วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เทคนิคการจัดการโลจิสติกส์ระดับโลก

          การใช้เทคนิคการจัดการโลจิสติกส์ระดับโลกกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผลไม้ไทยในตลาดภายหลังการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 


1. บทนำ 

          วันก่อนผมได้เดินทางไปเก็บข้อมูลที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ระหว่างนั่งรถตู้ผ่านไปและกลับก็สังเกตดูตามข้างทางซึ่งพบว่าในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูที่ผลไม้กำลังออกสู่ท้องตลาด ผมก็เลยแวะซื้อกลับมาหลายอย่างเลยครับทั้งเงาะ สละและทุเรียน แต่ก่อนจะซื้อก็หยิบลองทานซะจนอิ่มเลย ยังนึกอยู่เลยนะครับว่าเมืองไทยนี่โชคดีมาก รวมทั้งผมด้วยเพราะผมชอบทานผลไม้มาก เพราะมีผลไม้ให้ทานตลาดทั้งปี ขณะที่บทความฉบับนี้ก็ขออนุญาตพูดถึงการขยายตลาดผลไม้ไทย ถ้ามีการกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งกำลังเป็นหัวข้อที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ โดยผมจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาและโอกาสของการขยายตลาดภายใต้กรอบ AEC นอกจากนี้ จะพูดคุยเกี่ยวกับอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นเพราะอุปสรรคด้านภาษี (Tariff Barrier: TB) จะลดลงแต่อุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barrier: NTB) จะเพิ่มมากขึ้น โดยผมได้เทียบเคียงกรณีศึกษาจากการเปิดเสรีของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (จาก EEC ซึ่งปัจจุบันกลายไป EU แล้ว) 
          เพื่อให้ผลไม้ไทยเป็นที่ชื่นชอบและขายได้เป็นจำนวนมาก มีกลยุทธ์หลายด้าน เช่น ด้านการตลาด ด้านโลจิสติกส์ ด้านซัพพลายเชน ด้านการเกษตรและด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นต้นที่ควรจะนำมาใช้แบบบูรณการ มิใช่ต่างคนต่างทำอย่างในทุกวันนี้ ซึ่งจำเป็นต้องนำกรอบแนวคิด Value Chain มาช่วยตีกรอบเพื่อไม่ใช้ความคิดและแนวปฏิบัติกระจัดกระจายออกไป หลังจากนั้นจะได้นำเสนอกลยุทธ์โลจิสติกส์และซัพพลายเชนเพื่อส่งผลผลิตทางการเกษตรออกไปจำหน่าย อาทิ กลยุทธ์ Direct Shipment, Speculation, Quick Response, Logistics Postponement เป็นต้น

2. ภาพรวมของอุตสาหกรรมผลไม้ไทย
          ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรกรรมหลายประเภทรวมไปถึงความสามารถในการผลิตผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้เขตร้อนที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีศักยภาพในการผลิตเพียงพอให้ผลผลิตตามฤดูกาลสลับกัน บางชนิดให้ผลผลิตตลอดทั้งปี อุตสาหกรรมผลไม้ของไทย ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์สดและแปรรูป เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล ปัจจุบันการเพาะปลูกมิได้มุ่งเพื่อบริโภคภายในประเทศเพียงอย่างเดียว ยังมุ่งส่งออกตลาดต่างประเทศ โดยเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามปรับปรุงพันธุ์ และพัฒนาคุณภาพของผลผลิตให้ได้มาตรฐานของตลาดส่งออกมากยิ่งขึ้น สำหรับการส่งออกผลไม้สด ปี 2553 มีปริมาณทั้งสิ้น 732,511 ตัน คิดเป็นมูลค่า 13,737 ล้านบาท ขยายตัวเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.33 ในขณะที่เชิงปริมาณขยายตัวร้อยละ 22.33 สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2554 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1,079,694 ตัน คิดเป็นมูลค่า39,146 ล้านบาท โดยตลาดหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ตลาดในอาเซียนที่น่าสนใจได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปินส์ซึ่งมีอัตราการขยายตัวการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์ส่งออกสำคัญได้แก่ ทุเรียนสด ลำไยสด ลำไยอบแห้ง และมังคุด
          ทุก ๆ อุตสาหกรรมมีการแข่งขันและมีการเติบโตมากขึ้นในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการส่งออกผลไม้เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีการแข่งขันสูงมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้ส่งออกหลายรายแข่งขันอยู่ในตลาด ดังนั้นการที่จะสามารถแข่งขัน ได้จำเป็นต้องมีความสามารถในการตอบสนองลูกค้าได้รวดเร็ว สินค้าต้องมีคุณภาพ ราคาถูก และสามารถส่งสินค้าได้ตรงตามเวลาที่กำหนด การจัดการโลจิสติกส์ที่ดีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยที่การจัดการในทุกๆส่วนงานจะต้องมีความเชื่อมโยง การควบคุมการไหลเวียนของสินค้า และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ จากจุดเริ่มต้นไปจนถึงลูกค้า เพื่อที่จะบรรลุถึงความต้องการของลูกค้า การบวนการขนส่งเป็นส่วนงานที่มีความสำคัญมากต่อคุณภาพสินค้าและต้นทุนที่เกิดขึ้น จึงต้องมีการจัดการที่ดี และในขั้นตอนของการผลิตในอุตสาหกรรมจะต้องมีการขนส่งสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการส่งออกผลไม้ เพราะเป็นตัวกำหนดคุณภาพสินค้าและเป็นการสร้างความพอใจให้กับลูกค้า ณ ประเทศปลายทาง

          ระบบโลจิสติกส์มีความสำคัญต่อการส่งออกผลไม้เป็นอย่างมาก เนื่องจากการส่งออกจะต้องมีระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินงานในแต่ละกระบวนการ การเคลื่อนย้ายผลไม้จากแหล่งผู้ผลิต หรือผู้จัดเก็บไปยังลูกค้าในระดับต่างๆ การคัดเกรด การบรรจุ การตรวจสอบ การเก็บรักษา และการขนส่ง ทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นล้วนมีระยะเวลาในการดำเนินงานแตกต่างกันออกไป แต่ผลไม้เป็นสินค้าที่เน่าเสียง่ายและมีระยะเวลาในการเก็บรักษาจำกัด การบริหารจัดการกิจกรรมของโลจิสติกส์จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดคุณภาพของผลไม้ที่ส่งมอบ ณ ประเทศปลายทาง ในส่วนการขนส่งที่เป็นกิจกรรมหลัก และก่อให้เกิดต้นทุนและระยะเวลาในการดำเนินการ การตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีนั้น การวางแผนระบบโลจิสติกส์จึงเป็นงานที่มีความสำคัญต่อการขนส่ง เพราะถ้าการวางแผนมีความผิดพลาดจะส่งผลให้การขนส่งผิดพลาดเช่นกัน ทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันเวลา

          กลยุทธ์การขยายตลาดผลไม้ในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดใหม่จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศ ทั้งนี้ จำเป็นที่ต้องศึกษาแนวโน้ม เพื่อกำหนดกลยุทธ์แผนปฏิบัติ และการประเมินผลที่ยั่งยืน มากไปกว่านั้น นอกจากปัญหาด้านปริมาณผลผลิต คุณภาพ และราคาซึ่งถือเป็นจุดอ่อน (Weaknesses) ตามการวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-อุปสรรค (S.W.O.T. Analysis) อุปสรรค (Threats) ที่สำคัญยิ่ง อีกประการที่จำเป็นต้องเร่งรีบปรับทิศทางให้กลายเป็นโอกาส (Opportunities) คือ ผลกระทบจากข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) การเปิดการค้าเสรีและขยายความร่วมมือซึ่งกันและกันภายใต้กรอบการกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะเป็นเวทีการค้าระดับโลก อันทำให้การค้าขาย ในอนาคตแตกต่างจากการค้าในอดีตเป็นอย่างมาก

          ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรมีการเพาะปลูกผลไม้มากยิ่งขึ้น ประกอบกับมีการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศมาจำหน่ายในราคาใกล้เคียงกับ ผลไม้ไทยภายใต้กระแสการค้าเสรีของโลก ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดภาระเงินตราในการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศแล้ว ยังเกิดปัญหาการแข่งขันกับผลไม้ไทย ส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาต่ำ การแก้ไขปัญหาในช่วงที่ผ่านมาโดยการแทรกแซงตลาดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แม้เป็นสิ่งที่จำเป็นแต่ก็ก่อให้เกิดภาระงบประมาณ การบิดเบือนตลาด และไม่สอดคล้องกับกระแสการค้าของโลก ทั้งนี้ การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อผลไม้ไทยจึงมีความจำเป็นและอาจจะสามารถนำมาเป็นจุดแข็ง (Strengths) ของประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ในเวทีการค้าเสรีของตลาดโลกที่กำลังมาถึงนี้ได้

          ดังนั้นจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของผลไม้ไทยทั้งในเชิงเศรษฐกิจและยังเล็งเห็นความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรและชุมชน อีกทั้งผลไม้ไทยก็เป็นอีกหนึ่งผลผลิตที่เป็นหน้าเป็นตาและศักดิ์ศรีของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นราชาของผลไม้ คือ ทุเรียน ยังมีผลไม้ไทยที่มีชื่อเสียง ระดับโลกอีกหลายชนิด อาทิ ลำไย และมังคุด การศึกษา เรื่อง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผลไม้ไทยในตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน โดยใช้การจัดการโลจิสติกส์ เพื่อเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ในการขยายตลาดผลไม้ไทย ซึ่งมีจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคต่างๆ ตลอดจนความสลับซับซ้อนของกลไกการตลาดที่มีมากยิ่งขึ้น สามารถเป็นข้อมูลในการผลักดันนโยบายการผลิตและการส่งออกที่เหมาะสมต่อไป เพื่อให้การส่งออกผลไม้ไทยมีการพัฒนา และส่งเสริมที่ถูกต้องเป็นสินค้าชั้นนำที่จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ภาคการผลิตและการส่งออกของประเทศ

3. บทสรุป 
          ขณะนี้ ผมกำลังเริ่มเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อศึกษาแนวทางในการขยายตลาดผลไม้ของไทย โดยผมจะทำการศึกษาอุปสงค์หรือความต้องการของผลไม้ที่สำคัญของไทย อาทิ ทุเรียน ลิ้นจี่ มังคุด ลำไยและกล้วยเป็นต้นของตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อรองรับการกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นอกจากนี้ จะทำการสำรวจและวิเคราะห์อุปทานของผลไม้ที่สำคัญของไทย รวมทั้งจัดกลุ่มผลไม้เพื่อให้เหมาะสมกับตลาดเป้าหมายในแต่ละประเทศในอาเซียน รวมทั้งเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน หลังจากนั้น จะทำการวิเคราะห์และประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการผลไม้ (ในระดับของผู้ส่งออกของไทย) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการประเทศคู่แข่งทั้งภายในกลุ่มประเทศอาเซียนและนอกกลุ่มอาเซียน เช่นเวียดนาม ออสเตรเลียและจีน เป็นต้น หลังจากนั้นพัฒนาโมเดลหรือแบบจำลองซัพพลายเชนและห่วงโซ่คุณค่าของผลไม้ที่สำคัญของไทยที่จะส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งพัฒนาแบบจำลองโลจิสติกส์ระหว่างประเทศสำหรับผลไม้ที่สำคัญของไทย ที่จะครอบคลุมการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ศูนย์กระจายสินค้า ตัวกลางในประเทศที่จะเข้าตลาด เป็นต้นและจะทำการกำหนดตัวชี้วัดในแต่ละด้านเพื่อประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการเข้าตลาดผลไม้ในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร. ทวีศักดิ์ เทพพิทักษ์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโลจิสติกส์และการจัดการ คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา
Taweesak99@hotmail.com
Source :  http://www.logistics2day.com/App_Website/Community/blog.aspx?id=815

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น