วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Sino - African เมื่อพญามังกรบุกกาฬทวีป


วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ


เหตุการณ์ประท้วงของผู้คนเรือนล้านในอียิปต์เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัก แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างหนึ่งนะครับว่า ประชาชนทั่วโลกทุกวันนี้นอกจากจะโหยหาความเป็นอยู่ที่ดีจากระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมแล้ว พวกเขายังต้องการระบอบการปกครองที่เป็น ประชาธิปไตยซึ่งหมายถึง การให้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกในสังคมที่พวกเขาอยู่ ซึ่งถ้ามองแบบนักเศรษฐศาสตร์แล้วหากสังคมใดต้องการบริโภคระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริโภคสินค้าที่ชื่อว่าประชาธิปไตย (Democracy Goods) ร่วมด้วย
สำหรับซีรีส์ชุด Emerging Economy ในฉบับนี้ ผู้เขียนจะแนะนำให้ท่านได้รู้จักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ว่ากันว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งในศตวรรษนี้ นั่นก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอภิมหาพญามังกร จีนกับกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา หรือที่เรียกกันว่า Sino-African นั่นเอง ครับ
โดยทั่วไปแล้วการใช้คำว่า Sino (อ่านว่า ชิโน) นำหน้านั้น หมายถึง การแสดงความสัมพันธ์ที่มีประเทศจีนเป็นตัวตั้ง ด้วยเหตุที่จีนเป็นประเทศมหาอำนาจ ดังนั้น อิทธิพลของจีนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และภาษาจึงสามารถแผ่ไปได้ทั่วทั้งโลก
รู้จัก Sino-African: ความสัมพันธ์บนความเข้าใจอันดี
ก่อนจะเล่าถึงที่มาของความสัมพันธ์ของทั้งสองนั้น ขออนุญาตเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบสักนิดนะครับว่า ทั้งจีนและประเทศในทวีปแอฟริกานั้น ล้วนเคยได้รับความบอบช้ำซ้ำเติมจากการตกเป็นอาณานิคมในยุคสมัยที่มีการ ล่าเมืองขึ้นของฝรั่งจากยุโรป
ในสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลาย จีนโดนทั้งญี่ปุ่นและชาติตะวันตกรุกรานและกดดันให้ต้องทำสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหลายฉบับจนส่งผลให้แผ่นดินจีนช่วงนั้นทรุดโทรมนานหลายสิบปี และแม้ว่ารัฐบาลกษัตริย์ต้าชิงจะถูกปฏิวัติโค่นล้มไปแล้วแต่รัฐบาลทหารในยุคต่อมาก็ยังสร้างความเจ็บช้ำให้กับชาวจีนไม่แพ้รัฐบาลกษัตริย์เช่นกัน จนเป็นเหตุให้เกิด สงครามกลางเมืองสู้รบกันระหว่างพรรครัฐบาลทหารที่มีนายพลเจียง ไค เช็ค เป็นผู้นำ และคนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มี เหมา เจ๋อ ตุงเป็นผู้นำทัพชาวนาลุกขึ้นต่อสู้ และในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็สามารถยึดอำนาจการบริหารปกครองประเทศมาได้จวบจนทุกวันนี้
ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกานั้นก็โดนชาติตะวันตก ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ร่วมกระทำปู้ยี่ปู้ยำ ล่าอาณานิคมและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย และท้ายที่สุดก็ได้ทิ้ง มรดกบาปไว้ ด้วยการให้เอกราชบนความขัดแย้งของชนเผ่าที่แตกต่างกัน
ทั้งหมดนี้แหละครับที่ทำให้ทั้งจีนและแอฟริกาดูจะเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การถูกรังแก กดขี่ ข่มเหงและมีสภาพเป็นเมืองขึ้นนั้นมันเป็นอย่างไร
หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นครองอำนาจเมื่อปี 1949 แล้ว ทวีปแอฟริกาเป็นดินแดนแรกที่จีนเปิดฉากความสัมพันธ์ด้วยครับ และว่ากันว่าในช่วงทศวรรษที่ 50 นั้นมีชาวจีนนับแสนคนอพยพไปตั้งรกรากอยู่ในทวีปแอฟริกาอยู่หลายประเทศ จนสามารถสร้างไชน่าทาวน์ได้ เช่น ไชน่าทาวน์ในเมืองโยฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้, ไชน่าทาวน์ในเกาะมาดากัสการ์และมอริเชียส เป็นต้น


ภาพการเต้นรำของสาว ๆ แอฟริกันใน Johannesburg China Town เพื่อร่วม
ฉลองมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 2008 ปักกิ่งเกมส์ ที่จีนเป็นเจ้าภาพ

ความสัมพันธ์จีนและแอฟริกาเริ่มแนบแน่นมากขึ้น เมื่อ โจว เอิน ไหล (Zho Enlai) อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของจีนและเป็นมือขวาของประธานเหมา ได้เริ่มออกเยือนประเทศต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกาช่วงระหว่างปี 1963-1964 เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับทวีปแอฟริกา โดย โจว เอิน ไหล ได้เคยแสดงวิสัยทัศน์ไว้ในครั้งที่มีการประชุมกลุ่มประเทศโลกที่สาม (Third World) ที่เมืองบันดุง อินโดนีเซีย (Bandung Conference) ในปี 1955 ไว้ว่า จีนจะขออาสาเป็นผู้นำกลุ่มประเทศโลกที่สามเองโดยเป้าหมายแรกที่จีนจะผูกสัมพันธ์อันดีด้วย คือ ทวีปแอฟริกา ทั้งทวีป
น่าสนใจนะครับว่านโยบายของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยนั้นนับว่ามี วิสัยทัศน์มากพอที่จะมองเห็นช่องทางการผูกมิตรกับประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายในแอฟริกา ซึ่งก็กลายเป็นผลดีกลับรัฐบาลยุคหลัง ๆ เนื่องจากกลุ่มประเทศแอฟริกามีความเชื่อมั่นในความจริงใจของจีนมากกว่าชาติตะวันตก
ในช่วงต้น ๆ ของความสัมพันธ์ รัฐบาลจีนส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ สาธารณสุข วิศวกร รวมทั้งเข้าไปช่วยก่อสร้างถนนหนทางในประเทศที่กำลังเกิดใหม่เหล่านั้น เช่น จีนเข้าไปช่วยสร้างถนนในแทนซาเนียเกือบสองพันกิโลเมตรโดยมีคนงานจีนกว่าห้าหมื่นคนเข้าไปทำถนนให้ กล่าวกันว่า การที่จีนเลือกที่จะคบหาเปิดสัมพันธ์กับประเทศเกิดใหม่ในแอฟริกานี้นับเป็น ยุทธศาสตร์ทางการทูตที่ชาญฉลาด เนื่องจากจีนถูก โดดเดี่ยวจากโลกตะวันตกเพราะมีระบอบการปกครองที่ตรงข้ามกัน ขณะเดียวกันจีนเองก็ต้องการหนีให้พ้นจากร่มเงาของพี่ใหญ่คอมมิวนิสต์ตัวจริงอย่าง สหภาพโซเวียตด้วยเหตุนี้เอง แอฟริกา จึงเป็นเป้าหมายลำดับต้น ๆ ที่จีนจะเลือกผูกมิตรไว้

โจว เอิน ไหล ที่ Bandung Conference ในปี 1955
กับวิสัยทัศน์ที่จะสร้างให้จีนเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศโลกที่สาม

ตลอดความสัมพันธ์ที่ผ่านมารัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การนำของผู้นำพรรคคนไหนได้วางให้แอฟริกายังเป็นยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศที่สำคัญในการทำการค้า การลงทุน การเผยแพร่วัฒนธรรมและภาษา เช่น ในปี 1995 ที่ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อ หมิง (Jiang Zemin) ได้ประกาศนโยบาย Go Out ให้นักลงทุนชาวจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งทวีปแอฟริกาจึงเป็นหนึ่งพื้นที่สำคัญที่นักลงทุนจีนเข้าไป
ณ วันนี้ ทั้งจีนและแอฟริกามีผลประโยชน์ร่วมกันจากความสัมพันธ์โดยจีนได้ให้ความช่วยเหลือกับประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกาทั้งในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงินช่วยเหลือ รวมทั้งขายสินค้าให้ในราคาถูก ขณะที่แอฟริกาก็ได้ขายหรือให้สัมปทานกับนักลงทุนจีนในด้านพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ
มีข้อมูลที่น่าสนใจอีกนะครับว่า นับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมานั้น กลุ่มนักธุรกิจจากจีนและแอฟริกาได้ลงนามในข้อตกลงทางธุรกิจจำนวน 14 ฉบับ คิดเป็นเงินเกือบสองพันล้านดอลลาร์ โดยมีโครงการสำคัญ ๆ ที่นักลงทุนจีนได้ไป เช่น การก่อสร้างระบบเครือข่ายโทรคมนาคมในกานา โรงงานอลูมิเนียมในอียิปต์ โครงการก่อสร้างทางด่วนในไนจีเรีย เป็นต้น

Afro China
โฟร์แมนชาวจีนกับคนงานก่อสร้างในประเทศ เอริเทรีย (Eritrea)

ปัจจุบันจีนเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศในทวีปแอฟริการวมทั้งสิ้น 48 ประเทศครับ โดยประเทศเหล่านี้ยอมรับใน นโยบายจีนเดียวและไม่ได้ดำเนินความสัมพันธ์กับไต้หวันแต่อย่างใด นอกจากนี้จีนพยายามเกลี้ยกล่อมประเทศที่เหลืออย่าง สวาซีแลนด์ หรือ มาลาวี ให้หันมาเปิดสัมพันธ์กับจีนด้วยการเร่งให้ความช่วยเหลือทางการเงินและการลงทุนโดยหวังว่าประเทศเหล่านี้จะหันมายอมรับนโยบายจีนเดียวในที่สุด

ประธานาธิบดีหู จิน เทา (ซ้าย) และ นายกรัฐมนตรี เหวิน เจีย เป่า (ขวา) กับบทบาททางการทูต
ในการกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศแอฟริกาเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและการทูตที่ต้องการให้
ทั่วโลกหันมายอมรับนโยบายจีนเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

นับตั้งแต่จีนเริ่มก้าวเข้าสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจตัวจริงแล้ว มูลค่าการค้าระหว่างจีนและทวีปแอฟริกานั้นสูงขึ้นถึง 100 พันล้านดอลลาร์เลยทีเดียวนะครับ จีนได้ประโยชน์จากคู่ค้าอย่างแองโกลา เรื่องของการนำเข้าน้ำมัน (ปัจจุบันจีนนำเข้าน้ำมันจากแอฟริกาเป็นสัดส่วนราว ๆ 30 %) นอกจากนี้หลายประเทศคู่ค้าของจีนยังเป็นแหล่งสินค้าโภคภัณฑ์ที่จีนมีความต้องการมาก เช่น ทองแดง เหล็ก ทองคำขาว นิกเกิล ไม้ซุง และฝ้าย ซึ่งทุกวันนี้จีนเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ทองแดงจากแซมเบียและคองโก นำเข้าเหล็กและทองคำขาวจากแอฟริกาใต้ นำเข้าไม้ซุงจากกาบองและแคมารูน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าจีนเองได้ประโยชน์จากทวีปแอฟริกาในแง่ที่ได้ปัจจัยการผลิตราคาถูกซึ่งสามารถมาหล่อเลี้ยงประชากรจีนในประเทศนับพันล้านคนได้ ขณะที่ในแง่ของการลงทุนนั้นแอฟริกาเป็นแหล่งลงทุนด้านพลังงานที่สำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งของจีนครับ ซึ่งนักลงทุนจีนเพิ่งจะได้รับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในแองโกลา ซูดาน และไนจีเรีย (ไนจีเรียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของทวีปแอฟริกาและรายใหญ่อันดับที่ 11 ของโลก) เช่นเดียวกับที่จีนยังทำข้อตกลงสำรวจและผลิตน้ำมันในอีกหลายประเทศ เช่น กาบอง และมอริเตเนีย นี่ยังไม่นับรวมชัยชนะที่นักลงทุนจีนได้ในงานประมูลโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานหลาย ๆ โครงการ เช่น สร้างทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน ปรับปรุงท่าเรือ ฯลฯ

นาย Jean Ping ตัวอย่างลูกผสม Sino-African
Jean Ping เป็นนักการทูตและนักการเมืองของประเทศกาบอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานของ The Commission of African Union
Jean Ping มีพ่อเป็นนักธุรกิจชาวจีน และมีแม่เป็นเจ้าหญิงเผ่าหนึ่งในกาบอง

ในปี 2006 จีนได้จัดการประชุม Sino-African Summit ขึ้นที่ปักกิ่ง เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสอง ซึ่งการประชุมครั้งนั้นมีผู้นำจากแอฟริกาถึง 48 ชาติเข้าร่วมประชุมกับประธานาธิบดีหู จิน เทา โดยสาระสำคัญของการประชุม คือ การพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองให้แนบแน่นขึ้นไปอีกโดยเฉพาะทางด้านการค้า การลงทุน โดยจีนเสนอวงเงินกู้พิเศษกว่าห้าพันล้านดอลลาร์ให้กับผู้ซื้อในแอฟริกาที่ต้องการนำเข้าสินค้าจากจีน

ประธานาธิบดีหู จิน เทา กับ นางเอลเลน จอห์นสัน (Ellen Johnson)
ประธานาธิบดีของไลบีเรียในการประชุม Sino-African Summit ที่ปักกิ่ง

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายคนมองว่าแม้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและแอฟริกาจะมีความแนบแน่นมาตลอดห้าสิบกว่าปี แต่จีนสามารถเข้าไปครอบงำประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกาได้คล้ายกับการ ล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่หรือ New Colonial โดยผ่านในรูปของการช่วยเหลือเงินกู้ แต่ได้รับประโยชน์จากการค้าและการลงทุนโดยเฉพาะสัมปทานในการขุดเจาะน้ำมันหรือสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น แร่ธาตุต่าง ๆ เป็นต้น ขณะเดียวกันนักลงทุนจีนเองก็ได้อานิสงค์จากการไปลงทุนในแอฟริกาเนื่องจากค่าแรงของแรงงานแอฟริกันนั้นยังถูกอยู่
ดูเหมือนว่าวิสัยทัศน์ของเหมา เจ๋อ ตุง และ โจว เอิน ไหล เมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้วจะมา ผลิดอกออกผลในช่วงนี้นะครับ เพราะจะว่าไปแล้วจีนได้ประโยชน์จากทวีปแอฟริกามาก หากดู ๆ ไปแล้วอาจจะมากกว่าอดีตมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมจากยุโรปหรืออเมริกาเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้ Joshua Cooper Ramo อดีตบรรณาธิการของนิตยสาร TIME ได้เรียกการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในแอฟริกาไว้ว่าเป็น Beijing Consensus หรือ ฉันทามติแห่งกรุงปักกิ่งล้อกับ Washington Consensus ของ John Williamson ที่พูดถึงอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในการครอบงำการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโลกที่สามช่วงทศวรรษที่ 90
Joshua Cooper Ramo ได้อธิบายถึง Beijing Consensus ของเขาไว้ว่า จีนนั้นดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการทูตโดยเลือกที่จะไม่แทรกแซงทางการเมือง (Non-Interference) ของประเทศอื่น แต่มุ่งไปที่เรื่องของการค้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีคำกล่าวว่า ถ้าประเทศไหนในแอฟริกามีวัตถุดิบหรือทรัพยากรที่จีนต้องการแล้ว จีนจะเข้าไปทำธุรกิจผูกมิตรด้วยทันทีโดยไม่สนใจว่าประเทศเหล่านั้นจะมีประชาธิปไตยหรือไม่มี ประเทศเหล่านั้นจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า

Joshua Cooper Ramo และหนังสือ The Beijing Consensus
การจัดระเบียบโลกใหม่ภายใต้กรงเล็บพญามังกร

Beijing Consensus ข้อถัดมา คือ จีนจะเน้นเข้าไปลงทุนทางด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค (Structural Development) ในประเทศต่าง ๆ ที่ผูกมิตรกับจีนโดยมีบริษัทข้ามชาติจากจีนจะเข้าไปก่อสร้างอาคารโรงพยาบาล เขื่อน สนามกีฬา รวมทั้งส่งแรงงานมีฝีมือ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ไปช่วยพัฒนาประเทศด้อยพัฒนาเหล่านั้นซึ่งที่ผ่านมา Ramo ตั้งข้อสังเกตว่าชาติจากโลกตะวันตกค่อนข้างลังเลและไม่กล้าทำเช่นนี้ การสร้างมิตรภาพและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน (Friendship and Respect) เป็นแนวทางประการที่สามของ Beijing Consensus ที่นโยบายทางการทูตจีนเน้นไปที่การให้ความจริงใจแต่ต้องยอมรับในนโยบายจีนเดียวก่อน
Beijing Consensus ประการสุดท้าย คือ การเผยแพร่แนวคิด China model of development โดยจีนเชื่อว่าการพัฒนาประเทศได้ต้องมาจากการจัดหาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้พร้อมก่อน หลังจากนั้นจึงเริ่มที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจและจึงค่อย ๆ ปฏิรูปภาคประชาชนตามมา
Sino-African เป็นความสัมพันธ์ที่ยืนยันถึงอิทธิพลของจีนในโลกยุคใหม่ว่า พวกเขามีความพร้อมที่จะก้าวขึ้นไปเป็นมหาอำนาจตัวจริงแทนสหรัฐอเมริกาแล้วนะครับ ขณะเดียวกัน Beijing Consensus ก็นับเป็นเรื่องใหม่ที่พวกเราควรได้เรียนรู้ว่าทิศทางของโลกในวันข้างหน้านั้นมันจะเป็นยังไงภายใต้กรงเล็บพญามังกร
เอกสารและภาพประกอบการเขียน
          1. www.wikipedia.org
          2. ส่วนเศรษฐกิจต่างประเทศ ฝ่ายวิชาการ EXIM BANK, “จีน-แอฟริกา อีกหนึ่งความสัมพันธ์ที่น่าจับตามอง
          3. The Beijing Consensus ,  Joshua Cooper Ramo


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น