วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

Free Zone สนามบินสุวรรณภูมิ


หากเป้าหมายของผู้ประกอบการผลิต-ส่งออก คือการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน การดำเนินธุรกิจด้วยกิจกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มภายในเขตปลอดอากร สนามบินสุวรรณภูมิ ก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจทางหนึ่ง
การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้วย Value Added Activities เป็นการสร้างโอกาสและพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ ทั้งนี้ยังช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกรรมด้านโลจิสติกส์ได้อย่างเต็มรูปแบบและครบวงจรภายในสถานที่แห่งเดียว
สนามบินสุวรรณภูมิเปิดทำการเมื่อปี 2549 ปี จนกระทั่งประมาณปี 2551 ได้ทำการเปิดส่วนของพื้นที่เพิ่มมูลค่าสินค้า (Value Added Activities) ในเขตปลอดอากร (Free Zone) ซึ่งนับว่าเป็นกิจกรรมที่จะช่วยผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนโดยการใช้สิทธิประโยชน์ในการใช้พื้นที่เขตปลอดอากร


คุณวิทยา อนุกูล

คุณวิทยา อนุกูล ผู้อำนวยการโครงการบริหารและจัดการเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ช่วงแรกที่เปิดสนามบินผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้า ซึ่งดำเนินการเฉพาะการขนถ่ายสินค้า ระยะเวลาที่ผ่านมาธุรกิจไทยหรือผู้ประกอบการไทยเราเองก็ต้องเรียนรู้มุมของธุรกิจที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการที่มองเห็นประโยชน์อย่างเช่น บริษัท ฮอนด้า แอคเซส ที่มองเห็นโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในเขตฟรีโซน ซึ่งเราคาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
เรามองภาพว่าในแง่กิจกรรมเพิ่มมูลค่าในฟรีโซนได้สิทธิประโยชน์มากในเชิงของการเพิ่มมูลค่าที่เพิ่มขึ้น อย่างฮอนด้า แอคเซส เองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องต้นทุนค่าเช่า แต่มีมุมมองของการรับสิทธิประโยชน์จากฟรีโซนไปใช้ซึ่งมีมากมาย ดังนั้นเป้าหมายของเราคือพยายามทำอย่างไรจะสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการในการใช้สิทธิประโยชน์จากฟรีโซนคุณวิทยา กล่าว
อันที่จริงเขตปลอดอากร (Free Zone) ที่มีไม่เฉพาะในสนามบินเท่านั้น ในแง่การแข่งขันและความคุ้มค่ากับการลงทุน คุณวิทยา มองว่า สนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางในแง่ Multimodal Transport โอกาสจึงมีมากกว่าฟรีโซนที่เป็น Inland โดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์ ซึ่งที่นี่ให้บริการลักษณะเป็น One Stop Service ยิ่งถ้าผู้ประกอบการที่เข้าใจธุรกิจในเชิงเพิ่มมูลค่าสินค้าและใช้ความได้เปรียบทางโลจิสติกส์ด้วยระยะทางที่ใกล้กว่าก็จะเป็นข้อได้เปรียบจริงๆ
พื้นที่สำหรับเพิ่มมูลค่าสินค้า (Value Added Area: VAA) เป็นพื้นที่ภายในเขตปลอดอากร (Free Zone) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่สามารถประกอบกิจการทางพาณิชยกรรมซึ่งเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าที่กรมศุลกากรพิจารณาอนุญาต ได้แก่ การค้า การแบ่งแยกกอง การจัดประเภท การคัดเลือก การบรรจุ การแบ่งบรรจุ การบรรจุใหม่ การปิดฉลากหรือเครื่องหมายอื่นใด กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
การให้บริการศุลกากร ณ พื้นที่สำหรับเพิ่มมูลค่าสินค้า (Value Added Area: VAA) เขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สสภ.) ได้อำนวยความสะดวกด้วยการจัดตั้ง ศูนย์บริการศุลกากรพื้นที่เพิ่มมูลค่าสินค้า (ศบพส.) ขึ้น ณ อาคารบริการกลาง (S1) ในบริเวณพื้นที่สำหรับเพิ่มมูลค่าสินค้า (Value Added Area: VAA) เพื่อให้บริการศุลกากรแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว สำหรับการนำสินค้าเข้าและออกจากพื้นที่
ฮอนด้า ลดต้นทุนโดยใช้พื้นที่เขตปลอดอากร 
บริษัท ฮอนด้า แอคเซส เอเชีย แอนด์ โอเชียเนีย จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของฮอนด้า ที่มีสาขาเกือบทั่วโลก เป็นบริษัทที่ได้ดำเนินการกิจกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้าในฟรีโซน (Free Zone) อย่างครบวงจร คือ Sorting & Relabeling, Assembly, Rework, Sub Assy outbound FZ และ Combine cargo
Sorting, Relabeling โดยการนำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศ ทำการแยกสินค้าที่จะใช้ในประเทศ และรีแพคสินค้าที่จะทำการส่งไปต่างประเทศ  Assembly นำสินค้าที่อยู่ในประเทศและนำเข้ามาจากต่างประเทศ มารวมกันเป็นสินค้าใหม่แล้วทำการส่งออก Rework ฮอนด้าประสบปัญหาสินค้าที่เกิดการเสียหายในการขนส่ง จึงใช้พื้นที่ฟรีโซนจัดการปัญหานี้ทั้งหมด แล้วทำการส่งออก Sub Assy outbound FZ ฮอนด้ามีการนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา เพื่อส่งซัพพลายเออร์ให้กับโรงงานผลิตประกอบในประเทศ โดยไม่ต้องจ่ายภาษี เมื่อนำเข้ามาในเขตฟรีโซน แล้วทำการส่งออก
คุณเมฆิน ปานรุ่ง หัวหน้างานจัดซื้อต่างประเทศ กล่าวว่า ฮอนด้านำสินค้าเข้ามาแล้วส่งออกโดยไม่เสียภาษี เพราะเรามีการจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการในอนาคต กำลังศึกษาผลิตประกอบเป็นตัวรถแล้วทำการส่งออก


คุณอาภาพรรณี แสงมุกดา

มาตรการสนับสนุนและผลักดันเขตปลอดอากร
คุณอาภาพรรณี แสงมุกดา หัวหน้าฝ่ายพิธีการกลาง สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวถึงมาตรการของกรมศุลกากรในการสนับสนุนและผลักดันเขตปลอดอากร (Free Zone) สนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นฮับด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศของภูมิภาคเอเชียว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าหรือการค้าระหว่างประเทศมีเอกสารหรือมีพิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ มากมายไม่น้อยกว่า 27-30 หน่วยงาน เป็นหน้าที่ของกรมศุลกากรที่ได้มีการดำเนินการในเรื่องของระบบ National Single Window เพื่อการเชื่อมโยงเอกสารกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
เขตปลอดอากรหรือฟรีโซน (Free Zone) คือ เขตพื้นที่ที่กรมศุลกากรอนุมัติให้จัดตั้งเพื่อใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ โดยของที่นำเข้าไปในเขตดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามกฎหมายบัญญัติไว้

สำหรับข้อได้เปรียบที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการใช้สิทธิประโยชน์ในเขตปลอดอากรหรือฟรีโซน
อันดับแรกคือเรื่องต้นทุน ผู้ประกอบการในฟรีโซนสามารถดูแลต้นทุนในเรื่องของค่าภาษีอากรได้ เมื่อนำของเข้ามาเขตฟรีโซน ยังไม่ต้องเสียค่าภาษีอากร ซึ่งสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในส่วนอื่นของธุรกิจได้
สอง ผู้ประกอบการในเขตฟรีโซน ส่วนใหญ่จะได้รับความเชื่อถือ และมีความมั่นคง ปลอดภัย เพราะผู้ประกอบการที่จะขอจัดตั้งเป็นผู้ประกอบการในเขตฟรีโซน กรมศุลกากรจะต้องทำการตรวจสอบฐานะการเงิน
สาม เมื่อมีความน่าเชื่อถือแล้ว ความรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ ก็ตามมา ทั้งสามเรื่องจะผลักดันให้ฟรีโซนสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคได้


เขตปลอดอากรสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจอย่างไร 
1. ในเรื่องของการขอจัดตั้งเขตปลอดอากรจะจัดตั้งได้ง่าย โดยกรมศุลกากรหน่วยงานเดียว
2. การยกเว้นภาษี โดยยึดหลักในเรื่องของพื้นที่ ซึ่งมีการควบคุมทางกายภาพ (physical control) มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรให้บริการพิธีการศุลกากรในการนำเข้า-ส่งออก และพิธีการอื่นๆ แบบเบ็ดเสร็จในหน่วยงานเดียว (one stop service) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาหลายหน่วยงาน
3. ไม่มีกำหนดเงื่อนไขในจำนวนของที่ส่งออก และระยะเวลาในการส่งออก อย่างในเรื่อง 19 ทวิ หรือบีโอไอ ที่มีข้อกำหนดการนำเข้าของต้องผลิตและส่งออกภายในหนึ่งปี
4. วัสดุ เครื่องจักรที่ใช้ในกิจกรรมในเขตปลอดอากรที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จะได้รับสิทธิยกเว้นอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต ด้วย
5. ยกเว้นอากรขาออกแก่ของที่ปล่อยออกจากเขตปลอดอากร เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร และของในราชอาณาจักรที่นำเข้าไปในเขตปลอดอากร
6. การโอนย้ายของจากเขตปลอดอากรเข้าไปยังคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือส่งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 19 ทวิ หรือบีโอไอ โดยจะถือวันนำเข้าคือนับจากวันที่นำของออกจากเขตปลอดอากร ภาระภาษีต่างๆ จะนับจากวันที่ของออกจากเขตปลอดอากร
7. มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งจะเห็นว่าประเทศมีการดูแลผู้บริโภคภายในประเทศมากขึ้น ของที่นำเข้ามาใช้บริโภคในประเทศ เขตปลอดอากรมีการยกเว้นเรื่องนี้ด้วย แต่ถ้านำออกไปบริโภคในประเทศ ณ วันออกจากเขตปลอดอากรจะต้องขอใบอนุญาติมาตรฐานอุตสาหกรรม
8. การได้รับสิทธิยกเว้นหรือคืนอากร กรณีส่งของไปต่างประเทศ หรือการนำเข้าไปในเขตปลอดอากรก็ถือว่าได้รับการยกเว้นอากรหรือคืนอากรโดยถือเสมือนว่าของนั้นได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว
9. เขตปลอดอากรที่มีการผสม ประกอบ โดยมีวัตถุดิบทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมอยู่ด้วย นำของเข้ามาบริโภคภายในประเทศ ต้นทุนของในประเทศสามารถหักจากราคาของสินค้าที่นำเข้าบริโภคในประเทศ
10. เศษหรือของเสียที่อยู่ในเขตปลอดอากร สามารถขออนุมัติทำลายโดยจะได้รับการยกเว้นภาษี
11. สามารถนำของออกจากเขตไปดำเนินการผลิตบางขั้นตอนต่อแล้วนำกลับเข้ามาในเขตปลอดอากร โดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งต้องยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
12. การนำของเข้ามา ผลิต ผสม ประกอบในเขตปลอดอากรแล้วจำหน่ายหรือบริโภคภายในประเทศ จะได้รับสิทธิยกเว้นอากรหรือลดอัตราอากรในอัตราที่ต่ำเช่นเดียวกับของที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น สิทธิเอฟทีเออาเซียนหรืออาฟตา ของที่นำออกจากเขตปลอดอาการสามารถได้แหล่งกำเนิดอาเซียน หากเป็นไปตามภายใต้กฎ Local Content ก็จะได้สิทธิเขตการค้าเสรีตามนั้น
ขับเคลื่อนศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางอากาศ 
ทำอย่างไรสนามบินสุวรรณภูมิจึงจะเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางอากาศ โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC มาถึง ต่อประเด็นดังกล่าวนี้คุณอาภาพรรณี แสงมุกดา หัวหน้าฝ่ายพิธีการกลาง สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า การเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางอากาศ สนามบินสุวรรณภูมิจะต้องสร้างกิจกรรมในการประกอบ เพิ่มมูลค่าสินค้าก่อนส่งออก จะทำให้ไทยเป็นฮับมากกว่าแค่การขนส่ง (Transit) อย่างเดียว
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำร่างประกาศระเบียบของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการออกร่างประกาศคำสั่ง โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน คือ พื้นที่คลังสินค้า (Transport Corridor) พื้นที่เพิ่มมูลค่าสินค้า (Economic Corridor) หรือในเขตปลอดอากร และพื้นที่ใหม่คือ พื้นที่สำหรับการกระจายสินค้า (Logistics Corridor) ซึ่งจะเป็นจุดที่ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิได้เปรียบและแข่งขันได้ ซึ่งคุณอาภาพรรณี มองว่า มาเลเซียและสิงคโปร์ ก็ประกาศจะเป็นฮับเหมือนกัน ขณะที่เมืองไทยเราเองในจุดภูมิศาสตร์ก็ไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่น
ยิ่งไปกว่านั้น ในโซนพื้นที่สำหรับการกระจายสินค้า (Logistics Corridor) จะเป็นพื้นที่สำหรับสินค้าที่ขนส่งมาจากทางบก และต้องการส่งออกทางอากาศ หรือส่งต่อด้วยการขนส่งทางบกไปที่อื่น โดยนำเข้ามาไว้พื้นที่โซน 3 แล้วกระจายออกไป ซึ่งอาจจะเป็นการนำเข้าบริโภคในประเทศ หรือส่งออกไปต่างประเทศโดยการถ่ายลำ ซึ่งในจุดนี้การท่าอากาศยานไทยจะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป
ขยายสนามบินสุวรรณภูมิรองรับการเติบโต
แนวทางการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิภายใต้แนวคิดท่าอากาศยานเดี่ยว (Single Airport) ตามผลการศึกษาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือไอซีเอโอ และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือไออาต้า แบ่งการลงทุนเป็น 3 ระยะ วงเงินลงทุนรวม 1.63 แสนล้านบาท ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดปีละ 103 ล้านคน ภายในปี 2567 โดยท่าอากาศยานไทยมีกำหนดจะย้ายการให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศจากท่าอากาศยานดอนเมืองไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิภายในปี 2559
แผนระยะที่ 2 ปี 2560-2563 จะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 85 ล้านคน ประกอบด้วยงานขยายอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ และอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ งานขยายลานจอดอากาศยาน งานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 และอุโมงค์ส่วนขยาย โดยใช้เงินลงทุน 4.34 หมื่นล้านบาท
แผนระยะที่ 3 ปี 2563-2567 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดปีละ 103 ล้านคน ประกอบด้วยงานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 5 งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและถนนฝั่งใต้ และงานขยายลานจอดอากาศยานเพิ่ม โดยใช้เงินลงทุน 9.83 หมื่นล้านบาท


Source: ACBA (Airline Cargo Business Association)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น