วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เจาะยุทธศาสตร์เส้นทางขนส่ง 9 เมืองหลักแดนมังกร

ผลจากการวิจัยศึกษาเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์สู่แดนมังกร ม.หอการค้าไทยเผยต้นทุนการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ในเส้นทางไปยัง 9 เมืองหลักของจีน แนะผู้ประกอบการไทยศึกษาตลาดจีนและหาคู่ค้าในจีนมาร่วมเป็นพันธมิตร
97_th_4_001

จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิลุ่มแม่น้ำโขง Greater Mekong Sub-region (GMS) ประกอบกับรัฐบาลจีนลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศทั้งทางบก รถไฟ ท่าเรือ ทางอากาศ รวมทั้งนโยบายการขยายตัวเขตเศรษฐกิจจากตะวันตกของประเทศจีนไปสู่ตะวันออก เหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบไทยต้องหันมาศึกษาเส้นทางการขนส่งไปยังเมืองทางตะวันออกว่าจะใช้เส้นทางใดจึงจะสะดวกและคุ้มค่าการขนส่ง  

กรมส่งเสริมการส่งออก มอบหมายให้ ศูนย์วิจัยโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศึกษาเส้นทางกระจายสินค้าในจีนโดยรวบรวมข้อมูลเส้นทางการขนส่ง ต้นทุนการขนส่งสินค้าประเภทอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ระยะเวลาการขนส่ง ทั้งทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศ ตลอดจนศึกษาเจาะลึกแต่ละเส้นทางการขนส่งสู่ 9 เมืองหลัก ได้แก่ คุนหมิง เฉิงตู ฉงชิ่ง เซี่ยงไฮ้ หนานหนิง เซี่ยเหมิน ซีอาน กวางโจว และกรุงปักกิ่ง ดังรายละเอียดพอสรุปได้ดังนี้

R3E ไทย-ลาวสู่คุนหมิง
คุนหมิง (Kunming) เป็นศูนย์กลางทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของมณฑลยูนนาน ถึงแม้ว่าคุนหมิงไม่มีทางออกสู่ทะเลแต่เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ เพราะเป็นเมืองที่ติดกับพม่า เวียดนาม ลาว ในปี 2553 คุนหมิงมีอัตราการเจริญเติบโต GDP อยู่ที่ 12.7%

สินค้าที่มณฑลยูนนานนำเข้าจากประเทศไทย เช่น สินแร่ทองแดง ยางผสมคาร์บอน ยางผสมขั้นต้น ดอกไม้สด และเพชร เส้นทางการขนส่งไปได้ทั้งทางบก (R3) และกระจายไปสู่เมืองหนานหนิง เฉิงตู ฉงชิ่ง และซีอาน ทางทะเลขึ้นจากท่าเรือกวางโจว และทางอากาศ

ต้นทุนโลจิสติกส์เมื่อเปรียบเทียบการขนส่งสินค้าชนิดและปริมาณเดียวกัน เส้นทางบกไปทาง R3E ไทย-ลาว-จีน ใช้เวลา 2-3 วัน รวมระยะทาง 1,858 กม. คิดเป็นต้นทุนการขนส่งสินค้า 243,040 บาท ส่วนเส้นทาง R3W ไทย-พม่า-จีน ใช้เวลาเท่ากันแต่มีค่าขนส่งสินค้าสูงกว่าราว 291,400 บาท ซึ่งทางคณะวิจัยแนะนำให้ใช้เส้นทาง R3E เข้าลาวสู่จีน เพราะไม่มีด่านตรวจสินค้าเท่ากับเส้นทาง R3W ที่เข้าทางพม่า

สำหรับการขนส่งทางทะเลสามารถส่งสินค้าจากไทยไปขึ้นที่ท่าเรือกวางโจวใช้เวลา 4-5 วัน ต้นทุนการขนส่งสินค้าประมาณ 18,600-93,000 บาท จากนั้นต่อทางรถไปคุนหมิงใช้เวลา 20ชั่วโมง 28 นาที ค่าใช้จ่ายราว 45,000 บาท

สำหรับการขนส่งทางอากาศ คิดตามน้ำหนักสินค้า 45 กิโลกรัม ค่าขนส่ง 48 บาทต่อกิโลกรัม สินค้า 100 กิโลกรัม ค่าขนส่ง 45 บาทต่อกิโลกรัม

เส้นทาง R12 เข้าสู่หนานหนิง กวางโจว และเซียเหมิน
หนานหนิง (Nanning) เป็นเมืองหลวงของเขตปกครองตนเองกวางสี มีพื้นที่ติดกับเวียดนาม จึงเป็นศูนย์กลางในการติดต่อค้าขายระหว่างอาเซียนและจีน อัตราการเจริญเติบโต GPD ในปี 2553 อยู่ที่ 14.15%

สำหรับการค้าระหว่างไทยและกวางสี จีนส่งออกสินค้ามากกว่านำเข้าสินค้าจากไทย สินค้าทางการเกษตร เช่น สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง น้ำตาลที่ได้จากอ้อยที่ไม่เติมสารปรุงรสหรือสารแต่งสี มันสำปะหลังผ่านหรือการทำเป็นแพลเลตชนิดแผ่น ยางแผ่นรมควัน ยางผสมชนิดอันวัลแคไนซ์

เส้นทางการขนส่งทางบกใช้เส้นทาง R9 จากกรุงเทพ-มุกดาหาร-สะหวันนะเขต-แดนสะหวัน-ลาวบาว-ฮานอย-หนานหนิง รวมระยะทาง 1,590 กม. หรือใช้เส้นทาง R12 กรุงเทพ-นครพนม-ท่าแขก-นาพาว-วิงห์-ฮานอย-หนานหนิง ระยะทาง 1,700 กม. หนานหนิงเป็นศูนย์การกระจายสินค้าไปยังจีนตะวันออกเฉียงใต้ สามารถกระจายไปยังเมืองคุนหมิง เฉิงตู ฉงชิ่ง และกวางโจวได้ หรือใช้เส้นทางขนส่งทางทะเลไปยังท่าเรือกวางโจว

ต้นทุนโลจิสติกส์เมื่อเปรียบเทียบการขนส่งสินค้าชนิดและปริมาณเดียวกัน เส้นทาง R9 ไปหนานหนิงใช้เวลา 2-3 วัน ต้นทุนการขนส่งสินค้า 65,410-75,640 บาท สำหรับเส้นทาง R12 ใช้เวลา 1-2 วัน ต้นทุนการขนส่งสินค้า 65,110 บาท สำหรับการขนส่งทางเรือไปยังกวางโจวใช้เวลา 4-5 วัน คิดค่าใช้จ่ายราว 18,600-93,000 บาท จากกวางโจวขนส่งต่อทางบกค่าใช้จ่าย 20,000 บาท โดยใช้เวลา 8 ชั่วโมง 30 นาที

กวางโจว (Guangzhou) เป็นเมืองท่าสำคัญในเขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียงและเป็นศูนย์กลางทางการค้าและธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในจีนตอนใต้ ในปี 2553 มีอัตราการเจริญเติบโต GDP อยู่ที่ 13%

สำหรับการค้าขายกับประเทศไทย มณฑลกวางตุ้งซึ่งมีกวางโจวเป็นเมืองหลักมีสัดส่วนมูลค่าการค้ากับไทยมากที่สุด สินค้าที่ส่งออกจากไทยไปจีนจะผ่านที่มณฑลนี้และนำไปส่งต่อยังมณฑลอื่นๆ ของประเทศจีนต่อไป สินค้าการเกษตรหลักๆ ที่นำเข้าจากไทย คือ ผลไม้ ข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา ตลาดค้าผักผลไม้ที่สำคัญ คือ ตลาดเจียงหนาน ซึ่งเป็นตลาดกระจายผลไม้ไทยที่ใหญ่ที่สุดของจีน สินค้าส่วนใหญ่ที่เข้าตลาดเจียงหนานจะเข้ามาทางท่าเรือฮ่องกงเข้าสู่มณฑลกวางตุ้ง

ต้นทุนโลจิสติกส์เมื่อเปรียบเทียบการขนส่งสินค้าชนิดและปริมาณเดียวกัน ทางบกใช้เส้นทาง R12 ไปหนานหนิงใช้เวลา 1-2 วัน ค่าใช้จ่ายในการขนส่งราว 65,100 บาท และจากหนานหนิงไปกวางโจวใช้เวลา 8 ชั่วโมง 30 นาที ค่าใช้จ่ายการขนส่ง 20,000 บาท ซึ่งผู้ประกอบการน่าจะใช้เป็นเส้นทางขนส่งที่เร็วและเหมาะสมที่สุด

สำหรับการขนส่งทางทะเลไปกวางโจวใช้เวลา 4-5 วัน (จากท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือฮ่องกง-กวางโจว) ต้นทุนการขนส่งราว 18,600-93,000 บาท สำหรับขนส่งทางอากาศคิดตามน้ำหนักสินค้า 45 กิโลกรัม ค่าขนส่ง 58 บาทต่อกิโลกรัม สินค้า 100 กิโลกรัม ค่าขนส่ง 50 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้จากกวางโจวยังสามารถกระจายสินค้าทางบกไปยังเมืองต่างๆ ของจีนต่อไปได้

ขนส่งทางทะเล จากกวางโจวกระจายสินค้าทางบกไปยังเมืองต่างๆ ของจีน
97_th_4_002

เซี่ยเหมิน (Xiamen) เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของมณฑลฝูเจี้ยน รองจากนครฝูโจว ในปี 2553 มีอัตราการเจริญเติบโต GDP เฉลี่ยที่ 15% สำหรับการค้าขายกับไทย มณฑลฝูเจี้ยนอยู่ในสภาวะเสียดุลการค้าต่อประเทศไทย สินค้าส่งออกจากไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรเครื่องยนต์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เคมีภัณฑ์ เนื้อสัตว์ อุปกรณ์เทคโนโลยีการแพทย์

การขนส่งสินค้าไปทางบกโดยใช้เส้นทาง R12 ไปยังหนานหนิงใช้เวลา 1-2 วัน ต้นทุนการขนส่งที่ 65,100 บาท จากนั้นเข้าสู่เซี่ยเหมินใช้เวลาราว 20 ชั่วโมง มีต้นทุนการขนส่งประมาณ 40,000-45,000 บาท

สำหรับการขนส่งทางทะเลจากไทยไปกวางโจวใช้เวลา 4-5 วัน ค่าขนส่งราว 18,600-93,000 บาท จากนั้นขนส่งไปยังเซี่ยเหมินใช้เวลา 9 ชั่วโมง 10 นาที ค่าขนส่งประมาณ 22,945 บาท สำหรับทางอากาศคิดตามน้ำหนักสินค้า 45 กิโลกรัม ค่าขนส่ง 78 บาทต่อกิโลกรัม สินค้า 100 กิโลกรัม ค่าขนส่ง 72 บาทต่อกิโลกรัม

ขนส่งทางทะเลสู่เฉิงตู ฉงชิ่ง ซีอาน
เฉิงตู (Chengdu) เป็นเมืองหลักของมณฑลเสฉวน ภูมิศาสตร์มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะถูกโอบล้อมด้วยภูเขาสูง 4 ด้าน ในปี 2553 อัตราการเจริญเติบโตของ GDP อยู่ที่ 8.8% รัฐบาลจีนได้พัฒนาให้เป็นเมืองเศรษฐกิจทางตะวันตกเพื่อค้าขายกับประเทศอินเดีย

สำหรับการค้าขายกับไทย สินค้านำเข้าจากไทยที่สำคัญ คือ ผลไม้สด ผลไม้แช่เย็น/แช่แข็ง และชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ ลำไยสดเป็นผลไม้นำเข้าที่สำคัญจากไทยมีปริมาณการบริโภคสูงถึง 5,500 ตันต่อปี

การขนส่งสินค้าไปทางบกใช้เส้นทาง R3E เข้าสู่คุนหมิง ใช้เวลา 2-3 วัน จากนั้นเข้าสู่เฉิงตูใช้เวลาอีก 10-12 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายในการขนส่งประมาณ 28,000-30,000 บาท

สำหรับการขนส่งทางทะเลจากไทยไปกวางโจวใช้เวลา 4-5 วัน ต้นทุนการขนส่ง 18,600-93,000 บาท จากนั้นขนส่งทางบกถึงเฉิงตูใช้เวลา 1 วัน 2 ชั่วโมง ค่าขนส่งราว 64,000-70,000 บาท ซึ่งคณะวิจัยแนะนำให้ใช้การขนส่งทางทะเลจะเหมาะสมที่สุด

สำหรับขนส่งทางอากาศคิดตามน้ำหนัก สินค้า 45 กิโลกรัม ค่าขนส่ง 48 บาทต่อกิโลกรัม สินค้า 100 กิโลกรัม ค่าขนส่ง 45 บาทต่อกิโลกรัม

ฉงชิ่ง (Chongqing) แต่เดิมอยู่ในมณฑลเสฉวนแต่ต่อมารัฐบาลจีนได้พัฒนาให้เป็นตำบลส่วนกลางซึ่งอยู่ในแผน Great West Development ในปี 2553 อัตราการเจริญเติบโต GDP อยู่ที่ 17.1% มหานครฉงชิ่งและมณฑลเสฉวน ถือเป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับการกระจายผลไม้ไทยไปยังมณฑลและเมืองต่างๆ ทางตะวันตกของประเทศจีน โดยมีการส่งออกผลไม้สด เช่น ลำไย มังคุด ทุเรียน จากไทยประมาณ 150 ล้านบาทต่อปี

การขนส่งสินค้าไปทางบกโดยใช้เส้นทาง R3E ผ่านคุนหมิง ใช้เวลา 2-3 วัน ค่าใช้จ่ายในการขนส่งประมาณ 243,040 บาท และจากคุนหมิงขนส่งทางบกต่อไปฉงชิ่งใช้เวลา 10-12 ชั่วโมง มีต้นทุนการขนส่งที่ 28,000-30,000 บาท

สำหรับการขนส่งทางทะเลเข้าสู่ท่าเรือกวางโจว ใช้เวลา 4-5 วัน ต้นทุนการขนส่ง 18,600-93,000 บาท และจากท่าเรือกวางโจวขนส่งทางบกถึงฉงชิ่งใช้เวลา 22 ชั่วโมง มีต้นทุนการขนส่งราว 64,000-70,000 บาท

สำหรับการขนส่งทางอากาศคิดตามน้ำหนัก สินค้า 45 กิโลกรัม ค่าขนส่ง 48 บาทต่อกิโลกรัม สินค้า 100 กิโลกรัม ค่าขนส่ง 45 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งคณะวิจัยแนะให้ผู้ประกอบการใช้การขนส่งทางเรือจะถูกกว่าขนส่งทางบกซึ่งจะต้องผ่านด่านหลายด่านและมีจำนวนด่านที่ไม่แน่นอน

ซีอาน (Xian) เป็นเมืองเอกในมณฑลส่านซีและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีหน้าที่นำตะวันออกมาพัฒนาตะวันตก ทั้งยังเป็นเขตเชื่อมต่อภูมิภาคเหนือ-ใต้ และเป็นประตูการค้าขายกับยุโรป ในปี 2553 อัตราการเจริญเติบโตของ GDP อยู่ที่ 9.5%  

การขนส่งสินค้าไปทางบกผ่านโดยใช้เส้นทาง R3E ผ่านคุนหมิง ใช้เวลา 2-3 วัน มีต้นทุนการขนส่งราว 243,040 บาท และจากคุนหมิงถึงซีอานใช้เวลา 19-20 ชั่วโมง มีต้นทุนการขนส่งประมาณ 51,057-55,300 บาท

สำหรับการขนส่งทางทะเลจากไทยมุ่งสู่ท่าเรือที่เซี่ยงไฮ้ ใช้เวลา 7 วัน มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งประมาณ 13,950 -62,000 บาท และจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ขนส่งทางบกถึงซีอานใช้เวลา 18-19 ชั่วโมง มีค่าใช้จ่ายการขนส่งประมาณ 44,557-50,000 บาท

สำหรับการขนส่งทางอากาศไปที่กวางโจว โดยคิดตามน้ำหนัก สินค้า 45 กิโลกรัม ค่าขนส่ง 58 บาทต่อกิโลกรัม สินค้า 100 กิโลกรัม ค่าขนส่ง 50 บาทต่อกิโลกรัม จากกวางโจวเปลี่ยนไปใช้ขนส่งทางบกไปซีอานใช้เวลา 22 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายการขนส่งราว 60,000 บาท

ขนส่งทางทะเลสู่เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง
เซี่ยงไฮ้ (Shanghai) เมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งของจีน มีเส้นทางเครือข่ายคมนาคมที่สะดวก ในปี 2553 อัตราการเจริญเติบโตของ GDP อยู่ที่ 9.9% สินค้าส่งออกจากไทยไปจีนที่สำคัญเช่น เครื่องจักรที่ใช้ในสำนักงาน เครื่องจักรกลไฟฟ้า อุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องอัดเสียง พลาสติกที่ยังไม่แปรรูป ยางดิบและยางสังเคราะห์ ฯลฯ

โหมดการขนส่งที่สำคัญคือการขนส่งทางทะเล ผ่านทางท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ท่าเรือหนิงโป และท่าเรือไวเกาเฉียว สำหรับท่าเรือเซี่ยงไฮ้มีค่าระวางตู้ 40 ประมาณ 13,950-62,000 บาท ท่าเรือหนิงโปค่าระวางตู้ 40 ประมาณ 13,950-55,800 บาท ท่าเรือไวเกาเฉียวค่าระวางตู้ 40 ประมาณ 13,950-49,600 บาท

ขนส่งทางทะเล เส้นทางไปเซี่ยงไฮ้

97_th_4_003

ปักกิ่ง (Beijing) เป็นเมืองหลวงของประเทศจีน จึงเป็นเมืองที่เป็นศูนย์รวมต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ในปี 2553 อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยของ GDP อยู่ที่ 10.2% ปักกิ่งนำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่าประมาณ 432 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1.68% ของมูลค่าสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทยทั้งหมด

การขนส่งสินค้าจากไทยไปปักกิ่งใช้ทางทะเลผ่านท่าเรือที่กวางโจว ใช้เวลาการขนส่ง 4-5 วัน ต้นทุนการขนส่งประมาณ 18,600-93,000 บาท จากนั้นเปลี่ยนโหมดการขนส่งทางบกไปปักกิ่งใช้เวลา 1 วัน 4 ชั่วโมง ค่าขนส่งประมาณ 65,000-72,000 บาท หากขนส่งสินค้าทางไทยไปท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ใช้เวลาการขนส่ง 7 วัน ต้นทุนการขนส่งประมาณ 13,950-62,000 บาท จากนั้นเปลี่ยนโหมดการขนส่งทางบกไปปักกิ่งใช้เวลา 20 ชั่วโมง ค่าขนส่งประมาณ 40,820-42,000 บาท

ข้อมูลจากสัมมนาเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์สู่แดนมังกร โดยสำนักโลจิสติกส์การค้า กระทรวงพาณิชย์และศูนย์วิจัยโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ทำการวิจัยคือ  ผศ.ดร. วันชัย รัตนวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโลจิสติกส์ ดร.นันทิ สุทธิการนฤนัย รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโลจิสติกส์ ดร. วัชรวี จันทรประกายกุล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผศ.วรินทร์ วงษมณี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น